xs
xsm
sm
md
lg

Motion Capture ทำงานอย่างไร? จาก Black Myth: Wukong ถึง Tesla ยุคทอง MoCap ถูกสปอตไลต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต้องบันทึกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว หรือ MoCap (Motion Capture) ได้รับแสงสปอตไลต์เป็นพิเศษจากทั้งซีกโลกตะวันออกและตะวันตก ฝั่งตะวันออกนั้นมีเกมฮอตอย่าง Black Myth: Wukong เป็นตัวจุดกระแสความสนใจว่า MoCap คือที่มาของลีลาท่วงท่าลิงนักรบสุดพลิ้วไหวในเกม รวมถึงการนำตัวเหมียวขนฟูมาสวมชุด Motion Capture เพื่อถ่ายทอดความเคลื่อนไหวให้ปีศาจเสือ Tiger Vanguard monster มีชีวิตขึ้นมา

ขณะที่โลกตะวันตกก็กำลังตื่นเต้นกับความเคลื่อนไหวของเทสลา (Tesla) เจ้าพ่อรถยนต์ไฟฟ้าที่ตัดสินใจจ้างคนสวมชุด MoCap เพื่อฝึกหุ่นยนต์ ด้วยค่าแรง 1,600 บาท/ชม. หรือประมาณ 48 ดอลลาร์สหรัฐ

***Motion Capture ทำงานอย่างไร?

Motion Capture คือระบบสำหรับตรวจจับการเคลื่อนที่หรือการเคลื่อนไหวของวัตถุที่เราสนใจ ตัวระบบประกอบด้วย 1.กล้องตรวจจับการเคลื่อนไหว 2.มาร์กเกอร์หรือลูกปัดอ้างอิง (marker) สำหรับติดตั้งบนวัตถุที่ต้องการตรวจจับการเคลื่อนไหว และ 3.ซอฟต์แวร์ประมวลผลของระบบ โดยวัตถุที่ต้องการตรวจจับการเคลื่อนไหวจำเป็นที่จะต้องติดลูกปัดอ้างอิงลงบนตำแหน่งต่างๆ รอบวัตถุนั้น เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์อ้างอิงให้กล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวถ่ายภาพได้


ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนในเครือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อธิบายบนเว็บไซต์ว่ากล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวจะถูกติดตั้งอยู่บนคานเหล็กโดยรอบพื้นที่ทำงาน (working space) และมาร์กเกอร์อ้างอิงจะต้องถูกมองเห็นโดยกล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวอย่างน้อย 3 กล้อง เพื่อให้ซอฟต์แวร์สามารถประมวลผลเป็นตำแหน่ง 3 มิติบนพื้นที่ทำงานได้

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ยังอธิบายว่าเมื่อซอฟต์แวร์ได้ตำแหน่ง 3 มิติของมาร์กเกอร์แล้ว ซอฟต์แวร์สามารถประมวลผลตำแหน่งของมาร์กเกอร์ แล้วคำนวณทิศทางการเคลื่อนที่ (direction) ความเร็วการเคลื่อนที่ (velocity) และมุมหมุนของวัตถุได้ (orientation)



ในกรณีของเกม Black Myth: Wukong เกมยอดนิยมจากค่าย Game Science ซึ่งก่อตั้งโดย Feng Ji อดีตนักออกแบบเกมของ Tencent ผู้ซุ่มพัฒนาเกมมาตั้งแต่ปี 2014 จนล่าสุดทำสถิติยอดขายทะลุ 20 ล้านก๊อบปี้ใน 3 วันนั้นสามารถใช้ระบบ Motion Capture ที่จะมีค่าความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งในการตรวจจับน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร มาเป็นตัวเก็บรายละเอียดทุกเม็ดจากลีลาพลิ้วไหวบาดใจของ "Yin Kai" หรือหยิน ไค นักแสดงโมชันแคปเจอร์วัย 28 ปีสุดหล่อ จากนครจือปั๋ว มณฑลชานตง ประเทศจีน

หากสังเกตจากภาพเบื้องหลังการทำ Motion Capture ของหยิน ไค คาดว่าพื้นที่ทำงานระบบ Motion Capture น่าจะกว้าง ยาว และสูงหลายสิบเมตร อาจมีกล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวเกิน 10 กล้อง และไม่เพียงแค่ หยิน ไค ยังมีการนำเอาเจ้าแมวมาสวมชุด Motion Capture เพื่อให้ได้ลีลาท่าทางของปีศาจเสือ Tiger Vanguard monster



นอกจากเกม ข้อมูลการเคลื่อนที่เคลื่อนไหวเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ หรือโดรน เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพหรือทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์ หรือสอบเทียบความแม่นยำในการวัดค่าการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์


นอกจากนี้ ระบบยังสามารถใช้ในการตรวจจับการเคลื่อนไหวของมนุษย์ เพื่อใช้ในการสร้างรูปแบบการเคลื่อนไหวสำหรับงานทางด้าน AR/VR หรือใช้ทำงานร่วมกับแผ่นวัดแรงกระทำ (force plate) ในงานทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาหรืองานวิจัยทางด้านกายวิภาค

***Tesla จ้างคนสวมชุด Motion Capture ค่าแรง 1,600 บาทต่อชั่วโมง

อีกความเคลื่อนไหวสำคัญเรื่อง Motion Capture คือ Tesla กำลังผลักดันโครงการหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ Optimus โดยการจ้างมนุษย์ให้สวมชุดจับการเคลื่อนไหวเพื่อฝึกหุ่นยนต์ บนค่าแรงตั้งแต่ 25.25-48.00 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง แถมด้วยเงินสดและหุ้นครบชุด


รายงานระบุว่า Tesla เปิดรับตำแหน่งงานนี้ที่สำนักงานเมืองพาโลอัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยผู้สมัครต้องมีความสูงระหว่าง 5 ฟุต 7 นิ้วถึง 5 ฟุต 11 นิ้ว เนื่องจากจะต้องทำการเคลื่อนไหวที่กำหนดไว้เพื่อช่วยฝึกหุ่นยนต์ ซึ่งนอกจากจะต้องสวมชุดและขยับท่าทาง งานตำแหน่งนี้จะต้องอัปโหลดข้อมูล เขียนรายงาน และแก้ไขข้อผิดพลาดที่หุ่นยนต์แสดงผลออกมาด้วย

นอกจากนี้ Tesla ยังระบุว่าผู้สมัครงานนี้อาจต้องเดินมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ยกของหนัก (ไม่เกิน 30 ปอนด์) และทำงานป็นกะในชั่วโมงเร่งด่วน (00.00-08.30 น.) ซึ่งเป็นรายละเอียดตำแหน่งงานที่ย้ำถึงความเร่งด่วนของ Tesla ในการไล่ตามให้ทันคู่แข่ง ในตลาดหุ่นยนต์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สรุปแล้ว ใครที่ต้องการทำงานตำแหน่งที่เกี่ยวกับ Motion Capture อย่าลืมไปฟิตร่างกายให้แข็งแรงเป็นพิเศษ


กำลังโหลดความคิดเห็น