ไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความท้าทายในระยะยาว เนื่องด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาช่องว่างทางทักษะ ความล้าหลังในการนำเทคโนโลยีมาใช้ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้นำองค์กรที่มีกลยุทธ์จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โทรคมนาคมและเทคโนโลยีจึงควรมีบทบาทสำคัญในการร่วมยกระดับขีดความสามารถและเร่งผลักดันให้ประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
โดยทรู เตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายนี้ด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบทั้งในด้านการศึกษา การส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัล และการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ดังที่นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และมุมมอง ในบทความพิเศษ “Thought Leadership” จัดทำโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การบ่มเพาะทักษะแห่งอนาคต
ประเทศไทยต้องเร่งลงทุนด้านคน เพื่อยกระดับทักษะและเพิ่มผลผลิตของแรงงานในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี อย่างปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ หรือนาโนและไบโอเทค ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโซลูชันเพื่อยกระดับความสามารถของประเทศไทยในการปรับตัวและรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ขณะที่ประชากรวัยทำงานลดลง
ทรู ได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคมไทย ผ่านการจัดฝึกอบรมทักษะดิจิทัลสำหรับทั้งคนวัยทำงานและนักเรียนนักศึกษา โดย ทรู ดิจิทัล อะคาเดมี ได้จัดการฝึกอบรมทักษะธุรกิจดิจิทัลให้แก่ผู้ที่มีศักยภาพสูง (talent) จำนวนกว่า 30,000 คน ในด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การวิเคราะห์ข้อมูล และการตลาดออนไลน์ ขณะเดียวกัน โครงการทรูปลูกปัญญาสามารถเข้าถึงนักเรียนจำนวนกว่า 34 ล้านคนทั่วประเทศ โดย trueplookpanya.com คลังความรู้คู่คุณธรรม ยังเป็นเว็บไซต์ด้านการศึกษาอันดับหนึ่งของไทยมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562
แม้ที่ผ่านมา ทรูจะให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชนในรูปแบบออนไลน์อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ แต่ความพยายามดังกล่าวไม่อาจทดแทนความมุ่งมั่นที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ อันเป็นวาระจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน การสร้างวัฒนธรรมแห่งการมีส่วนร่วม การเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ
ด้วยเหตุนี้เอง ทรูจึงเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งพันธมิตรภาครัฐและเอกชนในปี 2563 ซึ่งสร้างผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม จากโรงเรียนจำนวน 5,000 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนั้นกว่า 72% สามารถบรรลุเกณฑ์การประเมินคุณภาพในระดับดีถึงดีเลิศ ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้โรงเรียนสามารถบรรลุเกณฑ์การประเมินดังกล่าว โดยนอกเหนือจากการส่งมอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก จำนวน 6,000 เครื่องให้แก่โรงเรียนภายใต้การดูแลของมูลนิธิแล้ว มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ยังได้ฝึกอบรมผู้นําด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ ICT talent จำนวนกว่า 5,000 คน เพื่อเดินหน้าปฏิบัติภารกิจในการถ่ายทอดองค์ความรู้ สนับสนุนให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี นำสื่อและอุปกรณ์ไอซีทีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศยังได้รับการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอีกด้วย
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี จะสามารถทำหน้าที่ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอันจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย แรงสนับสนุนจากพันธมิตรในเครือข่ายและความร่วมมือจากภาครัฐ จะเป็นหัวใจสำคัญในการต่อยอดขยายผลความสำเร็จ และช่วยเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระดับประเทศได้
การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หากเราประสบความสำเร็จในการบ่มเพาะและสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ได้เร็ว สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กล้าคิดกล้าทำ ความท้าทายต่อไป คือการปลูกฝังให้พวกเขาได้ดูแลและส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้คนรุ่นถัดไป เกือบ 1 ใน 3 ของแรงงานไทยนั้นประกอบอาชีพในภาคการเกษตร แต่ด้วยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและสภาพอากาศแบบสุดขั้วกำลังเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงกับการเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด
จุดมุ่งหมายของทรูนั้น คือการนำศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้สังคมไทยสามารถรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผลวิจัยของ GSMA Intelligence ชี้ว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมือถือ (mobile connectivity) จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคธุรกิจการขนส่ง พลังงาน การก่อสร้าง และการผลิตลงกว่า 40% ได้ภายในปี 2573 และด้วยเครือข่าย 4G ของทรูที่ครอบคลุมประชากรไทย 99% ในขณะที่ 5G ครอบคลุมมากกว่า 90% ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของทรู ทำให้เกิดการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ และโรงงานอัจฉริยะ อันจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงทั่วประเทศ
นอกเหนือจากศักยภาพของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมือถือที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ทรูยังเดินหน้าพัฒนาโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT เพื่อลดการใช้พลังงาน โดยที่ผ่านมา เราสามารถลดการใช้พลังงานทั้งในการดำเนินธุรกิจและในอุตสาหกรรมค้าปลีกได้สูงสุดถึง 15% ในขณะที่ภาคการเกษตรยังช่วยลดความจำเป็นในการพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การใช้ยาปฏิชีวนะ และปุ๋ยลงอีกด้วย
ความพยายามทั้งหมดดังกล่าวนี้สามารถลดการใช้พลังงานอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังไม่เพียงพอให้เราบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังคงต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุภารกิจ อันเป็นเหตุผลที่ทำให้ทรูเดินหน้าผลักดันให้เกิดโครงข่ายที่ใช้พลังงานสะอาดในประเทศ โดยยังส่งเสริมให้คู่ค้ากำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการ Science Based Targets initiative (SBTi) พร้อมให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับกระบวนการและประโยชน์จากการรับมือและบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ในฐานะหนึ่งในองค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) ทรูมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ผู้นำองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การลงทุนด้านนวัตกรรม
นอกเหนือจากประเด็นด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายของประเทศไทยคือความจำเป็นในการ “ยกระดับขีดความสามารถการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตที่ฟื้นตัว” (อ้างอิงจากธนาคารโลก) การผนึกศักยภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) IoT และ 5G จะนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อีกมากมาย แต่เราจำเป็นต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิต
แน่นอนว่าการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาล คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยได้ตั้งเป้าดึงดูดเงินลงทุนให้ได้ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีสีเขียว อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้สำเร็จ และการที่บริษัทเทคโนโลยีและผู้ผลิตระดับโลกจะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่าในที่สุดแล้วเราจะประสบความสำเร็จในการสร้างบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทยเสมอไป
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทรูมุ่งมั่นเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นทั้งผู้นำบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ และผู้ขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมของประเทศไทยนั้นทำงานอย่างสอดประสานกัน นวัตกรรมของทรู ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรถึง 120 ฉบับ และเรามีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 50 แห่งในการสนับสนุนงานวิจัยในด้านต่างๆ นอกจากนี้ เรายังได้ก่อตั้งทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัปที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขนาด 230,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการสัญชาติไทย บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก นักลงทุน โครงการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัป และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ไว้ด้วยกัน
ปัจจุบัน มีสตาร์ทอัปเกือบ 3,000 รายที่อยู่ในระบบนิเวศของเรา และโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัป ทรู อินคิวบ์ สามารถระดมเงินทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัปไทย (Venture Capital Funds) อย่างไรก็ดี เราเล็งเห็นว่ายังคงต้องมีการลงทุนอีกมาก และเรามีแผนที่จะสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อเปิดตัวกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัปมูลค่าอย่างน้อย 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเราหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาร่วมมือกับเรา หรือก่อตั้งกองทุนของตนเองขึ้น เพื่อเร่งสร้างการเติบโตด้านดิจิทัลของประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด
แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับโจทย์ท้าทายในด้านการศึกษา การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านสู่ภาคเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ผมยังเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปได้ ด้วยการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และพันธมิตรภาคเอกชน เมื่อเราร่วมมือกัน เราจะสามารถสร้างสรรค์โซลูชันนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ปลอดภัย แข็งแกร่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น และทรู คอร์ปอเรชั่น มีเจตนารมณ์แรงกล้าที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้