xs
xsm
sm
md
lg

"จีเอเบิล" รายได้โต 58% ดัน "ไซเบอร์จีนิคส์" ปรับทัพรับตลาดซิเคียวริตีบูม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"จีเอเบิล" และบริษัทในเครือ "ไซเบอร์จีนิคส์" ปรับทัพรับดีมานด์โตทั่วไทย ลุยเสริมแกร่งด้านธุรกิจและด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ภูมิใจจีเอเบิลรายได้จากการขายและบริการเติบโต 58% จากปีก่อน ดันให้กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 52%

จีเอเบิล (GABLE) ระบุในรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2567 ว่ามีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน นอกจากนี้ การที่จีเอเบิลได้เข้าถือหุ้น 75% ในบริษัท ราวด์ ทู โซลูชั่นส์ (Round 2 Solutions) มูลค่า 330 ล้านบาท เพื่อเสริมความสามารถด้าน Digital Transformation นั้นมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) สูงถึง 5,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน

ในขณะเดียวกัน บริษัท ไซเบอร์จีนิคส์ (CyberGenics) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของจีเอเบิล ได้เปิดตัว 2 บริการใหม่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้แก่ Emergency Incident Response (EIR) Call และ Managed Extended Detection and Response (MXDR) เพื่อตอบสนองความต้องการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการลงทุนด้านระบบ Cybersecurity ในประเทศไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 13.3% ในอีก 1 ปีข้างหน้า

***กำไร(ไม่)สะใจ

ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 ของจีเอเบิลยังคงแข็งแกร่งและเติบโต โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 1,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากไตรมาส 2/2566 และเพิ่มขึ้น 68% จากไตรมาส 1/2567

ในส่วนกำไรจากการดำเนินงาน 119 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% จากไตรมาส 2/2566 และเพิ่มขึ้น 878% จากไตรมาส 1/2567

ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ GABLE เปิดเผยว่า ผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ โดยมีรายได้ และกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 75% ของบริษัท ราวด์ ทู โซลูชั่นส์ จำกัด (Round 2 Solutions) 
คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 330 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น บริษัทได้นำเงินทุนบางส่วนที่ได้จาก IPO คาดหวังว่าช่วยเสริมให้จีเอเบิล ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์มุ่งก้าวสู่ผู้นำ Smart Business Application Provider ในประเทศไทย

 ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ GABLE
อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิในไตรมาสนี้ 63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 633% จากไตรมาสก่อน และหากนับถึงสิ้นไตรมาส 2/2567 จีเอเบิลมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) สูงถึง 5,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากไตรมาส 2/2566

ในขณะที่จีเอเบิลมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดกว่า 1,100 ล้านบาท พร้อมรองรับการเติบโตและลงทุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพ บริษัทลูกอย่าง ไซเบอร์จีนิคส์ (CyberGenics) เปิดตัว 2 บริการใหม่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยทั้ง 2 บริการถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจและองค์กรสามารถรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถตรวจจับ วิเคราะห์ และตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที

***มิติใหม่ CyberGenics

นายอัตพล พยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี บริษัท ไซเบอร์จีนิคส์ จำกัด ในเครือของบริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไซเบอร์จีนิคส์เล็งเห็นถึงความสำคัญและแนวโน้มการเติบโตของความต้องการ Cybersecurity ในประเทศไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 12.3% จึงพัฒนา 2 ระบบการให้บริการใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจองค์กรในปัจจุบัน
แบบตรงจุดมากขึ้น

"ไซเบอร์จีนิคส์มีจุดยืนมุ่งเป็นผู้นำด้านการให้คำปรึกษา และให้บริการ Cybersecurity Solutions แบบครบวงจรของไทย บริษัทได้พัฒนาระบบการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจองค์กรในปัจจุบันแบบตรงจุดมากขึ้น เพื่อรับกับความต้องการที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 มูลค่าการลงทุนด้านระบบ Cybersecurity จะเพิ่มขึ้น
ถึง 1.8 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตขึ้นปีละ 13.3% ทำให้รายได้รวมของอุตสาหกรรมระบบ Cybersecurity 
ของไทยเพิ่มขึ้น 6.3 พันล้านบาทในปี 2568 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 12.3%" นายอัตพลกล่าว โดยอ้างถึงข้อมูลจาก Krungthai COMPASS

  นายอัตพล พยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี บริษัท ไซเบอร์จีนิคส์ จำกัด ในเครือของบริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน)
นายอัตพล ชี้ว่าในปัจจุบัน แม้ทุกภาคอุตสาหกรรมยังคงทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันกันอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น แต่จุดเสี่ยงสำคัญคือการโจมตีทางไซเบอร์
จึงกลายเป็นภัยคุกคามที่ทุกองค์กรไม่อาจมองข้ามได้ ดังนั้น องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องสร้างระบบไอทีที่แข็งแกร่งเพื่อให้ธุรกิจมีความพร้อมในการรับมือกับช่องโหว่ด้านความปลอดภัยในรูปแบบต่างๆ

เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไซเบอร์จีนิคส์จึงพัฒนาบริการ Emergency Incident Response (EIR) Call สำหรับรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางไซเบอร์ตลอด 24 ชั่วโมง และให้การช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นบริการแห่งแรกในประเทศไทย

อีกบริการ คือ บริการ Managed Extended Detection and Response (MXDR) ซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และ Machine Learning เพื่อตรวจจับและตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์แบบเรียลไทม์อย่างต่อเนื่อง

การเปิดตัว 2 บริการใหม่สะท้อนว่าไซเบอร์จีนิคส์พยายามเสริมความแข็งแกร่งด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ธุรกิจและองค์กรในประเทศไทย ขณะที่จีเอเบิลก็พยายามเสริมด้านธุรกิจเพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตและความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงน่าจับตาว่าจะมีความพยายามยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจในยุคดิจิทัลอย่างไรตามมาอีกในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น