xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ยโชว์เคสยกโรงงานอัจฉริยะ 5G จีนตั้งไทยฉลุย แนวโน้มชัดทุนต่ำลง-สัญญาณดีตลาดโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หัวเว่ย (Huawei) เผยแนวโน้มต้นทุนพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ 5G ไทยปีนี้ต่ำลงกว่าปีที่แล้ว สาเหตุหลักเป็นเพราะเทคโนโลยีและโซลูชันพร้อมเปิดให้เลือกใช้ได้ง่ายและเร็วขึ้น ล่าสุดแบรนด์จีนสามารถถอดแบบสายการผลิตสุดไฮเทคที่ดำเนินการในแผ่นดินใหญ่ มาตั้งที่ประเทศไทยได้แบบไร้ปัญหา คาดเป็นโรงงานต้นแบบดันตลาด 5G ไพรเวทเน็ตเวิร์กแบบเดดิเคท (Dedicated) ที่มีสัญญาณดีปรับใช้มากขึ้นในประเทศไทย

นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจโซลูชันโรงงานอัจฉริยะ 5G ในประเทศไทย ว่า กำลังมีสัญญาณการเติบโตที่ดีเนื่องจากเทคโนโลยี 5G สามารถสร้างประโยชน์ให้โรงงานได้จริง โดยสถานการณ์ปัจจุบันคือต้นทุนการปรับใช้เทคโนโลยีเริ่มต่ำลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จึงเชื่อมั่นว่าพื้นที่อุตาหกรรมที่หลากหลายในไทยทั้งกลุ่มเหมืองแร่ ท่าเรือ เฮลท์แคร์ และกลุ่มภาคการผลิตอื่นจะเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพและโอกาสสูงมากในอนาคต


“ต้นทุนวันนี้ต่ำลงเพราะความพร้อมของเน็ตเวิร์ก ตอนนี้การที่โรงงานจะเดินเข้ามาและเลือกใช้โซลูชันได้ง่ายขึ้น อีกส่วนคืออุปกรณ์ที่ต้องการใช้มีความครบถ้วนมากขึ้น เช่น ระบบ CPE (Customer Premises Equipment) อุปกรณ์ IoT กล้องวงจรปิด CCTV รวมถึง AGV ทั้งหมดนี้พร้อมและเสถียรพอที่จะออกเป็นโซลูชันได้ โรงงานจึงเดินเข้ามาเลือกใช้ได้มากและง่ายขึ้น ไม่ต้องสร้างใหม่” วรกาน กล่าว “เทคโนโลยีโรงงานอัจฉริยะในอนาคตจะยังวนเวียนที่ 5G เพราะเป็นเทคโนที่เอามาช่วยอุตสาหกรรมได้จริงและหลากหลายอุตาหกรรม ทั้งการใช้งานในเหมืองแร่ พื้นที่ท่าเรือ เฮลท์แคร์ และกลุ่มภาคการผลิตที่เป็นตลาดใหญ่ ซึ่งยังมีศักยภาพและโอกาสมาก โดย Midea เป็นโรงงานที่แสดงว่าเราพร้อมและทำได้จริง และอยากจะให้มีโรงงานลักษณะนี้ในไทยมากขึ้นในอนาคต”

โรงงาน Midea ที่วรกานกล่าวถึงนั้นคือไมเดีย กรุ๊ป (Midea Group) บริษัทใหญ่ในตาราง Fortune Global 500 ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านสัญชาติจีน จากข้อมูล ณ ปี 2564 บริษัทมีจำนวนพนักงานรวมกว่า 150,000 คน ประจำอยู่ทั้งในจีนและต่างประเทศ มีสำนักงานย่อยในจีนทั้งสิ้น 200 สาขา และสำนักงานในต่างประเทศอีก 60 สาขา


Midea เป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย ทั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่าง เครื่องใช้ไฟฟ้าเกี่ยวกับน้ำ อุปกรณ์ทำความสะอาดพื้น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวขนาดเล็ก เครื่องซักผ้า อุปกรณ์ประกอบอาหารขนาดใหญ่ และเครื่องทำความเย็น ทั้งยังเป็นผู้ผลิตเตาไฟฟ้าไมโครเวฟรายใหญ่ที่สุด และเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าแบบ OEM ให้หลายแบรนด์ ขณะเดียวกัน ก็มีดีกรีเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์และระบบหุ่นยนต์สำหรับใช้ในเชิงอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดในโลก



***3 ปีใช้งบโรงงาน 1 พันล้านหยวน

สำหรับโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศ 5G ของไมเดีย ในประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี โรงงานแห่งนี้มีพื้นที่ 208,000 ตารางเมตร เริ่มดำเนินการผลิตไปแล้วบางส่วนตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ตลอด 3 ปีใช้งบกับโรงงานไปมากกว่า 1 พันล้านหยวน บนเป้าหมายการผลิตเครื่องปรับอากาศให้ได้ 4 ล้านยูนิตต่อปี

จุดเด่นของโรงงานแห่งนี้คือการเป็นโรงงานอัจฉริยะที่เชื่อมต่อด้วยระบบ 5G อย่างสมบูรณ์แห่งแรกนอกประเทศจีนของไมเดีย และยังเป็นโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในโรงงานบูรณาการเทคโนโลยีล้ำยุค เช่น 5G, AI, Big Data และแพลตฟอร์ม Cloud เพื่อให้เป็นโรงงานอัจฉริยะต้นแบบภายใต้แนวคิด Industry 4.0


หัวเว่ยเป็นเจ้าภาพทำ 5G ในโรงงานแห่งนี้ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่าย 5G อย่าง AIS และ China Unicom ทำให้เครือข่ายสัญญาณ 5G ครอบคลุมทั่วพื้นที่โรงงาน มีการทดลองใช้งานสัญญาณ 5G+ ใน 15 สถานการณ์ รองรับงานการผลิตแบบอัจฉริยะ และการดำเนินการและซ่อมบำรุง (O&M) แบบดิจิทัล ทั้งยังสามารถแก้ปัญหาสัญญาณรบกวนจากอุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ เช่น รถ AGV และสามารถรองรับข้อกำหนดด้านเครือข่ายแบนด์วิดท์สูงของอุปกรณ์ AI ต่างๆ ได้

น.ส.อัศนีย์ วิภาตเวทย์ หัวหน้างานฝ่ายผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสื่อสารลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า ตลาดไพรเวทเน็ตเวิร์กในไทยมีสัญญาณการปรับใช้งานมากขึ้น โดยโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศ 5G ของไมเดีย ในประเทศไทยถือเป็นยูสเคสที่สำคัญของการใช้ 5G เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ AGV อัตโนมัติ แขนกล การเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และตัดสินใจแบบเรียลไทม์ ขณะเดียวกัน ก็เป็นโรงงานแห่งแรกในไทยที่มีการติดตั้งไพรเวทเน็ตเวิร์กแบบเดดิเคท (Dedicated) ซึ่งไม่แค่ตั้งเสา 5G ในพื้นที่ แต่จัดตั้งบางส่วนของคอร์เน็ตเวิร์กในพื้นที่

“ก่อนนี้เรามีลูกค้าไพรเวท 5G ในไทย แต่นี่คือครั้งแรกที่ตั้งคอร์เน็ตเวิร์กด้วย ตอนนี้โรงงานไทยยังไม่ถึงขั้นจีน บางส่วนมีระดับการทำงานอัตโนมัติอยู่ในแนวคิด Industry 2.0 หรือ 2.5 กำลังจะขึ้น 3.0 เรามีลูกค้าบางส่วนที่กำลังอยู่ในแผน ซึ่งหากเทียบกับจีนที่มาก่อนไทยทั้งเรื่องระบบอัตโนมัติและการใช้ 5G ต้องบอกว่าโรงงานอื่นในไทยมีแนวโน้มที่จะปรับใช้ดิจิทัลและไพรเวทเน็ตเวิร์กมากขึ้น”


ในภาพรวม อัศนีย์มองว่าปัจจัยที่โรงงานต้องพัฒนาระบบอัตโนมัติไม่ได้มีเพียงการปรับใช้ที่ง่ายขึ้นและต้นทุนเทคโนโลยีที่ถูกลง แต่เป็นเพราะโรงงานต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งการผลิตให้มากขึ้นและการจัดการข้อมูลเรียลไทม์เพื่อความผิดพลาดน้อยลง ซึ่งการทำงานบนเครือข่าย 4G เดิมจะไม่สามารถรองรับได้ดีพอ



*** 5 สิ่ง 4G ทำแทนไม่ได้



1 ใน 5 สิ่งที่ทำให้ 4G ต้องหลบทางให้ 5G ทำงานเต็มที่ในโรงงานอัจฉริยะ คือ งานตรวจตราด้วยระบบ 5G AI ข้อมูลระบุว่าสามารถลดข้อผิดพลาดและขั้นตอนการจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพและให้ผลตอบแทน (First Time Yeild) เพิ่มขึ้น 4% โดยในอดีต โรงงานเคยประสบปัญหาอุปกรณ์กว่า 4,000 ชิ้นจำเป็นต้องนำกลับมาแก้ไขใหม่ในสายการผลิตเนื่องจากความผิดพลาด หลังจากมีการตรวจตราด้วยระบบ AI จำนวนชิ้นงานที่ต้องนำกลับมาแก้ไขใหม่ลดลงเหลือเพียง 1,000 ชิ้น และอัตราการแก้ไขชิ้นงานลดลงถึง 75%

งานที่ 2 คือแขนกลหุ่นยนต์ 5G เพราะด้วยเทคโนโลยีแขนกลหุ่นยนต์ 5G พนักงานในสายการผลิตไม่ต้องเสี่ยงทำงานที่อันตราย ซ้ำเดิม และใกล้กับเครื่องจักรที่ร้อน พนักงานสามารถใช้สมาร์ทโฟนสัญญาณ 5G จากระยะไกลในการสตาร์ทการทำงานของแขนกลหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์เหล่านี้สามารถปรับการไหลของวัตถุดิบต่างๆ ในสายการผลิตได้อย่างแม่นยำและเป็นระบบตามความต้องการของผู้สั่งการ พนักงานจึงไม่ต้องทำงานที่เสี่ยงอันตรายด้วยตัวเอง และคุณภาพของสินค้ายังได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น



งานที่ 3 คือรถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ 5G (AGV) เนื่องจากเทคโนโลยี 5G ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของรถ AGV อย่างแท้จริง ขณะที่รถ AGV แบบดั้งเดิมขับเคลื่อนไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ก่อนแล้วร่วมด้วยเครื่องหมายต่างๆ ที่ติดตั้งไว้ ซึ่งในหลายโอกาสยังเป็นการจำกัดของเขตการใช้งานและสมรรถภาพสูงสุดของรถ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี 5G ได้เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพด้านการประมวลผลข้อมูลและการสื่อสารของรถ AGV ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ปลดล็อกให้รถสามารถวางแผนเส้นทางที่ดีที่สุด ด้วยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพแวดล้อมในแบบเรียลไทม์ เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น สามารถระบุตำแหน่งได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพแม้ในสภาพแวดล้อมโรงงานที่มีความซับซ้อนสูง



งานที่ 4 คือห้องปฏิบัติการ 5G เห็นได้จากสายพานการประกอบเครื่องปรับอากาศแต่ละสายจะมีห้องปฏิบัติการ 5G เพื่อจำลองและทดสอบสถานะการทำงานของคอมเพรสเซอร์ที่อยู่ข้างนอก ข้อมูลการทำงานของเครื่องปรับอากาศแต่ละตัวจะถูกรวบรวมไว้ในตัวเครื่องเพื่อส่งต่อไปยังเซอร์เวอร์ผ่านสัญญาณไวไฟ หรือสายเคเบิลเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ ปัญหาคือสัญญาณไวไฟถูกรบกวนสูงและยังเกิดข้อผิดพลาดในการเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่บ่อยครั้ง โซลูชัน 5g backhaul ได้เข้ามาแก้ปัญหาการสูญหายของข้อมูล ทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ต้องการใช้เวลาแฝงต่ำในการรับส่งข้อมูล

งานที่ 5 การรวบรวมข้อมูลด้วย 5G เพราะ 5G สามารถให้การเชื่อมต่อที่มากมายและยังเสถียร อุปกรณ์ CPE แบบไร้สายจึงสามารถใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับเครือข่าย 5G เพื่อรวบรวมข้อมูลอัตราและกำลังการผลิต รวมไปถึงข้อมูลจากเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงงานได้ในแบบเรียลไทม์ พร้อมไปกับการตรวจตรา และวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมา อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อสัญญาณ 5G สามารถตรวจจับและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในโรงงานผลิตได้ในแบบเรียลไทม์ ลดความจำเป็นต้องตรวจสอบโดยแรงงานคน ซึ่งเคยเป็นจุดเจ็บปวดในหลายโรงงานช่วงก่อนหน้านี้




กำลังโหลดความคิดเห็น