กระทรวงดีอีเตือนข่าวปลอม! เงินดิจิทัลวอลเล็ต ใช้ซื้อสินค้าจากธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น ยืนยันใช้กับร้านค้าขนาดเล็ก ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ขอประชาชนอย่าเชื่อ แชร์ต่อ หวั่นสร้างความสับสนในสังคม
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย (AFNC) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ตรวจสอบและพบข่าวปลอมเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ระบุว่า ใช้ซื้อสินค้าจากธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น
ซึ่งกระทรวงดีอียืนยันว่า เป็นข้อมูลเท็จ การใช้จ่ายภายใต้โครงการนี้จะต้องใช้กับร้านค้าขนาดเล็กและไม่รวมถึงห้างสรรพสินค้าใหญ่ การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (face-to-face) เท่านั้น และจะมีการตรวจสอบการใช้จ่าย ดังนี้ 1.ที่อยู่ของร้านค้าเป็นไปตามที่ลงทะเบียนไว้กับโครงการ 2.ที่อยู่ของประชาชนที่ใช้สิทธิตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการ และ 3.ขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้า ต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์
ส่วนเงื่อนไขของสินค้าที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ได้แก่ 1.สินค้าทุกประเภทเข้าร่วมโครงการได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ประกอบด้วย สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร โดยการปรับปรุงสินค้า Negative List ให้เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ กำหนด และ 2.การใช้จ่ายตามโครงการจะไม่รวมถึงธุรกิจบริการ เช่น โรงภาพยนตร์ บริการท่องเที่ยว นำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม เสริมสวย ค่าขนส่งสินค้า
สำหรับวิธีการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้ ดังนี้
รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก
1.ประชาชนต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นร้านค้าขนาดเล็ก จนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
2.ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง
3.เป็นการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ โดยประชาชนต้องมีที่อยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอเดียวกันกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก
4.การซื้อ-ขายสินค้า ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการทำธุรกรรมซื้อขายและสแกน QR Code เพื่อชำระค่าสินค้ากันแบบพบหน้า และไม่มีกระบวนการใดๆ ในการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใด และไม่ให้ทำซ้ำ ส่งต่อหรือวิธีการอื่นใดกับ QR Code ชำระค่าสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว
รอบที่ 2 เป็นต้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
1.ผู้ประกอบการร้านค้าต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าอีกแห่งหนึ่ง
2.ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง
"กระทรวงดีอีเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อหรือแชร์ข้อมูลปลอมเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีเจตนาบิดเบือนและสร้างความกังวล โครงการนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งหวังช่วยลดค่าครองชีพและสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กทั่วทุกภูมิภาคให้ได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน" นายประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงดีอีแจ้งประชาชนติดตามข้อมูลการใช้จ่ายเงินดิจิทัลและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ที่ www.moc.go.th หรือโทร. Call center 1203 (0-2507-7000, 0-2507-8000) โดยการลงทะเบียนร้านค้าเริ่ม 1 ตุลาคม 2567 สำหรับข้อมูลการลงทะเบียนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ติดตามได้ที่ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง
สอบถามข้อมูลข่าวสารโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต" โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 (24 ชม.)