xs
xsm
sm
md
lg

IBM ห่วงองค์กรเอเชีย วางกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนจริงจังแค่ 21%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฮันส์ เด็คเกอร์ส กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิก
ไอบีเอ็ม (IBM) ชี้สถานะปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังน่าห่วง พบมีเพียงองค์กร 21% ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่มีแนวทางความยั่งยืนเชิงกลยุทธ์ ชี้การบูรณาการข้อมูลเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นำไปสู่การเปิดตัวคู่มือ "Sustainability Technology Guide for Executives" จับมือพันธมิตรเสริมแนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความยั่งยืนในภูมิภาค

ฮันส์ เด็คเกอร์ส กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า องค์กรในเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญความยากลำบากในการเปลี่ยนวาระด้านความยั่งยืนให้เป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจ เนื่องจากการรวมข้อมูลและมุมมองเชิงลึกด้านความยั่งยืนเข้ากับกระบวนการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานต่างๆ ต้องอาศัยข้อมูลคุณภาพสูงและความสามารถในการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานของการสร้างความไว้วางใจ

"เทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างการดำเนินการด้านความยั่งยืนให้เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม วันนี้ไอบีเอ็มพร้อมนำโซลูชันและบริการเข้าสนับสนุนองค์กรทั่วภูมิภาค ให้สามารถใช้ประโยชน์จากพลังของข้อมูลและ AI ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกด้านความยั่งยืนที่เพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ"

ผู้บริหาร IBM เชื่อว่า Generative AI จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำคัญสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืนบนพื้นฐานของข้อมูล ขณะที่การใช้ไฮบริดคลาวด์จะช่วยอินทิเกรทข้อมูลและสนับสนุนการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆ โดยเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสเกลการดำเนินการด้านความยั่งยืนในวงกว้าง

รายละเอียดกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน 3 ระดับ
ด้วยสถานการณ์นี้ IBM ตัดสินใจเปิดตัว "คู่มือเทคโนโลยีด้านความยั่งยืนสำหรับผู้บริหาร" ครบวงจร เพื่อเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยข้อมูลจากคู่มือซึ่งร่วมกับพันธมิตร Ecosystm จัดทำขึ้นนั้นพบว่าองค์กรเอเชียแปซิฟิกในกลุ่มตัวอย่างยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการผสานความยั่งยืนเข้ากับการดำเนินธุรกิจหลัก และมีเพียง 21% ที่มีแนวทางเชิงกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่างแท้จริง

เนื้อหาจากคู่มือพบว่า 53% ของบริษัทในกลุ่มตัวอย่างกำลังอัปเกรดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สะท้อนว่าองค์กรยอมรับให้ "การปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัย" นั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน นอกจากนี้ เนื้อหาจาก IBM ระบุว่า 70% ของซีอีโอหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้ขับเคลื่อนวาระความยั่งยืน และมีองค์กรเพียง 22% เท่านั้นที่มีประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนโดยเฉพาะ สะท้อนว่าการมีส่วนร่วมของผู้นำองค์กรที่ต้องปรับปรุง และความจำเป็นในการทำงานร่วมกันระหว่างซีไอโอ ซีเอฟโอ และซีโอโอ

สำหรับ 3 กรอบการทำงานของ IBM เพื่อผลักดันความยั่งยืนในธุรกิจ ประกอบด้วย 1.การกำหนดเป้าหมายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล 2.สร้างรากฐานข้อมูลที่แข็งแกร่ง และ 3.ฝังแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนลงในเวิร์กโฟลว์ โดยทั้ง 3 ข้อจะนำไปสู่การจัดทำแผนงานเพื่อให้ธุรกิจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นความมุ่งหวังของคู่มือนี้

ในภาพรวม คู่มือนี้จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการข้อมูล การมีส่วนร่วมของผู้นำ และแนวทางที่มีโครงสร้างในการนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ ซึ่งจะสามารถก้าวข้ามความท้าทาย ที่พบว่า 48% ขององค์กรประสบปัญหาในการบูรณาการข้อมูลระบบอัตโนมัติและ AI เข้ากับข้อมูลขององค์กร

รายการเช็กลิสต์สำหรับการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อปรับใช้ Sustainability Technology
ที่สำคัญ คู่มือยังเน้นเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนความท้าทายด้านความยั่งยืนให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการเปลี่ยนมุมมองความยั่งยืนจากการเป็นแค่ต้นทุน ให้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนมูลค่าธุรกิจ

แซช มูเคอร์จี รองประธานด้าน Industry Insights ของ Ecosystm กล่าวว่าองค์กรที่น้อมรับการตัดสินใจด้านความยั่งยืนบนพื้นฐานของเทคโนโลยี จะสามารถเปลี่ยนความยั่งยืนจากศูนย์รวมต้นทุนให้เป็นตัวขับเคลื่อนมูลค่า ที่สนับสนุนความสำเร็จทางธุรกิจในระยะยาว พร้อมกับสร้างเลกาซีด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกไว้ให้

"การปฏิบัติตามเฟรมเวิร์กด้านความยั่งยืนสามระดับ บนพื้นฐานของเทคโนโลยี รวมถึงเช็กลิสต์ในคู่มือนี้ จะช่วยผู้บริหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสามารถสร้างวาระด้านความยั่งยืนที่มีความหมายและขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการลงมือทำ การจัดการความเสี่ยง และการสร้างความไว้วางใจในหมู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย"

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือเทคโนโลยีด้านความยั่งยืนสำหรับผู้บริหาร ได้ที่เว็บไซต์ของ IBM ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดการทำงานด้านความยั่งยืน 3 ระดับ รวมถึงรายการเช็กลิสต์สำหรับการลงมือปฏิบัติจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น