เกิดเป็นความสงสัยวงกว้างเมื่อมีการเปิดเผยเรื่อง การใช้เพจเจอร์ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และการโจมตีอุปกรณ์รับส่งข้อความจิ๋วนี้ในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้โลกรู้ว่ายังมีกลุ่มคนที่เลือกใช้เพจเจอร์มากกว่าโทรศัพท์มือถือ และทุกวันนี้ยังมีเพจเจอร์ให้บริการอยู่
ต้นเรื่องของประเด็นนี้คือกลยุทธ์การสื่อสารของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ รายงานจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นชี้ว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ให้ความสำคัญกับการรักษาความลับในกลยุทธ์ทางการทหาร กลุ่มจึงหลีกเลี่ยงอุปกรณ์ไฮเทคเพื่อป้องกันการแทรกซึมโดยหน่วยข่าวกรองของอิสราเอล และสหรัฐฯ
ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ (Hassan Nasrallah) ผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ออกมาแนะนำตั้งแต่ต้นปี 2024 ให้สมาชิกหยุดใช้โทรศัพท์มือถือเนื่องจากกังวลเรื่องการถูกติดตามและสอดแนม กลุ่มจึงเปลี่ยนมาใช้เพจเจอร์แทนเพราะเป็นเทคโนโลยีล้าสมัยที่ติดตามสอดแนมได้ยาก และเชื่อว่ามีความปลอดภัยมากกว่า
แต่เหตุการณ์เพจเจอร์ระเบิดก็เกิดขึ้น โดยมีการส่งตัวผู้บาดเจ็บจากการโจมตีที่เพจเจอร์ซึ่งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้งาน รายงานระบุว่าเครื่องเกิดระเบิดขึ้นทั่วเลบานอน ส่งผลให้นักรบ รวมถึงแพทย์ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
สำหรับวิธีการโจมตี ตามรายงานจากสื่อต่างประเทศ อิสราเอลถูกกล่าวหาว่าซ่อนวัตถุระเบิดไว้ในเพจเจอร์ที่สั่งซื้อจากผู้ผลิตในไต้หวันชื่อ "โกลด์ อพอลโล" (Gold Apollo) มีการระบุว่าเพจเจอร์เหล่านี้ถูกติดตั้งสวิตช์เพื่อสั่งการจุดระเบิดจากระยะไกล
เมื่อเจาะลงไปในสายการผลิตเพจเจอร์นี้ พบว่าเพจเจอร์ของ Gold Apollo จัดจำหน่ายโดยบริษัท BAC Consulting ซึ่งมีฐานอยู่ในฮังการี และรุ่นที่เกี่ยวข้องคือ Gold Apollo AR924 โดย Gold Apollo อ้างว่าบริษัทได้ให้สิทธิการจัดจำหน่ายพิเศษสำหรับรุ่นนี้เท่านั้น และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิต
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการโจมตีที่เพจเจอร์ในครั้งนี้ เป็นสุดยอดปฏิบัติการที่มีการประสานงานกันอย่างซับซ้อนและเหนือชั้น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานข่าวกรอง และส่วนการผลิตที่ถูกแทรกแซงง่ายดาย
อิมแพกต์จากปรากฏการณ์นี้คือ การโจมตีที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงช่องโหว่ด้านความปลอดภัย แม้ในวิธีการสื่อสารที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัยมากอย่างเพจเจอร์ ในอีกด้าน การโจมตีครั้งนี้ยังเน้นย้ำถึงภัยของสงครามในโลกสมัยใหม่ และความสำคัญของการสื่อสารที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในปฏิบัติการทางทหารของทุกประเทศ