xs
xsm
sm
md
lg

อะไรไม่ดีอ้าง AI ทำ! เปิดเคสคลิปหลุดนักการเมืองอาร์เจนตินา โยนบาป deepfake จัดฉาก-อ้างไฟล์เก่าตรวจได้หมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


Carlos Melconian (คนขวา) นักการเมืองอาร์เจนตินา
นักการเมืองไทยอาจไปเรียนวิชาจากนักการเมืองอาร์เจนตินา จนทำให้เกิดการโยนบาปว่าคลิปเสียงหลุดที่เขย่าขวัญวงการเมืองนั้นเป็นการจัดฉากของผู้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีดีพเฟก (deepfake) โดยเหตุการณ์ในอาร์เจนตินานั้นถูกรายงานว่าเป็นสถานการณ์ที่สะท้อนถึงความน่ากังวลเกี่ยวกับความท้าทายในการตรวจสอบความถูกต้องว่าเนื้อหาใดเป็นเสียงจริงหรือเสียงปลอม รวมถึงความใหม่และเก่าของไฟล์เสียงดิจิทัลที่แม้จะตรวจได้ยาก แต่ก็ล้วนตรวจสอบได้ทั้งหมด

เรื่องคลิปเสียงอื้อฉาวทางการเมืองในอาร์เจนตินานั้นเป็นข่าวดังในช่วงตุลาคม 2023 โดยเกี่ยวข้องกับ Patricia Bullrich และ Carlos Melconian ซึ่งเวลานั้นมีการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และ Patricia Bullrich ถือเป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

แต่แล้วก็มีไฟล์บันทึกเสียงที่รั่วไหลออกมาแบบลับๆ เนื้อหาในคลิปมุ่งเปิดเผยความคิดเห็นและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ Carlos Melconian ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจาก Bullrich ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ โดยข้อมูลที่รั่วไหลออกมานั้นเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งขั้นต้นของอาร์เจนตินาในเขต PASO ในวันที่ 13 สิงหาคม ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของกระบวนการเลือกตั้งทั่วประเทศ



ไฟล์เสียงที่รั่วไหลออกมานั้นออกอากาศโดยนักข่าวที่สนับสนุนรัฐบาลชื่อ Tomas Mendez ซึ่งอ้างว่าสามารถเก็บเสียงที่ Melconian พูดจาหยาบคายเกี่ยวกับผู้หญิงและดูเหมือนจะเสนอตำแหน่งในรัฐบาลเพื่อแลกกับความต้องการส่วนตัว ซึ่ง Bullrich ปฏิเสธว่าไฟล์ดังกล่าวถูก "ตัดต่อ" มา และโบ้ยว่าบันทึกเสียงทั้งหมดอาจถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์

อย่างไรก็ตาม ทีมงานของ Bullrich บางคนยอมรับว่าเทปดังกล่าวเป็นเสียงจริง แต่อ้างว่าเป็นเทปเก่านานปี ซึ่งคำอ้างนี้ถือว่าเป็นสเต็ปที่ตรงกันกับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ต้นเรื่องของกรณีนี้มาจากรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ที่ได้เปิดเผย คลิปเสียงของ “ลุง” รายหนึ่ง ซึ่งมีเสียงคล้ายกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 4 คลิปซึ่งภายหลัง พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมายืนยันว่าไม่ใช่เสียงของ พล.อ.ประวิตร และเชื่อมั่นว่า เป็นคลิปเสียงปลอมที่ทำขึ้นจากเทคโนโลยีทางดิจิทัล ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI)

แฟ้มภาพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
แต่แล้วก็กลายเป็นหนังคนละม้วน เมื่อนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกมายอมรับว่า 1 ใน 4 คลิป เป็นเสียงของตัวเอง สมัย พล.อ.ประวิตร กำกับดูแลฝ่ายความมั่นคงและดูแลกระทรวงมหาดไทย เป็นการรายงานเพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยเสนอชื่อแต่งตั้งนายขจร ชวโนทัย เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กับนายอรรถษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงเสนอแต่งตั้งเพื่อเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่ง พล.อ.ประวิตรต้องให้ความเห็นชอบจึงต้องนำเรียน ซึ่งท่านก็เมตตาไม่ก้าวก่าย ให้ความเห็นชอบให้เสนอเข้า ครม.เพื่อเห็นชอบ เสนอรายชื่อเพื่อทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ตามที่ ครม.เสนอ

ไม่เพียงในไทยหรืออาร์เจนตินา แต่ AI นั้นถูกกล่าวหาว่ามีการใช้งานในบริบททางการเมืองของหลายประเทศ ตั้งแต่ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรื่องอื้อฉาวล่าสุดทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในทางการเมืองยุคใหม่ และความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อสร้างหรือแก้ไขเนื้อหาเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง

ทางออกของเรื่องนี้คือการระบุเสียงของ AI ให้ได้ แม้จะยากมาก แต่บ่อยครั้งก็มีเบาะแสง่ายๆ ที่ใช้ตรวจความจริงและปลอมของเสียงได้ จุดนี้ Oli Buckley ศาสตราจารย์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มหาวิทยาลัย East Anglia บอกกับสำนักข่าว Ferret Fact Service ว่าการจะระบุเสียงของ AI นั้นทำได้ยาก แต่ก็มีเบาะแสบางอย่างที่บ่งชี้ว่าบางสิ่งถูกสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์เจเนอเรทขึ้นมา

“บ่อยครั้งที่เราจะพบการหยุดชั่วคราว หรือรูปแบบการพูดที่ไม่เป็นธรรมชาติ จังหวะหรือการไหลของสิ่งที่กำลังพูดอาจไม่ตรงกับคำพูด และมีน้ำเสียงไม่สอดคล้อง โดยทุกอย่างค่อนข้างราบเรียบและสม่ำเสมอ”



ตัวบ่งชี้อื่นสำหรับตรวจว่าคลิปหลุดใดเป็นเสียงจริงหรือปลอม คือจังหวะและความเร็วของการพูด และบ่อยครั้ง AI อาจเน้นไปที่คำพูดที่ไม่ถูกต้อง จุดนี้ Madeline Roache กรรมการผู้จัดการของ NewsGuard ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยข้อมูลเท็จในสหราชอาณาจักร ชี้ว่าเสียงที่สร้างโดย AI ดูเหมือนจะตรวจจับได้ยากกว่า เมื่อเทียบกับภาพและวิดีโอที่สร้างโดย AI ซึ่งอาจทำให้ผู้คนมีความเสี่ยงต่อข้อมูลเท็จมากขึ้น

สำหรับกรณีไฟล์ใหม่หรือเก่า จริงอยู่ที่การพิจารณาว่าการบันทึกเสียงนั้นเก่าหรือใหม่นั้นอาจเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็มีมากกว่า 5 วิธีการที่จะสามารถช่วยประเมินอายุของไฟล์ที่ถูกบันทึกได้ วิธีแรกคือการวิเคราะห์ข้อมูลเมตา เนื่องจากไฟล์เสียงดิจิทัลมักมีข้อมูลเมตาที่รวมถึงวันที่สร้างและแก้ไข อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้สามารถจัดการได้ง่ายและอาจไม่น่าเชื่อถือหากใช้เพียงข้อมูลเดียว

วิธีที่ 2 คือการตรวจสอบเสียง เพราะผู้เชี่ยวชาญสามารถวิเคราะห์คุณภาพเสียง รวมถึงเสียงรบกวนพื้นหลัง และแง่มุมทางเทคนิคอื่นๆ เพื่อประมาณว่าการบันทึกนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด

วิธีที่ 3 คือการวิเคราะห์เนื้อหา เพราะเนื้อหาที่กล่าวถึงในการบันทึกสามารถให้เบาะแสได้ หากมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ บุคคล หรือหัวข้อเฉพาะเจาะจง ก็สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้อ้างอิงร่วมกับไทม์ไลน์ที่ทราบได้

วันนี้มีเครื่องมือตรวจจับ AI เพื่อตรวจจับเสียงที่ถูก AI ปรับแต่ง
นอกจากการวิเคราะห์เสียง วิธีที่ 4 คือการดูข้อมูลบริบทแวดล้อม ซึ่งในกรณีของอาร์เจนตินา เพื่อนร่วมงานของ Bullrich อ้างว่าการบันทึกดังกล่าวเป็นการบันทึกในช่วงเวลาที่ Melconian ทำงานกับธนาคารแห่งชาติระหว่างปี 2015 ถึง 2017 ซึ่งอาจยืนยันได้โดยการตรวจสอบว่าเนื้อหาของการสนทนาสอดคล้องกับบทบาทและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่

วิธีที่ 5 คือการใช้เครื่องมือตรวจจับ AI เนื่องจากเนื้อหาที่สร้างโดย AI แพร่หลายมากขึ้น เครื่องมือใหม่จึงได้รับการพัฒนาเพื่อตรวจจับเสียงที่ถูก AI ปรับแต่ง เครื่องมือเหล่านี้อาจช่วยระบุได้ว่าการบันทึกนั้นถูกดัดแปลงหรือไม่

สรุปแล้ว เราล้วนสามารถตรวจสอบผลงานที่ AI สร้างไว้ได้ ดังนั้นอะไรที่ไม่ดีจงอย่าอ้าง AI เพราะประชาชนไม่ได้ตาบอด หวังว่าคลิปหลุดครั้งหน้าจะไม่มีการโยนบาปให้ deepfake รวมถึงคำอ้างว่าเป็นไฟล์เก่าให้ได้ยินอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น