หลุดแผนการเลิกจ้างพนักงานของยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้ "ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์" (Samsung Electronics) สื่อต่างประเทศชี้ Samsung วางแผนเลิกจ้างพนักงานในต่างประเทศสูงสุด 30% ในบางแผนก คาดฝ่ายบริหารถูกหั่นมากที่สุดเพื่อรัดเข็มขัด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า Samsung ได้ออกคำสั่งให้บริษัทลูกทั่วโลกลดจำนวนพนักงานฝ่ายขายและการตลาดลงประมาณ 15% ขณะที่พนักงานฝ่ายบริหารปรับลดลงสูงสุด 30% โดยแผนปรับโครงสร้างมีกำหนดจะนำไปปฏิบัติภายในสิ้นปี 2024
ในขณะที่ยังไม่มีการยืนยันใดจาก Samsung สื่อต่างประเทศคาดว่าการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอเมริกา ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา โดยสถิติ ณ สิ้นปี 2023 พบว่า Samsung มีพนักงาน 267,800 คนทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นพนักงานนอกเกาหลีใต้มากกว่า 147,000 คน
สำนักข่าวรอยเตอร์ยกตัวอย่าง Samsung ในอินเดีย คาดว่าจำนวนพนักงานทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบอาจสูงถึง 1,000 คน จากพนักงานทั้งหมดประมาณ 25,000 คน
สำหรับในประเทศจีน รอยเตอร์ชี้ว่า Samsung ได้แจ้งให้พนักงานทราบเกี่ยวกับการเลิกจ้างพนักงานที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อพนักงานประมาณ 30% ในฝ่ายขาย ซึ่งยังไม่มีการลงรายละเอียดจำนวนพนักงานที่แน่นอนในขณะนี้
แผนการเลิกจ้างนี้เกิดขึ้นในขณะที่ Samsung ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ทั้งการฟื้นตัวที่ช้ากว่าในธุรกิจชิปเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยเฉพาะการตามหลังบริษัท TSMC ในการผลิตชิปตามสัญญา นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียม และการหยุดงานประท้วงเรื่องค่าจ้าง ซึ่งทำให้การผลิตในอินเดียหยุดชะงัก
เบื้องต้น คาดว่าเหตุผลของแผนการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นไปเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับระดับความต้องการผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่ชะลอตัวทั่วโลก และประคองให้บริษัทยังคงมีผลกำไรไม่ติดตัวแดงด้วยการลดต้นทุน
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า Samsung จะเลิกจ้างพนักงานที่สำนักงานใหญ่ในเกาหลีใต้เช่นเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากยังเป็นประเด็นละเอียดอ่อนทางการเมือง ล่าสุด มูลค่าหุ้นของ Samsung ซื้อขายในระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน โดยนักวิเคราะห์เริ่มปรับลดประมาณการกำไรลง ตามระดับความต้องการสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ชะลอตัวลงในไตรมาสปัจจุบัน
ที่สุดแล้ว หากแผนการเลิกจ้างพนักงานเกิดขึ้นจริง Samsung จะเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนคลื่นความท้าทายที่กว้างขึ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่ง Samsung จะต้องสู้ และลุยปรับปรุงกระบวนการ รวมถึงลดต้นทุนเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามา