'กสทช.' จัดประชุม Focus Group เพื่อหารือร่างแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ 5 ปี (2567-71) ในกิจการโทรคมนาคม และทิศทางการใช้งานคลื่นความถี่สำหรับ 5G Private Network
เมื่อวันที่ 29 พ.ค.67 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เรื่อง (ร่าง) แผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปี (2567-71) และทิศทางความต้องการการใช้งานคลื่นความถี่สำหรับการใช้งาน 5G Private Network โดยมี รองศาสตราจารย์สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เป็นประธานในพิธี
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า คลื่นความถี่ในย่าน 850 MHz, 1500 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งจัดสรรในกิจการโทรคมนาคมในไทยจะสิ้นสุดการอนุญาตให้ใช้งานในปี 2568 และปี 2570 ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงได้ดำเนินการศึกษาความต้องการคลื่นความถี่ผ่านรูปแบบการจำลอง Spectrum Demand Model Using Mobile Traffic เพื่อประเมินความต้องการใช้คลื่นความถี่อย่างละเอียด
ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ในปี 2572 จะมีความต้องการใช้คลื่นความถี่ย่านต่ำและย่านกลาง รวมกันที่ 739 MHz ขณะที่ปัจจุบันมีคลื่นความถี่ในการใช้งานอยู่ที่ 620 MHz โดยจะมีคลื่นความถี่จำนวน 120 MHz ที่หมดอายุในปี 2568 ดังนั้น เพื่อให้มีคลื่นความถี่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงต้องนำคลื่นความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดการอนุญาตในปี 2568 และปี 2570 รวมถึงคลื่นความถี่ที่รอการจัดสรรอยู่มาจัดสรรใหม่ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และรองรับการขยายการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในประเทศอย่างเต็มที่
สำหรับแผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปี (2567-71) เบื้องต้น แบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดการอนุญาต 2.คลื่นความถี่ที่ว่างและรอการจัดสรร 3.คลื่นความถี่ที่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการจัดสรร และ 4.คลื่นความถี่ที่กำลังศึกษา ทั้งนี้ ตามแผนการที่วางไว้ คลื่นความถี่ในกลุ่มที่ 1 และ 2 จะเริ่มถูกจัดสรรในปี 2568 โดยจะรวมถึงย่านความถี่ 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz เพื่อรองรับการขยายบริการและพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมสมัยใหม่
นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนศึกษาเพิ่มเติมสำหรับความต้องการคลื่นความถี่สำหรับ 5G Private Network โดยเฉพาะในย่านความถี่ 3500 MHz และ 4800 MHz ที่จะต้องพิจารณาความพร้อมของระบบนิเวศทั้งในและนอกประเทศ พร้อมทั้งผลกระทบจากการปรับปรุงคลื่นความถี่เพื่อการใช้งานของกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล โดยเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 28 GHz ที่จะต้องศึกษาการใช้ร่วมกันระหว่างกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลกับกิจการดาวเทียม GSO Gateway และ NGSO Gateway ก่อนการจัดสรรเพื่อให้เกิดความเสถียรในการใช้งานเครือข่ายและบริการ