xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ยลงใต้! จับมือ ม.อ. เปิดศูนย์พัฒนาคน ICT แห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หัวเว่ย (Huawei) จับมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมและพัฒนาบุคลากรด้านไอซีที แห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก มั่นใจส่งประโยชน์วงกว้างถึงชุมชนเพราะศูนย์พร้อมให้บริการฝึกอบรมทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูงแก่สถาบันการศึกษาในภาคใต้และประเทศเพื่อนบ้าน เสริมแกร่งจากปัจจุบันที่หัวเว่ยเคลมว่าได้ฝึกอบรมบุคลากรด้านดิจิทัลในอาเซียนรวมกว่า 96,200 คน

นายวิลเลี่ยม จาง ประธานธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าความร่วมมือระหว่าง ม.อ. และหัวเว่ย เป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับมหาวิทยาลัย การนำโครงสร้างพื้นฐาน ICT ขั้นสูงและทรัพยากรต่างๆ มาใช้ในระบบการศึกษาของ ม.อ. จะทำให้ศูนย์นี้เป็นตัวอย่างในการแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรม ยกระดับการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงสถาบันการศึกษาได้อย่างไร

"สำหรับอาจารย์และนักศึกษานี่เป็นโอกาสในการเพิ่มทักษะและความสามารถทางดิจิทัล โดยการผสมผสานเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเข้ากับหลักสูตร นักศึกษาจะสามารถเข้าถึงประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความคล่องตัว และเหมาะสมกับความท้าทายในอนาคต"

นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้เกียรติร่วมแสดงวามยินดีในพิธีเปิด พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ฯ
ศูนย์พัฒนาที่หัวเว่ยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดตัวในครั้งนี้เป็นศูนย์นวัตกรรมและพัฒนาบุคลากรด้านไอซีที ที่วิทยาเขตตรัง ศูนย์นี้นับเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดว่าจะส่งประโยชน์ในวงกว้าง ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนอีกด้วย โดยการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภาคการศึกษาและภาคส่วนอื่น โดยศูนย์แห่งนี้จะมอบหลักสูตรการเรียนรู้ด้าน ICT และแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมให้อาจารย์และนักศึกษาของ ม.อ. ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น Cloud, IoT และ Big Data ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์จากโซลูชันจริง

โซลูชันประกอบด้วยห้องเรียนเทคโนโลยีเฉพาะทาง 6 ห้อง รวมถึงห้องเรียนด้าน Datacom ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความปลอดภัยเครือข่าย Cloud & AI Server และระบบจัดการเครือข่ายรวมศูนย์ โดยศูนย์นวัตกรรมนี้ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์จริง และมีหลักสูตรที่ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม เช่น HCSA-Presales-Service ซึ่งครอบคลุมความรู้พื้นฐานและนโยบายการขายเกี่ยวกับโซลูชันเครือข่าย การสนับสนุนการดำเนินงาน และการให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมและการบูรณาการแอปพลิเคชัน ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้สอนหลักสูตร และนักศึกษาจะได้สัมผัสประสบการณ์ใช้งานอุปกรณ์จริงภายในศูนย์ ซึ่งจะส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ พัฒนาความรู้ทางเทคโนโลยี และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลในอนาคต






ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ มุ่งผลลัพธ์ที่จะสร้างกำลังคนในระดับแนวหน้าของโลกด้านไอซีที และเป็นหลักสูตรที่ล้ำสมัยที่สุดที่จะร่วมยกระดับสมรรถนะตลาดแรงงานด้านไอซีทีในเอเชียแปซิฟิก ผ่านหลักสูตรและการรับรองจากศูนย์แห่งนี้

“เป้าหมายการสร้างกำลังคนในระดับแนวหน้าของโลกด้านไอซีที คือ การสนับสนุนให้นักศึกษาเป็นบุคลากรที่มีทักษะสอดคล้องกับตลาดแรงงาน ผ่านการอบรมหลักสูตร ผ่านการฝึกฝนและใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย เพื่อสร้างโอกาสในอาชีพการงาน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีแผนที่จะเปิดศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ให้นักศึกษาของสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั้งในภาคใต้และทั่วอาเซียน เพื่อให้นักศึกษาได้ประโยชน์และได้รับความรู้ที่ล้ำสมัยจากศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ หัวเว่ย และ ม.อ. ยังได้เปิดความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ในการสร้างระบบนิเวศที่เปิดกว้าง โดยมหาวิทยาลัยมีแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเตรียมนักศึกษาทั้งในสาขาเทคโนโลยีและสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน การใช้เทคโนโลยีในกระบวนการเรียนการสอน รวมถึงการจัดอบรมและพัฒนาทักษะ เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ ความร่วมมือระหว่าง ม.อ.กับภาคเอกชนและอุตสาหกรรมในการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกงาน เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์สูงสุดและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอนาคต


ในอีกด้าน ความร่วมมือนี้ถือเป็นการต่อยอดแพลตฟอร์มพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของหัวเว่ยในอาเซียน (Huawei ASEAN Academy Thailand) ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยกว่า 40 แห่ง เพื่อพัฒนาศูนย์กลางบุคลากรด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง จนถึงปัจจุบัน หัวเว่ยได้ฝึกอบรมบุคลากรด้านดิจิทัลรวมทั้งสิ้น 96,200 คน ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT จำนวน 72,000 คน นักพัฒนา Cloud และ AI ขั้นสูง 8,000 คน วิศวกรด้านพลังงานสีเขียว 2,000 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ 5,000 คน SME และสตาร์ทอัป 3,500 คน พร้อมทั้งยังช่วยฝึกอบรมฟรีให้นักศึกษาและประชาชนในชนบท 6,000 คน



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) นายวิลเลี่ยม จาง ประธานธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงจากหัวเว่ย ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์นวัตกรรมและพัฒนาบุคลากรด้านไอซีทีแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง
ทั้งหมดนี้ เชื่อว่าจะเสริมโอกาสในการทำตลาดของหัวเว่ยด้านธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอัจฉริยะสำหรับการศึกษา ซึ่งรวมถึง Virtual Reality ในห้องเรียน 5G, ศูนย์วิจัยอัจฉริยะ, เครือข่ายวิทยาเขตเจเนอเรชันใหม่ และเทคโนโลยี Wi-Fi 7 ที่มีแนวโน้มขยายตัวทั่วภูมิภาค


กำลังโหลดความคิดเห็น