xs
xsm
sm
md
lg

'ดีป้า' ร้องรัฐแก้ไข 3 ข้อเรียกร้องผู้ประกอบการดิจิทัล ดันอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยก้าวสู่ระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'ดีป้า' สะท้อน 3 ข้อเรียกร้องผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจไทยในเวทีโลก พร้อมกังวลการถูกดิสรัปจากเทคโนโลยีขั้นสูง หวังช่วยส่งเสริมรองรับการแข่งขันแห่งโลกอนาคต

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.67 ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย ไตรมาสแรกปี 67 อยู่ที่ 54.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 53.0 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 66 โดยปัจจัยสำคัญหนึ่งมาจากคำสั่งซื้อที่สูงขึ้น มาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลมีความหวังที่จะเห็นรายได้เพิ่มขึ้น แม้จะยังมีความกังวลเรื่องการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัล ที่มีผลมาจากการผลิตบุคลากรภายในประเทศที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัล เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยแนะนำให้นำเข้ากำลังคนจากต่างประเทศผ่านวีซ่า Global Digital Talent พร้อมทั้งส่งเสริมการผลิตและพัฒนาทักษะในประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ การเพิ่มทักษะดิจิทัลให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัย ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอาชีพใหม่ เช่น Digital Influencer และ Digital Artist นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าการดิสรัปชันจากเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ไทยไม่ได้เป็นเจ้าของอย่าง Foundation Model หรือ Global Generative AI อาจส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ


"ผู้ประกอบการไทยต้องพร้อมรับมือกับการแข่งขันในระดับโลก โดยการสร้างความร่วมมือ และนำ AI, Cloud และ Big Data เข้ามาใช้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มผลิตภาพของประเทศ (Productivity) ซึ่งจะช่วยผลักดัน GDP ให้เพิ่มขึ้น ดีป้ากำลังยกระดับกำลังคนด้านดิจิทัลและกำหนดกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการใช้ AI ทั้ง Generative AI, Algorithm AI, Responsible AI และ Ethical AI เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและท้าทายที่กำลังจะมาถึง โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวและว่า

"ไทยต้องเร่งสร้าง Data Center และ Cloud Innovation Center เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และเพิ่มมูลค่าข้อมูลในหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกรรม การท่องเที่ยว สาธารณสุข การเงิน และบริการรัฐบาล นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการทำงานร่วมกันของ Sectoral Model, AI Specific Model และ AI Hyperlocal Model ซึ่งดิจิทัลสตาร์ทอัปจะเป็นผู้ให้บริการหลัก ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดีป้าพยายามสะท้อนความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อรับมือกับการแข่งขันในอนาคตและสร้างประโยชน์สูงสุดให้เศรษฐกิจของประเทศ"




กำลังโหลดความคิดเห็น