ไทยเด้งรับอุตสาหกรรม 'โดรน' โตเร็ว เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงาน 'โดรนเทคเอเชีย 2024' สร้างโอกาสให้ผู้ผลิต-ผู้ใช้งานพบกันโดยตรง ดันไทยเป็นศูนย์กลางพัฒนาในภูมิภาค
โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ เป็นเทคโนโลยีที่มีอัตราการเติบโตสูงในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในไทยและทั่วโลก เช่น การเกษตร พลังงาน ก่อสร้าง และคลังสินค้า การถ่ายทำภาพยนตร์และการถ่ายภาพ กีฬาและความบันเทิง สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและภัยพิบัติ การค้นหาและช่วยเหลือ เนื่องจากสามารถทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้ โดยเฉพาะในเชิงพาณิชย์ ทั้งเพื่อสร้างรายได้ ต่อยอดธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านความปลอดภัย และช่วยลดต้นทุน
นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท จีเอ็มแอล เอ็กซิบิชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จะมีการจัดงานโดรนเทค เอเชีย 2024 ช่วงวันที่ 25-27 พ.ย.67 ซึ่งเป็นนิทรรศการและการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับโดรนและเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมโดรนและเทคโนโลยีทั้งไทยและต่างประเทศ ได้พบกับผู้ใช้งานเทคโนโลยีโดรนโดยตรง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมโดรนในภูมิภาคอาเซียน และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาโดรนในภูมิภาค
เนื่องจากตามรายงานของ Research and Markets ตลาดโดรนทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตจาก 22,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 เป็น 42,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 13.7% ส่วนในเอเชีย ตลาดโดรนเติบโตเช่นกัน โดยมีแรงผลักดันจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในด้านการถ่ายภาพทางอากาศและการสำรวจ โดรนสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรม และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการใช้งาน รายงานโดย Mordor Intelligence คาดการณ์ว่า ตลาดโดรนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะเติบโตที่ 19.8% จากปี 2563 ถึง 2568
ขณะที่ภูมิภาคอาเซียน อุตสาหกรรมโดรนแสดงศักยภาพในการเติบโตที่สำคัญ แม้ว่าจะอยู่ในระยะเริ่มต้นก็ตาม ตามการวิจัยโดย ASEAN Post คาดว่าตลาดโดรนในอาเซียน จะมีมูลค่าสูงถึง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2566 เติบโตที่ประมาณ 20% ระหว่างปี 2564 ถึง 2569 โดยมีแรงผลักดันจากการนำมาใช้ในเกษตรกรรม การทำเหมืองแร่ และการก่อสร้าง รวมถึงประชากรที่มากและการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น
"มองเห็นว่าอุตสาหกรรมโดรนเริ่มมีทิศทางการขยายตัวและเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้" นายมนู กล่าว
ทั้งนี้ นายปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมโดรนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของดีป้า ได้แก่ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่มุ่งพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้และซ่อมบำรุงโดรน เพื่อการเกษตรแก่ชุมชนและเกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านธุรกิจดั้งเดิมสู่ศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น และจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตร
"คาดว่าภายใน 1 ปีของการดำเนินโครงการ จะเกิดศูนย์บริการทั่วประเทศ 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท ตอบสนองเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ เพราะนอกจากการใช้งานในภาคเกษตร โดรนยังมีบทบาทในการทำแผนที่และการสำรวจทางวิศวกรรม เพราะการใช้โดรนในการสำรวจทำให้กระบวนการเร็วขึ้นและลดความจำเป็นในการใช้แรงงานมนุษย์ในสภาพแวดล้อมที่อาจเป็นอันตราย โดยช่วยให้สามารถประเมินสภาพและทำการบำรุงรักษาได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น" นายปรีสาร กล่าวและว่า
"อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนในประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อย่างจีน ทำให้ภาคธุรกิจต้องรวมตัวกันซื้อวัสดุเพื่อลดต้นทุน แต่การรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมยังไม่เข้มแข็งพอ ด้านกฎระเบียบและภาษีนำเข้ายังเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ นอกจากนี้ การพัฒนาซอฟต์แวร์และการส่งออกยังต้องการการสนับสนุนจากรัฐในการเคลมภาษีและลดหย่อนภาษี เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เพราะส่วนใหญ่ข้อมูลดิจิทัลยังถูกควบคุมโดยต่างประเทศ จึงต้องพัฒนามาตรการใหม่เพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านนี้ ตลาดภายในประเทศและการออกแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนไทยเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมโดรนของไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล"