xs
xsm
sm
md
lg

กระจกตรวจโรคอัจฉริยะ AI มาไทย "คลินิกแพทย์จีนหัวเฉียว" พาหุ่นยนต์หมอแมะ "เสี่ยวคัง" โชว์ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว โชว์เคสพา "หุ่นยนต์เสี่ยวคัง AI" ลุยตรวจสุขภาพคนไทยด้วยศาสตร์แมะชีพจร พร้อม “กระจกตรวจโรคอัจฉริยะ AI” ช่วยประเมินผลสุขภาพภายใน 6 วินาที การันตีปลอดภัยเพราะระบบใช้ข้อมูลจากประเทศจีนทั้งหมดไม่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ในไทย รับยังไม่ใช้งานในวงกว้างเพราะระบบยังพูดภาษาจีน เชื่อ 2 นวัตกรรมช่วยเปลี่ยนภาพการแพทย์แผนจีนเป็นศาสตร์ทันสมัยที่พัฒนาไม่หยุดนิ่ง

นายอรัญ เอี่ยมสุรีย์ ผู้อำนวยการคลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว กล่าวว่า แม้ประเทศจีนจะมีเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่านี้ แต่คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวไม่สามารถนำเข้ามาให้บริการได้ เนื่องจากยังติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย และไม่สามารถนำมาให้บริการร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันได้เหมือนในประเทศจีน ดังนั้นการนำเทคโนโลยี AI ในทางแพทย์แผนจีนเข้ามาใช้ในประเทศไทยครั้งนี้ จึงมุ่งเป็นการคัดกรองเบื้องต้น และไม่มีผลต่อการรักษาในระยะยาว

"กระจกตรวจโรคอัจฉริยะ AI และหุ่นยนต์เสี่ยวคัง AI ถือเป็นครั้งแรกของในเมืองไทยที่ได้มีการนำเทคโนโลยี AI มาผสมผสานกับศาสตร์การแพทย์แผนจีนแบบดั้งเดิมมาใช้ในการรักษาและวินิจฉัยโรค โดย 2 นวัตกรรมนี้จะเข้ามามีส่วนช่วยในการตรวจสุขภาพเบื้องต้นได้ง่ายและรวดเร็ว ทั้งยังมีส่วนช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าของการแพทย์แผนจีนและความพร้อมในการรองรับเทคโนโลยีในอนาคต"

 นายอรัญ เอี่ยมสุรีย์ ผู้อำนวยการคลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว (กลาง) กับกระจกตรวจโรคอัจฉริยะ AI และหุ่นยนต์เสี่ยวคัง AI
แพทย์จีน สมชาย จิรพินิจวงศ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว กล่าวว่า กระจกตรวจโรคอัจฉริยะ AI นี้ไม่ได้เชื่อมต่อหรือตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทย โดยเครื่องถูกปลดล็อกจากที่กำหนดให้ต้องกรอกหมายเลขบัตรประชาชนจีน แต่สามารถข้ามขั้นตอนยืนยันตัวเข้าสู่การวิเคราะห์ และสั่งพิมพ์รายละเอียดร่างกายผลการตรวจเป็นรายบุคคลโดยไม่มีการเก็บข้อมูลเพิ่ม โดยการสั่งพิมพ์ทำได้ทางโทรศัพท์มือถือ สนนราคากระจกราว 3-4 แสนบาท


ข้อมูลระบุว่ากระจกตรวจโรคอัจฉริยะ AI มีความสามารถในการวิเคราะห์สุขภาพแบบองค์รวม โดยการถ่ายภาพใบหน้าและลิ้น และประเมินผลสุขภาพด้วยระบบ AI อัจฉริยะแบบเรียลไทม์ ให้ผลลัพธ์ภายใน 6 วินาที ผู้ใช้งานจะได้รับคะแนนสุขภาพโดยรวม และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะต่างๆ เช่น ภาวะชี่พร่อง หยางพร่อง ร้อนชื้น เลือดคั่ง หรือชี่ติดขัด ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำความเข้าใจสุขภาพของตนเองตามหลักการแพทย์แผนจีน และยังมีฟังก์ชันวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเกิดโรคอีกด้วย

กระจกตรวจโรคอัจฉริยะ AI สามารถให้คำแนะนำเฉพาะบุคคล

การถ่ายภาพใบหน้าและลิ้น และประเมินผลสุขภาพด้วยระบบ AI อัจฉริยะแบบเรียลไทม์ ให้ผลลัพธ์ภายใน 6 วินาที
นอกจากนี้ กระจกตรวจโรคอัจฉริยะ AI ยังสามารถให้คำแนะนำเฉพาะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพตามฤดูกาล การเลือกใช้สมุนไพรจีนในการประกอบอาหาร การกดจุดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือแม้แต่ชาสมุนไพรที่เหมาะกับแต่ละบุคคล รวมถึงแนะนำการบริหารร่างกายที่เหมาะสม พร้อมระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้กำลังออกกำลังกายอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

สำหรับหุ่นยนต์จับชีพจร “เสี่ยวคัง AI” นั้นเป็นระบบประมวลผลข้อมูลสัญญาณการเต้นของชีพจร ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ไม่มีการรวบรวมแบบเชิงประจักษ์หรือเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมา คำบอกเล่าว่า “ชีพจรลอย ชีพจรเลื่อน หรือชีพจรเร็ว” นั้นอาจทำให้ผู้ป่วยไม่เข้าใจ แต่เทคโนโลยีสามารถสร้างข้อมูลเป็นกราฟออกมาให้เห็น เช่นเดียวกันกับภาวะหยินหยางที่ไม่สมดุลในร่างกาย ซึ่งเทคโนโลยีสามารถช่วยแปลข้อมูล ทำให้ง่ายต่อการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ได้มากขึ้น
ทั้ง 2 ระบบที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นการใช้ข้อมูลสุขภาพที่เก็บจากประชาชนในประเทศจีน ทั้งหมดประมวลจากกลุ่มตัวอย่างหลายแสนคนต่อปีและวิเคราะห์ภาพลิ้นรวมถึงชีพจรเพื่อแปลผลโอกาสที่เป็นไปได้ มีความแม่นยำสูง 70%

"สำหรับเสี่ยวคังนั้นเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานประจำบ้าน หลังจากที่คนไข้มาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลแล้วเมื่อกลับไปที่บ้าน จะสามารถคุยกับเสี่ยวคังเหมือนเป็นระบบพบแพทย์ทางไกล ที่ระบบนั้นมีกล้องสำหรับวิเคราะห์ภาพใบหน้า และลิ้น โดยมีอุปกรณ์สวมใส่ข้อมือเพื่อรับข้อมูลชีพจร ทำให้สามารถดูแลสุขภาพได้โดยไม่ต้องเดินทาง และปัจจุบัน ประเทศจีนมีการใช้ระบบ 5G ในการผ่าตัดแล้ว"

เสี่ยวคังสามารถทำงานร่วมกับเครื่องแมะชีพจรอัจฉริยะ ที่สามารถวัดชีพจรได้อย่างละเอียดและแม่นยำ
หุ่นยนต์เสี่ยวคัง AI นี้พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้รับการยอมรับใช้ในโรงพยาบาลชั้นนำ เช่น โรงพยาบาลหลงหัว นครเซี่ยงไฮ้ เป็นนวัตกรรมหุ่นยนต์ตรวจสุขภาพที่ผสานศาสตร์การแพทย์แผนจีนเข้ากับเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัย เพื่อประเมินสุขภาพพื้นฐานของร่างกายแบบองค์รวม เพื่อเข้าใจสุขภาพโดยรวมและนำไปสู่การวางแผนดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

4 ขั้นตอนการทำงานของเสี่ยวคัง AI ได้แก่ 1.การสแกนลิ้น โดยจะวิเคราะห์ลักษณะและสีของลิ้นอย่างละเอียด เพื่อบ่งชี้สภาวะของอวัยวะภายใน 2.การสแกนใบหน้าด้วยเทคโนโลยี AI โดยจะตรวจจับความผิดปกติบนใบหน้า ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและป้องกันปัญหาสุขภาพได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น 3.การตรวจชีพจร(แมะ) โดยเสี่ยวคังสามารถทำงานร่วมกับเครื่องแมะชีพจรอัจฉริยะ ที่สามารถวัดชีพจรได้อย่างละเอียดและแม่นยำ ช่วยให้แพทย์ประเมินสภาวะของอวัยวะภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.การตอบคำถามเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะคำถามที่ออกแบบมาเพื่อให้การวิเคราะห์สุขภาพมีความแม่นยำและตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น

นวัตกรรมทั้ง 2 จะเปิดตัวให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จัก และทดลองใช้ในงาน “ก้าวล้ำ คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว พัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่ง” ครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ สามย่านมิตรทาวน์

หุ่นยนต์จับชีพจร “เสี่ยวคัง AI”
เมื่อถามถึงแผนการให้บริการนวัตกรรม AI บนระบบแพทย์ทางไกลในระยะยาว พบว่าคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวมีให้บริการพบแพทย์ทางไกลอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่การนำ 2 นวัตกรรมมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นการสะท้อนว่าการแพทย์แผนจีนไม่ใช่ศาสตร์โบราณ แต่มีความทันสมัย และเปลี่ยนแปลงจากในอดีตที่แพทย์รุ่นบุกเบิกมักเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยของแพทย์แผนจีนมีอายุราว 30 ต้นเท่านั้น และมีความพร้อมในการสืบทอดองค์ความรู้แพทย์แผนจีนได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม แม้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับระบบแพทย์แผนจีนในอนาคตอาจจะเกิดขึ้นได้กับระบบแพทย์ทางไกล แต่ด้วยข้อจำกัดทางภาษาของระบบทำให้ไม่สามารถนำมาให้บริการในวงกว้าง ซึ่งแม้ระบบจะยังแสดงผลผิดพลาดเมื่อตั้งค่าเป็นภาษาอังกฤษ แต่ทั้งหมดนี้อาจเป็นฐานให้คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สามารถริเริ่มนำข้อมูลที่เก็บในระบบมาพัฒนาเป็นระบบของตัวเองได้

การตอบคำถามเฉพาะบุคคลของหุ่นยนต์จับชีพจร “เสี่ยวคัง AI”
แพทย์จีน สมชาย ชี้ว่าความท้าทายของการใช้ระบบวิเคราะห์ภาพไฮเทคในทางการแพทย์แผนจีนนั้นน้อยกว่าการพบแพทย์ในยุคโบราณ เนื่องจากแพทย์จะแนะนำไม่ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีสีติดลิ้น แต่เทคโนโลยีทำให้อุปสรรคด้านนี้ลดลง เนื่องจากระบบ AI สามารถพยากรณ์และประมวลผลได้อย่างแม่นยำ ในลักษณะเดียวกับที่ระบบสามารถวิเคราะห์ตัวตนของบุคคลที่สวมใส่หน้ากากอนามัยได้ โดยระบบ AI วิเคราะห์ได้ว่าบุคคลนั้นคือใคร

ทั้งนี้ คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร พันธกิจคือการรักษาให้องค์กรอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานอื่น ปัจจุบัน คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งมีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลหัวเฉียวที่รักษาการแพทย์แผนตะวันตกเป็นหน่วยงานในเครือ อัตราเติบโตของผู้เข้ารับบริการราว 10% จากปัจจุบันที่มีราว 3 แสนคนต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น