อีริคสัน (Ericsson) มองไทยยังมีศักยภาพในการเป็น ‘ดิจิทัล ฮับ’ ในภูมิภาคอาเซียน จากความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พร้อมกับแผนผลักดันไทยแลนด์ 4.0 ในการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล พร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัย ซึ่งถือเป็น 4 ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำ
แอนเดอร์ส เรียน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไทยมีจุดแข็งที่จะเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาค โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง เพียงแต่จะต้องมีการเสริมปัจจัยในแง่ของการพัฒนาทักษะดิจิทัล ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยเพิ่มเติม
“จากข้อมูลในปี 2023 ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าไทยมีจำนวนผู้ใช้งาน 5G แล้วกว่า 21 ล้านราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 45 ล้านรายภายในปี 2025 ทำให้เห็นโอกาสสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งาน ยังมีการคาดการณ์ต่อเนื่องไปว่าภายในปี 2023 มีโอกาสที่จำนวนผู้ใช้งานเครือข่าย 5G จะสูงขึ้นไปถึง 94% จากจำนวนผู้ใช้งาน 110 ล้านเลขหมาย หรืออยู่ที่ราว 103 ล้านราย”
ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้ประโยชน์ของ 5G เกิดการนำไปใช้งานให้ได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การมาของ 5G SA หรือสถานีฐาน 5G ที่แยกออกจาก 3G/4G ที่จะสามารถส่งมอบคุณสมบัติของ 5G ได้ครบถ้วน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน
“ในฝั่งของคอนซูเมอร์โอเปอเรเตอร์อาจมีการติดตั้งสถานีฐานเพื่อให้บริการ 5G ครอบคลุมแล้วทั่วประเทศ แต่จริงๆ แล้วยังมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการ 5G ในภาคอุตสาหกรรม ที่สามารถสร้างรายได้ถึง 3.4 พันล้านเหรียญในปี 2030 จากทั้งภาคการผลิต รถยนต์ เฮลท์แคร์ และพลังงาน”
แอนเดอร์ส กล่าวเสริมว่า อีริคสันพร้อมเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือสำหรับประเทศไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 และช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย โดยเฉพาะการร่วมมือกับทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในการตั้งศูนย์นวัตกรรมในพื้นที่ Thailand Digital Valley
สำหรับ 5G Innovation and Experience Studio (5GIX Studio) ถูกออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรม 5G โดยใช้เครือข่ายแซนด์บ็อกซ์ 5G ที่ทันสมัยของอีริคสันเพื่อพัฒนา ทดสอบ ตรวจสอบ และให้การรับรองยูสเคส 5G ใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตรจากทั่วโลก
พร้อมเป็นพื้นที่จัดแสดงยูสเคส 5G ทั้งหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMR) เครื่องจักรการผลิตอัตโนมัติที่เป็นความร่วมมือกับมิตซูบิชิ และกล้อง CCTV 360 องศา แบบสวมใส่ได้ โดยจะเปิดพื้นที่ให้ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคการศึกษา เข้ามาร่วมพัฒนานวัตกรรมต่อไปในอนาคต