กูเกิล (Google) เปิดรายละเอียดโครงการ "ไฟร์แซต" (FireSat) ควงพันธมิตรปล่อยดาวเทียมฉายภาพระยะใกล้เพื่ออัปเดตและเตือนภัยไฟป่าทั่วโลก คาดช่วยให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต่อสู้กับไฟป่าได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น
รายละเอียดทางเทคนิคของโปรเจกต์นี้คือดาวเทียม 52 ดวงที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ที่พัฒนาขึ้นเองจะถูกนำไปใช้งานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยจะสามารถตรวจจับไฟ หรือจุดความร้อนขนาดเล็กถึง 5x5 เมตร (16x16 ฟุต) ได้ทุกที่บนโลก และเมื่อทำงานเต็มรูปแบบแล้วระบบจะอัปเดตภาพทุก 20 นาที
พันธมิตรในโครงการนี้คือองค์กรไม่แสวงหากำไรและหน่วยงานวิจัยของ Google ยังมีมูลนิธิ Moore และกองทุนป้องกันสิ่งแวดล้อม รวมถึง Muon Space ซึ่งเป็นบริษัทดาวเทียม และสมาคมป้องกันไฟป่าระดับโลก หรือ Earth Fire Alliance เบื้องต้นคาดว่าหากรวมดาวเทียมทั้งหมด 52 ดวงที่ประกอบด้วยดวงแรกซึ่งมีกำหนดการปล่อยในช่วงต้นปีหน้า และอีกหลายดวงที่จะทยอยปล่อยตามมาภายในทศวรรษนี้ ค่าใช้จ่ายโดยประมาณทั้งหมดจะพุ่งเกิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ
***จับไฟป่าขนาดเล็กได้เร็วขึ้น
คริสโตเฟอร์ แวน อาร์สเดล หัวหน้าฝ่ายวิจัยสภาพอากาศและพลังงานของ Google อธิบายว่าปัจจุบันไฟป่ามีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าแต่ก่อน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งทั่วโลก อย่างไรก็ตาม นักดับเพลิงยังต้องอาศัยภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดต่ำ หรืออัปเดตเพียงไม่กี่ครั้งต่อวัน ทำให้การตรวจจับไฟป่าทำได้ยาก ซึ่งกว่าจะตรวจพบไฟก็ลุกลามเป็นวงกว้างแล้ว
ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยของ Google จึงได้ร่วมมือกับองค์กรชั้นนำด้านการป้องกันไฟป่าเพื่อสร้าง FireSat ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเทียมที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อตรวจจับและติดตามไฟป่าขนาดเล็กเท่ากับห้องเรียน (ประมาณ 5x5 เมตร) โดย FireSat จะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ เข้าถึงภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสูงจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมีการอัปเดตทุกๆ 20 นาที ทำให้สามารถรับมือกับไฟป่าก่อนจะลุกลาม
"Google.org มอบทุนสนับสนุนจำนวน 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้ Earth Fire Alliance ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเปิดตัวกลุ่มดาวเทียม FireSat โดยได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจาก Moore Foundation" แถลงการณ์จาก Google ระบุ
สำหรับ FireSat นั้นได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อตรวจจับและติดตามไฟป่าที่มีขนาดเล็กเท่ากับห้องเรียน โดยกลุ่มดาวเทียมที่สามารถตรวจจับไฟป่าขนาดเล็กด้วยความถี่ที่ดียิ่งขึ้นนี้ถูกยกเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการตรวจจับไฟป่า และทีมวิจัยของ Google ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเซ็นเซอร์อินฟราเรดแบบกำหนดเองสำหรับดาวเทียม โดยร่วมมือกับ Muon Space และ Environmental Defense Fund เพื่อให้สามารถตรวจจับไฟป่าขนาดเล็กได้ดีขึ้น การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ ทำให้ FireSat สามารถเปรียบเทียบภาพถ่ายล่าสุดของพื้นที่ขนาด 5x5 เมตรกับภาพถ่ายก่อนหน้าได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังสามารถพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานในบริเวณใกล้เคียงและสภาพอากาศในพื้นที่ เพื่อระบุว่ามีไฟไหม้หรือไม่
"เพื่อตรวจสอบโมเดลการตรวจจับไฟป่าขนาดเล็กของเราและสร้างชุดข้อมูลพื้นฐานสำหรับ AI เราได้นำเซ็นเซอร์ขึ้นบินเหนือพื้นที่การเผาไหม้ที่มีการควบคุมไว้ และในขั้นตอนต่อไป Muon Space ได้วางแผนที่จะส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่อวกาศในช่วงต้นปี 2025 โดยจะมีกลุ่มดาวเทียมทั้งหมดตามมาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า"
เมื่อถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศแล้ว FireSat จะส่งข้อมูลระดับ near real-time ซึ่งใกล้เคียงกับเวลาปัจจุบัน เกี่ยวกับตำแหน่ง ขนาด และความรุนแรงของไฟป่าในระยะเริ่มต้น เพื่อให้นักดับเพลิงและเจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการสนับสนุนความพยายามในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินแล้ว
ในอีกด้าน ข้อมูลของ FireSat ยังจะถูกใช้เพื่อสร้างบันทึกประวัติศาสตร์โลกเกี่ยวกับการลุกลามของไฟป่า เพื่อช่วยให้ Google และนักวิทยาศาสตร์สร้างแบบจำลองและทำความเข้าใจพฤติกรรมและการลุกลามของไฟป่าได้ดีขึ้น ซึ่งจะขยายขอบเขตการทำงานที่มีอยู่ของเราเกี่ยวกับการจำลองไฟป่าร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากกรมป่าไม้ของสหรัฐอเมริกา
Google ย้ำว่าโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของทีมวิจัยของ Google เพื่อช่วยให้ชุมชนทั่วโลกมีส่วนร่วมในการจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
"ตั้งแต่ปี 2020 เราได้ใช้โมเดล AI เพื่อแสดงการแจ้งเตือน และฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงจุดที่เกิดไฟป่าผ่านการติดตามขอบเขตที่เกิดไฟป่า ซึ่งขณะนี้มีให้บริการในกว่า 20 ประเทศ และเมื่อต้นปีนี้ เรายังได้เปิดตัว FireBench ซึ่งเป็นชุดข้อมูลเปรียบเทียบประสิทธิภาพของแมชชีนเลิร์นนิงแบบโอเพนซอร์สสำหรับการวิจัยเกี่ยวกับไฟป่าอีกด้วย"
ไม่เพียงมุ่งมั่นขยายขอบเขตการตรวจจับไฟป่าอย่างต่อเนื่อง Google ยังย้ำว่าข้อมูลและ AI มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลที่สำคัญแก่เจ้าหน้าที่กู้ภัย รวมทั้งเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้นักวิทยาศาสตร์ ดังนั้น บริษัทจะยังคงเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานด้านการป้องกันไฟป่าเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากไฟป่าที่เพิ่มมากขึ้นต่อไป