ธนาวัฒน์ ชี้ 'Temu' บุกไทย ซ้ำเติมผู้ประกอบการอ่วมหนัก ร้องรัฐเร่งแก้ปัญหา สร้างมาตรฐานให้เท่าเทียม ดันรีดภาษี ใช้มาตรการความปลอดภัยเดียวกัน
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza ที่ปรึกษา และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) เปิดเผยถึงการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนอย่างเทมู (Temu) ว่า ได้เพิ่มแรงกดดันให้ผู้ประกอบการไทยที่เผชิญกับความท้าทายจากสินค้าจีนที่เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง เดิมผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ยากลำบากอยู่แล้ว การเข้ามาของเทมูยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เนื่องจากสินค้าจากจีนเข้ามาในตลาดได้โดยตรงจากโรงงาน จึงสามารถตั้งราคาได้ถูกกว่าสินค้าจากผู้ประกอบการไทยอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
"ก่อนเทมูเข้ามาผู้ประกอบการไทยก็อ่วมอยู่แล้ว การที่เทมูเข้ามาเพิ่มอีก ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกองทัพที่จะพาสินค้าจากจีนเข้ามา ตอกย้ำสถานการณ์ให้ยิ่งชัดเจนว่า สินค้าไทยจะแข่งขันด้านราคาไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ โดยเน้นการสร้างแบรนด์ที่มีคุณภาพ มีความแตกต่าง และพัฒนาคุณภาพของสินค้า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ แทนที่จะพยายามแข่งขันด้านราคา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตที่ต่ำของสินค้าจีน ด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทยเองก็ต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างชาติที่พยายามเข้ามาทำตลาดในประเทศได้" นายธนาวัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยการดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีที่สอดคล้องกับสินค้าที่นำเข้าจากจีน โดยเฉพาะการเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ยังไม่ได้เก็บในสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน นอกจากนี้ ควรเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบ และบังคับใช้มาตรฐานความปลอดภัยของสินค้านำเข้า เช่น การบังคับใช้มาตรฐาน มอก. กับสินค้าต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในตลาดไทย
"อย่างกรณีที่เกาหลีใต้ตรวจพบสารพิษเกินมาตรฐานในสินค้าจากชีอิน (Shein) และเทมู ชี้ให้เห็นว่า สินค้าจากต่างประเทศอาจไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย จึงอยากเรียกร้องให้สินค้านำเข้ามีการบังคับใช้กฎเกณฑ์เดียวกันกับสินค้าไทย ที่ต้องผ่านกระบวนการอนุญาตที่เข้มงวด ใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมาตรฐานที่เท่าเทียมในตลาด" นายธนาวัฒน์ กล่าว
อีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย คือ การส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) ของไทย โดยรัฐบาลควรผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแบรนด์สินค้าที่มีเอกลักษณ์และคุณค่าทางวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าไทยในตลาดโลก เช่น อิตาลี ที่สามารถสร้างสินค้าที่เป็นลักชัวรีได้โดยใช้พลังจากซอฟต์เพาเวอร์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ในการสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้มีความโดดเด่นและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา เทมู ยังตกเป็นเป้าสายตาจากหลากหลายประเทศเกี่ยวกับทั้งเรื่องความปลอดภัยของสินค้า ไปจนถึงความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ใช้งาน เพราะมีการตรวจพบว่าแอปฯ ขอสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลจนเสี่ยงที่จะทำข้อมูลรั่วไหล รวมถึงการถูกตรวจพบว่ามีการส่งมัลแวร์เข้าไปในเครื่องผู้ที่โหลดแอปฯ ใช้งานด้วย จนทำให้อาจถูกแบนในหลายประเทศ