xs
xsm
sm
md
lg

มุมมอง ‘แกร็บ’ ใช้ AI-IoT ตอบโจทย์ผู้ใช้ ช่วยคนขับสร้างรายได้ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แกร็บ (Grab) ออกมาอัปเดตเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมประสบการณ์ใช้งานให้แก่ผู้บริโภคชาวไทย ดึงอินไซด์ความต้องการของผู้ใช้มาพัฒนาเป็นบริการที่เรียกความมั่นใจ เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน เพื่อสร้างความพึงพอใจ ตอกย้ำความเป็นผู้นำบริการเรียกรถและสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันในตลาดประเทศไทย


เบื้องหลังเทคโนโลยีที่แกร็บนำมาใช้จะมีอยู่ 3 ส่วนหลักด้วยกันคือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อุปกรณ์ IoT และโซลูชันนวัตกรรมบนแอปพลิเคชัน ที่จะนำข้อมูลจากหลายส่วนมาวิเคราะห์ และนำเสนอประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดให้แก่ 5 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นไรเดอร์ ร้านอาหาร ผู้ใช้ สังคม และพนักงาน

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่แกร็บทำคือนำโลกในความเป็นจริงกับเทคโนโลยีมาเจอกัน เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในอีโคซิสเต็มได้ประโยชน์มากที่สุด เพื่อตอบโจทย์ใน 4 ประเด็นหลัก คือ การเสริมประสิทธิภาพการทำงาน (Efficiency) การเพิ่มศักยภาพและผลิตผล (Productivity) การยกระดับประสบการณ์การใช้งาน (Experience) และการสร้างผลกระทบเชิงบวก (Impact)

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันแกร็บให้บริการในกว่า 700 เมืองทั่วโลก มีจำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำในทุกเดือนกว่า 41 ล้านราย ในช่วงปลายไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และสร้างรายได้ให้ทั้งไรเดอร์ และร้านค้าไปแล้วกว่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญ หรือกว่า 3.6 แสนล้านบาท ตลอดระยะเวลาที่ให้บริการมา


ความน่าสนใจคือนอกเหนือจากการพัฒนาบริการหลักไม่ว่าจะเป็นการเรียกรถ บริการส่งอาหาร ซื้อของ ส่งของ แกร็บยังมีการลงทุนพัฒนาแผนที่มาใช้งานภายในอีโคซิสเต็ม ด้วยการนำข้อมูลจากไรเดอร์มาสร้างแผนที่ในเมืองที่ให้บริการ ที่ต่อยอดมาถึงการรายงานอุบัติเหตุจากไรเดอร์แบบเรียลไทม์ ไปจนถึงการทำงานร่วมกับเจ้าของอาคาร และห้างสรรพสินค้าเพื่อทำแผนที่ในอาคาร ช่วยลดระยะเวลาในการเดินหาร้านอาหารของผู้ขับ

ในขณะที่ฝั่งของผู้ใช้งาน ได้เพิ่มบริการใหม่เข้ามาอย่างคำสั่งซื้อกลุ่ม ที่เพิ่มขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ ซึ่งหลังจากเริ่มให้บริการ Group Order กลายเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มของครอบครัว นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ ที่พบว่า 93% ของผู้ใช้งาน Grab Food เคยใช้งานฟีเจอร์นี้ และ 85% สั่งตอนมื้อกลางวัน และมื้อเย็น

“เวลาที่สั่งออเดอร์ร่วมกัน ทุกคนสามารถร่วมสั่งบนแอป โดยต่างคนสามารถที่จะติดตามได้ว่าอาหารมาถึงไหนแล้ว เลือกระยะเวลาปิดออเดอร์ได้ และทุกคนที่เข้าร่วมสามารถใช้โปรโมชันส่วนลด เลือกช่องทางชำระเงินได้ ทำให้ที่ผ่านมามีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น และช่วยเพิ่มค่าเฉลี่ยในการสั่งอาหารถึง 3 เท่า”

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลอินไซด์ว่า จากการสั่งกรุ๊ปออเดอร์ที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาร่วมสั่งได้พร้อมกัน มีสถิติสูงสุดในการสั่งอาหารอยู่ที่ 8,600 บาทต่อ 1 ออเดอร์ และด้วยเทคโนโลยีเบื้องหลังที่เข้าใจผู้ขับ ทำให้ระบบมีการคำนวณเพิ่มเติมในกรณีที่สั่งอาหารปริมาณมากจะต้องใช้ไรเดอร์เพิ่มตามจำนวนอาหารที่สั่งด้วย

นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์อย่างบัญชีครอบครัว (Family Account) ช่วยให้เวลาที่สั่งอาหาร หรือเรียกรถให้คนในครอบครัว ช่วยให้ผู้ขับได้ตำแหน่งผู้ใช้งานได้แม่นยำมากขึ้น จนถึงสามารถเลือกได้ว่าจะสื่อสารกับผู้เรียก หรือผู้โดยสาร และชำระค่าบริการให้สมาชิกในครอบครัวได้

***นำร่อง ‘ฟูดล็อกเกอร์’ จุดรับอาหารในอาคารสำนักงาน


ในมุมของการลดระยะเวลารอสำหรับไรเดอร์ นอกจากการเปิดให้ร้านอาหารทำออเดอร์ล่วงหน้าก่อนที่ผู้ขับจะเข้ามารับอาหารแล้ว ในช่วงเวลาส่งสินค้าเพื่อให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น แกร็บ ได้พัฒนาบริการอย่าง ฟู้ดล็อกเกอร์ (Food Lockers) หรือตู้วางอาหาร ที่เริ่มติดตั้งทดลองใช้งานเบื้องต้น ใน 4 จุด ได้แก่อาคารเดอะ ปาร์ค เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ เดอะ ไนน์ ทาวเวอร์ และออฟฟิศ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

บริการอย่าง Food Lockers มาช่วยแก้ปัญหาให้พนักงานออฟฟิศ ที่เมื่อสั่งอาหารผ่านแอปแล้วติดประชุม หรือไม่สามารถลงมารับอาหารได้ทันที ไรเดอร์จะสามารถฝากอาหารไว้ที่ตู้ เพื่อรอให้ผู้สั่งลงมารับอาหาร โดยไม่ต้องเสียเวลารออยู่ที่ใต้ตึก และมีแผนที่จะขยายจุดให้บริการเพิ่มเติมในอนาคตด้วย

*** ใช้ Gen AI สร้างรูปให้ร้านอาหาร


อีกเครื่องมือของ AI ที่เริ่มนำมาใช้คือการใช้ Generative AI มาช่วยในการสร้างภาพประกอบเมนูอาหารต่างๆ เพราะจากข้อมูลที่แกร็บมี พบว่า 2 ใน 10 ร้านอาหารที่มีในประเทศไทย ไม่มีรูปภาพประกอบ การนำ AI เข้ามาช่วยสร้างรูปจากข้อมูลเมนูอาหาร จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ร้านอาหารทั่วประเทศ

“แน่นอนว่า ในการนำ Gen AI มาใช้ ต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งเมื่อมีการนำมาใช้ก็ต้องแน่ใจว่ารูปที่ได้ตรงปกมากที่สุด และมีการใส่ลายน้ำบนรูปเพื่อให้ผู้ใช้งานทราบว่า รูปอาหารนี้ถูกสร้างขึ้นจาก AI”

ต่อเนื่องมาถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลร้านอาหาร เพื่อปล่อยสินเชื่อดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันสามารถให้สินเชื่อแก่ไรเดอร์ เพื่อนำไปใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 5,000-100,000 บาท และสินเชื่อสำหรับร้านอาหารในวงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสาร หรือรายละเอียดในการค้ำประกัน

สุดท้ายในส่วนของเทคโนโลยีที่เข้ามาแก้ปัญหา และพัฒนาสังคม โดยเฉพาะในประเด็นด้านความปลอดภัย อย่างการนำการยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า ระบบตรวจสอบการเดินทางแบบเรียลไทม์ และการบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง จะมาช่วยป้องกันเหตุร้าย และใช้เป็นหลักฐานเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น