xs
xsm
sm
md
lg

'กสทช.' ลุยปฏิวัติคลื่นการบิน ปรับกฎใหม่ สอดคล้องมาตรฐานโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง
กสทช.ธนพันธุ์ เผย กสทช. ไฟเขียว (ร่าง) ประกาศใช้คลื่นความถี่การบิน หวังปฏิรูปครั้งใหญ่ จัดสรรคลื่นการบินพาณิชย์ตามมาตรฐานสากล ลดซับซ้อน เพิ่มคล่องตัว เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นใน 30 วัน ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่ทางการบิน เพื่อปรับปรุงระบบการขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และลดความซับซ้อนในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่ใช้ในระบบการบิน

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า สาระสำคัญใน (ร่าง) ประกาศฉบับนี้ เช่น 1.การจัดสรรคลื่นความถี่ในเส้นทางบินพาณิชย์ โดยกำหนดให้ใช้คลื่นความถี่ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยคลื่นความถี่ย่าน 2850-22000 กิโลเฮิรตซ์ และย่าน 117.975-137 เมกะเฮิรตซ์ จะถูกใช้สำหรับการสื่อสารในเส้นทางบินพาณิชย์และผ่านดาวเทียม ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และอนุสัญญาการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ค.ศ.1944

2.การใช้คลื่นความถี่สำหรับระบบช่วยเหลือการบิน โดยคลื่นความถี่สำหรับระบบเรดาร์และระบบวิทยุฉุกเฉิน เช่น คลื่นย่าน 121.5 และ 243 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับการสื่อสารฉุกเฉิน และคลื่นย่าน 9000-9500 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับเรดาร์ตรวจอากาศ

3.คลื่นความถี่แบบใช้ร่วมกัน ซึ่งคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการการบินส่วนหนึ่งถูกกำหนดให้ใช้ร่วมกันได้ (shared use) ซึ่งหมายความว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้คลื่นความถี่เดียวกันได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งานและสอดคล้องกับข้อบังคับระหว่างประเทศ และ 4.การใช้งานนอกเส้นทางบินพาณิชย์ โดยคลื่นความถี่ที่ใช้สำหรับการบินนอกเส้นทางพาณิชย์และการใช้งานผ่านดาวเทียม ต้องเป็นไปตามตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ เป็นต้น

"กสทช. เตรียมนำ (ร่าง) ประกาศฉบับนี้ เข้าสู่การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายใน 30 วัน ก่อนจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งประกาศนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการบิน ลดขั้นตอนการขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ และยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าระดับสากล อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญคือการทำให้ทุกฝ่ายปรับตัวตามกฎระเบียบใหม่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับวงโคจรดาวเทียม ที่จะช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ" พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น