xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ยขยับรับเวอร์ชวลแบงก์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “เดวิด หลี่” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในโอกาสแจ้งเกิดโครงการ Huawei Cloud GaussDB Pioneer Program เพื่อกระตุ้นการใช้งานบริการฐานข้อมูล AI-Native ที่สร้างมาเพื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะ การันตีโซลูชัน GaussDB ที่หัวเว่ยพัฒนาเองมีความเหมาะสมขั้นสุดสำหรับแอปพลิเคชันธนาคารเสมือน แย้มพร้อมเข้าเป็นพาร์ตเนอร์ ผู้จัดหาสินค้า และเป็นผู้ซัปพอร์ตให้ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือเวอร์ชวลแบงก์ที่ได้รับใบอนุญาตในไทย หลังทุบสถิติช่วยธนาคารจีนทำแอปพลิเคชันรองรับลูกค้า 650 ล้านคนสุดราบรื่น

นอกจากธนาคารเสมือน การขยายตลาดโซลูชัน GaussDB ยังมีอิมแพกต์ทำให้หัวเว่ยรองรับความต้องการใช้งานฐานข้อมูลอัจฉริยะเพิ่มขึ้นในทุกธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกรรมปริมาณมากอย่างปลอดภัย ทั้งบริการภาครัฐบาล ธนาคาร พลังงาน และการขนส่ง ซึ่งล้วนจำเป็นต้องใช้งานฐานข้อมูลยุคใหม่ เรียกว่าเป็นอีกก้าวใหญ่ที่จะหนุนให้บริการคลาวด์ของหัวเว่ยมีความน่าสนใจและครบเครื่องยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเขี้ยวเล็บให้การแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดคลาวด์ทำได้ดีขึ้น

ปัจจุบัน หัวเว่ยมองว่าตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่ดีในตลาดคลาวด์ไทย เนื่องจากเทคโนโลยีคลาวด์เป็นเทรนด์ดิจิทัลที่เติบโตต่อเนื่อง และรัฐบาลไทยยังเดินนโยบาย Cloud First ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ระบบคลาวด์เป็นอันดับแรก ซึ่งหัวเว่ยไม่เพียงเห็นศักยภาพที่สูงในตลาดที่เติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด แต่ยังเชื่อว่านโยบายของประเทศไทยจะสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างมาก 



***ลงทุนต่อ ไม่หวั่นทุนตะวันตก

เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงาน Huawei Cloud Database Summit Thailand 2024 ถึงกรณีการประกาศของไมโครซอฟท์เกี่ยวกับการตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยว่าไม่มีผลต่อหัวเว่ย ประเทศไทย เนื่องจากหัวเว่ยได้ลงทุนในศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ 3 แห่งแล้ว ซึ่งในฐานะผู้นำในตลาด หัวเว่ยยินดีกับการเข้าร่วมของผู้ให้บริการคลาวด์รายอื่นในการลงทุนตลาดไทย และมองว่าเป็นโอกาสในการร่วมมือและส่งเสริมการพัฒนาอีโคซิสเต็ม

“การที่ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมคลาวด์ลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นข่าวดีเพราะจะช่วยเสริมสร้างอีโคซิสเต็มให้แข็งแกร่งขึ้น และเพิ่มการรับรู้ในประโยชน์ของเทคโนโลยีคลาวด์มากขึ้น” เดวิดกล่าว

“หัวเว่ย ประเทศไทย เชื่อว่าแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลเป็นสิ่งที่สำคัญและผู้เล่นทุกคนควรใช้ประโยชน์จากข้อดีที่เหนือกว่า เพื่อให้บริการลูกค้าได้ดีและร่วมมือกันเพื่อเร่งความเจริญของประเทศไทย บริษัทยังคงมุ่งมั่นต่อเป้าหมายเหล่านี้และจะดำเนินการลงทุนในตลาดไทยต่อไป”

 “เดวิด หลี่” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด
แม้จะไม่สามารถเปิดเผยแผนมูลค่าการลงทุนของหัวเว่ย ประเทศไทย แต่เดวิดย้ำว่าบริษัทได้ขยายธุรกิจในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา และจะยังคงขยายต่อตามทิศทางของการเติบโตธุรกิจ บนความมุ่งมั่นที่จะลงทุนในศูนย์ข้อมูล 3 แห่งที่มีอยู่แล้ว โดยยืนยันว่าการลงทุนของหัวเว่ยที่ยังคงเพิ่มขึ้นจะนำไปสู่การขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ใหม่

ส่วนหนึ่งของการลงทุนที่หัวเว่ยดำเนินการไว้แล้ว คือการเปิดโปรแกรมพัฒนานักพัฒนาซอฟต์แวร์ AI ทั้งด้านการจัดการฐานข้อมูล คลาวด์คอมพิวติ้ง ปัญญาประดิษฐ์ และโปรแกรมมิ่ง เป้าหมายคือการปั้นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ AI จำนวน 10,000 คนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมี Asian Academy ซึ่งหัวเว่ยได้ฝึกอบรมวิศวกรประมาณ 70,000 คนแล้ว โดยปีที่ผ่านมา หัวเว่ยให้การรับรองวิศวกรไทยจำนวนรวม 8,000 คน

“เป้าหมายของเราคือการส่งเสริมบุคลากรจากมหาวิทยาลัย สตาร์ทอัปและอุตสาหกรรมที่มีความสามารถเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีคลาวด์และฐานข้อมูลนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศไทย ในขณะที่การลงทุนในที่ดิน อาคาร และเซิร์ฟเวอร์ก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่เราเน้นความสำคัญของการลงทุนในบุคลากรเนื่องจากพวกเขาเป็นขุมกำลังและจะได้รับประโยชน์มากที่สุด”

เดวิดมั่นใจว่าหัวเว่ยจะรักษาความเป็นผู้นำในการเติบโตในตลาด โดยรักษาความได้เปรียบด้วยวิธีการที่ไม่เหมือนใคร บนประสบการณ์เข้าสู่ตลาดไทยเป็นเวลานานกว่า 25 ปี ท่ามกลางทีมงานกว่า 2,000 คน และสร้างงานถึง 6,000 งานผ่านพันธมิตร


***ฐานข้อมูล AI-Native ของมันต้องมี!

หนึ่งในวิธีที่หัวเว่ยใช้คือการโปรโมต GaussDB ฐานข้อมูลรุ่นใหม่ที่หัวเว่ยลงมือปรับตัวให้เข้ากับ AI จากเวลาพัฒนานานกว่า 20 ปีตั้งแต่ พ.ศ.2544 ผลการทดสอบพบว่าฐานข้อมูลเชิงพาณิชย์ของหัวเว่ยที่ถูกย้ายไปยัง GaussDB ช่วยลดเวลาการสร้างรายงานประจำปีจาก 30 วันเหลือเพียง 10 วัน และธนาคารชั้นนำแห่งหนึ่งของจีนใช้ GaussDB พลิกโฉมฐานข้อมูลเดิมให้กับระบบธุรกิจมากกว่า 150 ระบบ

“ตรงนี้ต้องระบุว่า AI และฐานข้อมูลเป็นสองแนวคิดที่แตกต่างกัน การสนับสนุน AI ต้องใช้ข้อมูลโครงสร้างที่มีปริมาณมากซึ่งสามารถจัดหาได้จากฐานข้อมูล นอกจากนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการผสมผสานระหว่างฐานข้อมูลและ AI ให้มีประสิทธิภาพ แม้ GaussDB จะสามารถสนับสนุนเทคโนโลยี AI ได้ดี แต่จำเป็นต้องเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างสองแนวคิดนี้นอกจากนี้ GaussDB ยังมีเครื่องมือ AI หลายตัวที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างง่ายดายและสนับสนุนนักพัฒนาแอปพลิเคชันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เดวิด อธิบาย

ไม่แปลกที่หัวเว่ยจะมองว่าตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่ดีในตลาดคลาวด์ เห็นได้จากรายได้บริษัทในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ที่รายได้ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งเติบโตเกิน 20%
ในขณะที่ AI ต้องการข้อมูลจำนวนมากและการคำนวณที่ซับซ้อน เดวิดชี้ว่าสถานการณ์นี้เป็นปัจจัยสำคัญในความต้องการฐานข้อมูลรุ่นใหม่ GaussDB ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงปัจจัยนี้เนื่องจากตระหนักถึงความจำเป็นของฐานข้อมูลรุ่นใหม่ที่สามารถสนับสนุนแอปพลิเคชัน AI ได้ GaussDB จึงมีความพร้อมที่จะรับมือกับความต้องการของ AI รวมถึงการทำธุรกรรมที่มีปริมาณมากและกระบวนการที่ต้องใช้ข้อมูลอย่างหนัก

แม้จะเพิ่งเปิดตลาดไม่นาน เดวิดย้ำว่าวันนี้ GaussDB ได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตรและลูกค้าหลายราย ถือเป็นการนำผลิตภัณฑ์และบริการที่ทันสมัยที่สุดมาสู่ประเทศไทยผ่านหัวเว่ย คลาวด์ เพื่อทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งมากขึ้นในการให้บริการ

เดวิดมองว่า GaussDB มีหลักการพัฒนาที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีคลาวด์ที่มีระดับชั้นที่แตกต่างกัน โดยชั้นล่างสุดคือโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ลูกค้าสามารถซื้อพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในคลาวด์และปรับใช้ฐานข้อมูลบนชั้นนี้ได้ เมื่อมีการขยับขยาย ก็สามารถเคลื่อนไปสู่ชั้นแพลตฟอร์มของคลาวด์ และจากนั้นจะเป็นชั้นแหล่งข้อมูล การปรับใช้แอปพลิเคชันในคลาวด์สาธารณะเป็นแพลตฟอร์มเซอร์วิสที่เสริมแอปพลิเคชันด้วยบริการคลาวด์ทั้งหมดซึ่งเสริมความแข็งแกร่งให้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย และทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

“เรามีลูกค้าอ้างอิงจำนวนมากในประเทศไทยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและธนาคารที่ได้เลือกใช้ GaussDB ของเราหลังจากทดสอบและทดลองใช้อย่างเข้มงวด”


ล่าสุด หัวเว่ยนำร่องโครงการ GaussDB Pioneer Program ในประเทศไทย โดยแจกสิทธิทดลองใช้งานฟรี 1 เดือน แถมด้วยการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญในช่วง 1 เดือนแรกของการใช้งาน ขณะเดียวกันก็เปิดทางให้พาร์ตเนอร์ร่วมพัฒนาโซลูชันกับหัวเว่ย คลาวด์พร้อมรับโอกาสทางธุรกิจและส่วนลดพิเศษด้วย


***ก้าวใหม่อิมแพกต์แรง

เมื่อถามว่าการเปิดตัว GaussDB นี้จะทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการฐานข้อมูลในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เดวิดแบ่งรับแบ่งสู้โดยบอกว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายโดยการแข่งขันและผู้ให้บริการมีการเปลี่ยนแปลงทุก 3-4 ปี และการเปิดตัว GaussDB เป็นการมุ่งเน้นบริการตลาดและความต้องการของลูกค้าของหัวเว่ย

“เราเพิ่งเปิดตัวไม่นาน จึงไม่สามารถคาดการณ์ส่วนแบ่งตลาดของเราได้ อย่างไรก็ตาม เราจะยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีพลังและประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ และทีมงานที่คงความมุ่งมั่นในการให้บริการลูกค้าของเราอย่างดี พร้อมสนับสนุนคู่ค้าของเราโดยจุดมุ่งหมายของเราคือการส่งเสริมประเทศไทยสู่การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลอย่างแข็งแกร่งและเป็นธรรม”

เดวิดเล่าด้วยว่าก่อนหน้านี้ GaussDB ถูกเปิดตัวในจีนด้วยรูปแบบการทดสอบตลาดและยืนยันความพร้อมของผลิตภัณฑ์ก่อนขยายไปต่างประเทศ ล่าสุดมีการนำไปใช้งานในบริษัทต่างประเทศนอกจีนแล้ว

“การเปิดตัวในต่างประเทศจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับการพิจารณาว่าเป็นโปรแกรมที่สมบูรณ์และประสบความสำเร็จ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกที่ได้รับผลิตภัณฑ์นี้พร้อมกับโปรแกรมต่างๆ เช่น Pioneer Program ซึ่งมอบประโยชน์ให้ผู้ใช้งานตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี การฝึกอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และการแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกับ R&D และผู้ใช้งานระดับโลกของ GaussDB การเปิดตัวนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ลูกค้าและอุตสาหกรรมได้เลือกใช้ฐานข้อมูลรุ่นใหม่ที่ดีกว่า และเรามั่นใจในการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่”

หนึ่งในความต้องการใหม่ที่เดวิดพูดถึง คือกลุ่มสถาบันการเงินที่ต้องการใช้ดาต้าเบสอัจฉริยะในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดย 1 ในกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ GaussDB ที่หัวเว่ยนำมาโชว์ในงาน คือธนาคารชั้นนำของจีน PSBC ที่เปลี่ยนสู่การใช้งานดิจิทัลด้วย GaussDB ทำให้สามารถประมวลผลธุรกรรมมากถึง 2 พันล้านรายการต่อวัน


หัวเว่ยย้ำว่า GaussDB ช่วยเป็นเบื้องหลังที่สนับสนุนการทำธุรกรรม 67,000 รายการต่อวินาทีในช่วงเวลาพีกที่มีการใช้งานสูงสุดสำหรับลูกค้ารายบุคคลมากกว่า 650 ล้านคนในสาขามากกว่า 40,000 แห่ง ความเร็วในการเชื่อมต่อเฉลี่ยถูกเร่งขึ้นเป็น 65 มิลลิวินาที ระยะเวลาประมวลผลเมื่อสิ้นสุดวันลดลงเหลือเพียง 197 นาที และการตั้งค่าดอกเบี้ยรวมใช้เวลาเพียง 25 นาทีเท่านั้น



***จับตาเวอร์ชวลแบงก์ไทย

สำหรับประเทศไทยที่คาดว่าจะเปิดให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในปี 2569 เดวิดแย้มว่าในฐานะพาร์ตเนอร์และผู้จัดหาสินค้าให้ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หัวเว่ยมีการสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ให้บริการกลุ่มนี้หลังจากได้รับใบอนุญาตแล้ว

“โซลูชัน GaussDB ของเราเหมาะสมอย่างดีสำหรับแอปพลิเคชันของธนาคารเสมือน ทำให้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ดำเนินธุรกิจเหล่านี้ ในปัจจุบันเรากำลังร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมและพาร์ตเนอร์เพื่อให้การสนับสนุนที่จำเป็น การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับธนาคาร แต่เราไม่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของมันเนื่องจากเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม เรายืนยันว่าจะสนับสนุนแนวโน้มของการใช้งานธนาคารเสมือนในประเทศไทยอย่างเต็มที่ เป็นการเดินหน้าที่สำคัญสำหรับประเทศ”

ปัจจุบัน ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต และออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือเวอร์ชวลแบงก์ (Virtual Bank) โดยให้กลุ่มธุรกิจที่สนใจเข้ายื่นขออนุญาตจัดตั้งกับธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 19 กันยายน 2567 คาดว่าการเริ่มให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในไทยช่วง 2-3 ปีจากนี้ จะเป็นอีกสถานการณ์ที่มอบโอกาสธุรกิจให้ทั้งหัวเว่ย และอีกหลายบริษัทไอทีทั่วประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น