กระทรวงดีอีครบรอบ 8 ปี ประกาศนโยบาย 'The Growth Engine of Thailand' ดันไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค
เมื่อวันที่ 16 ก.ย.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอีครบรอบ 8 ปีของการสถาปนา พร้อมประกาศนโยบาย The Growth Engine of Thailand ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย 3 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล ความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ โดยตลอดปีที่ผ่านมา (ก.ย.66-ส.ค.67) กระทรวงได้ดำเนินการหลากหลายมาตรการเพื่อแก้ปัญหาด้านดิจิทัล
1.แก้ไขปัญหาภัยออนไลน์
- ศูนย์ AOC 1441 รับสายแจ้งปัญหา 985,538 สาย ปิดบัญชีธนาคาร 291,256 บัญชี
- ปิดกั้น URLs ผิดกฎหมาย 138,660 ลิงก์ เพิ่มขึ้น 11 เท่า รวมถึงลิงก์ที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ 58,273 ลิงก์ เพิ่มขึ้น 34.3 เท่า
- ระงับบัญชีม้าและซิมม้ากว่า 1,000,000 บัญชี พร้อมมาตรการระงับการโทร.เกิน 100 ครั้งต่อวัน
- ออกประกาศควบคุมการซื้อขายแบบ COD เพื่อแก้ปัญหาการซื้อขายออนไลน์
นอกจากนี้ ยังเน้นการเร่งรัดกฎหมายพิเศษเพื่อคืนเงินผู้เสียหาย เพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูล และป้องกันอาชญากรรมดิจิทัล
2.การแก้ไขปัญหาข้อมูลรั่วไหล ศูนย์ PDPC Eagle Eye ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) รายงานว่า สัดส่วนการรั่วไหลของข้อมูลลดลงจาก 31.40% ในเดือน พ.ย.66 เหลือเพียง 1.5% ในเดือน ส.ค.67 โดยดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวัง 43,561 หน่วย และจับกุม 9 รายจากกรณีการซื้อขายข้อมูลผิดกฎหมาย พร้อมปรับบริษัทที่ทำข้อมูลรั่วไหลเป็นเงิน 7 ล้านบาท
3.การขับเคลื่อนดิจิทัลระดับภูมิภาค โครงการสำคัญที่ขับเคลื่อนดิจิทัลในระดับภูมิภาคประกอบด้วย
- โครงการ Digital Korat: ต้นแบบมหานครดิจิทัล ยกระดับเมืองใน 4 มิติ ครอบคลุม 878 อำเภอทั่วประเทศ
- ศูนย์ดิจิทัลชุมชน: จำนวน 2,222 แห่ง เป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการประกอบอาชีพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- อินเทอร์เน็ตสาธารณะ: ติดตั้งใน 24,654 หมู่บ้าน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
- โครงการชุมชนโดรนใจ: ดำเนินงานในกว่า 500 ชุมชน พัฒนาทักษะเกษตรกรและสร้างอาชีพใหม่ เช่น ช่างโดรนชุมชน ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ถึง 20,000 ล้านบาท
4.นโยบาย Cloud First Policy โดยกระทรวงเน้นการใช้ระบบคลาวด์เป็นแกนหลักในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ และส่งเสริมการเป็น Cloud Hub ของภูมิภาค ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ ให้บริการระบบคลาวด์แก่ 220 กรมภาครัฐ จำนวน 75,000 VM รวมถึงประหยัดงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผล 30-50% ส่งเสริมการใช้ Big Data และการเชื่อมโยงข้อมูลในหน่วยงานภาครัฐ และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในท้องถิ่นและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน
5.นโยบาย AI Agenda การขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI ของกระทรวงดีอีถูกแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI: สร้างแพลตฟอร์ม AI บนระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ในโครงการ National AI Service Platform พร้อมพิจารณาด้านจริยธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- พัฒนาทักษะด้าน AI: ส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยี AI ผ่านการ Upskill, Reskill และจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มทักษะให้บุคลากร SMEs และประชาชน
- เร่งรัด AI Use Case: การพัฒนา AI Use Case ในภาครัฐและเอกชน เช่น การพยากรณ์อากาศอัจฉริยะ และแผนที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก เพื่อช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
6.การพัฒนากำลังคนดิจิทัล (Digital Manpower) โดยดำเนินโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่กำลังคนในทุกระดับ โดยมีการสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน Digital ID (Credit bank) โดยเพิ่มกำลังคนด้านดิจิทัลถึง 550,000 คน พร้อมดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศภายใต้โครงการ Global Digital Talent VISA รวมถึงโครงการอาสาสมัครดิจิทัลและสภาเยาวชนดิจิทัลเพื่อขยายความรู้ดิจิทัลสู่ประชาชนทั่วไป
7.Startups และ SMEs ไทยแข่งได้ โครงการสำคัญอย่าง Thailand Digital Catalog โดยดีป้า ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการดิจิทัลไทยเข้าสู่ตลาดภาครัฐอย่างโปร่งใส พร้อมผลักดันมาตรการภาษี 200% เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมดิจิทัลและเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ดิจิทัล dSURE เพื่อสร้างมาตรฐานระดับสากล และดำเนินมาตรการเข้มงวดในการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
8.การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล โดยในปี 2566 อันดับของไทยขยับขึ้น 5 อันดับ อยู่ที่อันดับ 35 จากอันดับ 40 ในปี 2565 โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาให้ติด 30 อันดับแรกของโลกภายในปี 2569
นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัลให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.แก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ กระทรวงมุ่งดำเนินการต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์และการพนันออนไลน์ เพื่อลดผลกระทบต่อสังคม 2.ปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมนโยบาย Cloud First โดยพัฒนาระบบการบริหารจัดการในหน่วยงานราชการให้ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนให้รวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น
3.ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 4.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสร้างรายได้และโอกาสให้คนไทย โดยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว และ 5.พัฒนาบุคลากรดิจิทัล เพิ่มศักยภาพบุคลากรให้พร้อมรองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัล และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก
"กระทรวงพร้อมขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีภารกิจหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ยกระดับทักษะและพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล พร้อมสร้างความตระหนักรู้และความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของประชาชน ภายใต้กรอบการสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่เท่าเทียม ทั่วถึง และยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาคอย่างมั่นคง" นายประเสริฐ กล่าว