เครือข่ายควอนตัม หรือ quantum network สุดล้ำถูกติดตั้งใต้เมืองนิวยอร์กซิตี้เป็นเวลา 15 วันเมื่อเดือนธันวาคมปี 2023 ปักหมุดตั้งแต่ท่าเรือบรูคลิน ยาวไปจนถึงโคโรนาในควีนส์ กลายเป็นเครือข่ายควอนตัมยาว 21 ไมล์ (34 กิโลเมตร) ที่นอนอยู่ใต้เมือง
แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นมาก แต่ถือเป็นก้าวสำคัญในด้านการสื่อสารด้วยควอนตัม โดยเครือข่ายนี้ถูกพัฒนาบนความร่วมมือของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีและสถาบันวิจัยหลายเจ้า ที่ลงขันกันทดลองใช้ควอนตัมเพื่อส่งข้อมูลอย่างปลอดภัยในระยะทางไกล ซึ่งแตกต่างจากเครือข่ายแบบดั้งเดิม
หลักการของปฏิบัติการนี้ คือเครือข่ายควอนตัมมีโอกาสถูกแฮกน้อยมาก ทำให้เหมาะสำหรับการสื่อสารที่ละเอียดอ่อน เครือข่ายควอนตัมในนิวยอร์กซิตี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ในการสร้าง "อินเทอร์เน็ตควอนตัม" ระดับโลกขึ้นมา
***15 วันส่งสัญญาณโฟตอนครึ่งล้านคู่ต่อวินาที
เครือข่ายควอนตัมนั้นถือเป็นเครือข่ายรับส่งข้อมูลประเภทพิเศษที่ถูกทดลองติดตั้งอยู่ใต้พื้นที่เมืองนิวยอร์กซิตี้ แต่การที่เครือข่ายนี้เปิดใช้งานได้เพียง 15 วัน ซึ่งอายุการใช้งานที่สั้น แสดงให้เห็นว่ายังมีความท้าทายทางเทคนิคอีกมากมายที่ต้องแก้ไข
บริษัทฮาร์ดแวร์ควอนตัมชื่อคันเนกต์ (Qunnect) ได้ขยายการทดลองบนโปรเจกต์ "ก็อธแฮมคิว" (GothamQ) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายควอนตัมที่ทำงานบนเส้นใยแก้วนำแสงที่มีอยู่เดิมในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมบางส่วนของนิวยอร์ก ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างโทรคมนาคมใต้ดินแบบเดิมกับการทดลองล่าสุดก็คือ แทนที่จะให้โฟตอนธรรมดาเดินทางผ่านสายเคเบิล ทีม Qunnect จะส่งโฟตอนในสถานะควอนตัม
ล่าสุด โปรเจกต์นี้ทดลองส่งสัญญาณโฟตอน "ครึ่งล้านคู่ต่อวินาที" เบ็ดเสร็จรวมเป็นโฟตอน 648 พันล้านคู่ ในช่วงเวลา 15 วัน ถือว่ามากกว่าการทดลองก่อนหน้านี้ที่ส่งสัญญาณโฟตอน 10,000 ถึง 20,000 คู่ต่อวินาทีเท่านั้น ซึ่งผลการทดสอบพบว่าเครือข่ายรักษาสถานะการทำงานได้เป็นเวลา 99.84% ของระยะเวลาการทดลอง โดยที่การหยุดชะงักคิดเป็นเพียง 0.16% ของเวลารวม
***เครือข่ายควอนตัมอิมแพกต์แรง
ที่ผ่านมา นักวิจัยเชื่อว่าการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีควอนตัม จะปฏิวัติโลกแทบทุกวงการ ไล่ตั้งแต่ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเงิน และการดูแลสุขภาพ เนื่องจากจะให้ความปลอดภัยและประสิทธิภาพแบบเต็มที่ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน
การติดตั้งเครือข่ายควอนตัมในนิวยอร์กซิตี้ที่เกิดขึ้น จึงสะท้อนถึงโอกาสในการนำเครือข่ายไปใช้ในพื้นที่เมืองใหญ่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการขยายขนาดเทคโนโลยีควอนตัมเพื่อการใช้งานอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มถึงอนาคตสดใสของเครือข่ายควอนตัม แต่ยังมีความท้าทายที่สำคัญที่ยังขวางการเติบโตของเทคโนโลยีสุดล้ำนี้อยู่ นั่นคือเทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และการสร้างเครือข่ายควอนตัมที่แข็งแกร่งและเชื่อถือได้นั้นต้องมีการลงทุนและการวิจัยจำนวนมาก
นอกจากนี้ การบูรณาการการสื่อสารด้วยควอนตัมกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ยังก่อให้เกิดอุปสรรคทางเทคนิค โดยเฉพาะปัญหาการรวมระบบ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะนำเทคโนโลยีขั้นสูงนี้มาปรับใช้กับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว
ไม่ว่าอย่างไร การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าโลกกำลังเข้าใกล้การใช้เทคโนโลยีควอนตัมในชีวิตจริงมากขึ้น โดยเฉพาะ "การสื่อสารที่ปลอดภัยเป็นพิเศษ" ผลจากการที่เครือข่ายควอนตัมใช้การเข้ารหัสแบบพิเศษซึ่งแฮกได้ยาก ทำให้ปลอดภัยมากในการส่งข้อมูล ซึ่งที่สุดแล้ว ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กซิตี้ ก็ถือเป็นการประกาศศักยภาพของเทคโนโลยีควอนตัมที่จะมีอิทธิพลเต็มที่ต่อโลกยุคหน้า