'กระทรวงดีอี' เปิดผลงานชิ้นโบแดง 'ปราบโจรออนไลน์' ใน 30 วัน ตามข้อสั่งการนายกฯ ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 'ประเสริฐ' รับปาก แม้ตัวเลขความเสียหายลดลง แต่ยังลุยแก้ไขปัญหานี้ถึงที่สุด
วันนี้ (2 พ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี ว่า ผลการดำเนินงานที่สำคัญในระยะ 30 วัน มีดังนี้
1.การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เร่งรัดจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง ช่วง 1-30 เม.ย.67 โดยมีการจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด 6,458 คน เทียบกับเฉลี่ย 1,000 คนต่อเดือนในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.67 การจับกุมคดีพนันออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นถึง 3,595 คนในเดือน เม.ย.67 จากเฉลี่ย 1,250 คนต่อเดือนในช่วง 3 เดือนแรกของปี และการจับกุมบัญชีม้ายังเห็นการเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากเฉลี่ย 120 คนต่อเดือนเป็น 365 คนในเดือน เม.ย.67
ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย.67 มีการแจ้งความคดีอาชญากรรมเฉลี่ยวันละ 992 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.67 ที่มีการแจ้งความเฉลี่ยวันละ 855 คน ส่วนมูลค่าความเสียหายของคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภทในเดือน เม.ย.67 มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 110 ล้านบาทต่อวัน ลดลงจากเดือน มี.ค.67 ที่มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 149 ล้านบาทต่อวัน
และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้จับกุมเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่หลายรายการ ได้แก่ ปฏิบัติการ “OPERATION CYBER STRIKE” ทลายเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ “huayland.net” พบยอดเงินหมุนเวียนกว่า 5,000 ล้านบาท จับกุมผู้ที่เกี่ยวข้อง 29 ราย จับกุมขบวนการหลอกลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีเชื่อมโยงเว็บพนันออนไลน์ ฟอกเงินและแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล จับกุมผู้ต้องหา 23 คน ยึดทรัพย์สิน 125 ล้านบาท บุกทลายบริษัทบัญชีม้า พบผู้เสียหาย 153 ราย มูลค่าความเสียหายนับพันล้านบาท จับกุมผู้ต้องหาได้ 12 ราย และทลายเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่ พบบัญชีผู้เล่นมากกว่า 100,000 คน เงินทุนหมุนเวียนกว่า 2,000 ล้านบาท
2.กระทรวงดีอี และ สตช. ได้เร่งรัดปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ในช่วงเวลา 1-30 เม.ย.67 โดยกระทรวงดีอีมีการปิดกั้นเว็บไซต์ทุกประเภทถึง 16,158 รายการ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีการปิดกั้นเพียง 625 รายการ โดยเฉพาะเว็บไซต์ประเภทหลอกลวงและพนันออนไลน์ซึ่งมีการปิดกั้นถึง 4,357 และ 6,515 รายการตามลำดับ สะท้อนถึงการกระชับมาตรการต่อต้านอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ ในขณะที่ สตช.ได้ปิดกั้นเว็บไซต์ประเภทหลอกลวงจำนวน 2,828 รายการในช่วงเดือนเดียวกัน นอกจากนี้ กระทรวงดีอีได้ประสานงานกับ google facebook tiktok X line เพื่อช่วยปิดกั้นการใช้โซเชียลที่ผิดกฎหมายอีกด้วย
3.กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินได้เร่งรัดการตรวจสอบและอายัดบัญชีที่ต้องสงสัยและบัญชีม้าในระบบธนาคาร เพื่อตัดตอนการโอนเงินผิดกฎหมาย โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารและตรวจสอบอย่างเข้มข้น นับตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย.67 ได้มีการระงับบัญชีมากกว่า 3 แสนบัญชี โดยศูนย์ AOC 1441 และสำนักงาน ปปง. ได้ปิดบัญชีจำนวน 112,699 และ 318,298 บัญชีตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการใหม่สำหรับการเปิดบัญชีเพื่อป้องกันการใช้บัญชีในทางผิด โดยเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.67 ใช้กระบวนการตรวจสอบลูกค้าอย่างละเอียด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการข้อมูลและบัญชีต้องสงสัย
4.กระทรวงดีอี และ กสทช. ร่วมกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดยกำหนดให้การลงทะเบียนซิมการ์ดต้องผ่านการยืนยันตัวตน ซึ่งจนถึงวันที่ 14 ก.พ.67 ได้มีการยืนยันตัวตนจากผู้ถือซิมแล้วกว่า 2.58 ล้านหมายเลข แต่ยังมี 2.5 ล้านหมายเลขที่ยังไม่ยืนยัน ซึ่งกำลังถูกระงับการใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีการระงับเลขหมายที่มีการโทร.ออกมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน กว่า 36,641 หมายเลข และยังได้ระงับซิมม้าอีกกว่า 800,000 หมายเลข ด้วยการจัดทำฐานข้อมูล SMS และกำหนดมาตรการลงทะเบียนซิมใหม่ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันการใช้ซิมในทางที่ผิด
5.กระทรวงกลาโหม สตช. และ กสทช. ได้ร่วมมือกันเพื่อดำเนินการกวาดล้างเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน การดำเนินการนี้รวมถึงการจับกุมและตัดการใช้งานสถานีและเครื่องมือสื่อสารที่ไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการจับกุมกิจกรรมลักลอบเดินสายอินเทอร์เน็ตผ่านชายแดนไปยังประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 2 เม.ย.67 ที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นการสกัดกั้นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้ระบบสื่อสารนี้
6.การร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ปราบปรามจับกุมช่างต่างชาติที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยร่วมกับ สตช. ดีอี และหน่วยงานเกี่ยวข้องสนับสนุนการจับกุม ปราบปรามชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการชักชวน หลอกลวงคนไทยเพื่อพาไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
7.การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามจับกุม กระทรวงการต่างประเทศให้การสนับสนุนการประสานงานในการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ในประเด็นการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนันออนไลน์ รวมถึงประเด็นปัญหาอาชญกรรมออนไลน์อื่นๆ และ สตช. โดยเฉพาะ ตม. เคร่งครัดการตรวจสอบบุคคลเข้าออก และการเข้าออกผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อลดปัญหาการเดินทางไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการขนเงินออกนอกประเทศ
8.กระทรวงดีอีได้ร่วมมือกับสำนักงาน ก.ล.ต.ในการปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและป้องกันการนำทรัพย์สินจากการกระทำผิดไปฟอกเงิน นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีใบอนุญาต และได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงและการฟอกเงินผ่านแอปพลิเคชัน "SEC Check First"
9.บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยให้ศูนย์ AOC 1441 ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มหลักในการรับและแลกเปลี่ยนข้อมูล หน่วยงานที่เข้าร่วม ได้แก่ สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การบูรณาการข้อมูลนี้ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยคาดว่าจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเหล่านี้ในต้นเดือน พ.ค.67
10.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำลังเร่งดำเนินการจัดทำประกาศควบคุมธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์และเรียกเก็บเงินปลายทาง เพื่อลดปัญหาการหลอกลวงในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ คาดว่าประกาศนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.67 และจะช่วยลดจำนวนคดีหลอกลวงได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. และหน่วยงานอื่นๆ ได้ร่วมมือกันปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพย์สินดิจิทัลอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงการประสานงานเพื่อปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงาน ปปง. สตช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังพิจารณาแนวทางในการคืนเงินจากบัญชีม้าที่อายัดได้ให้ผู้เสียหายอีกด้วย
สำหรับแนวทาง/มาตรการสำคัญในระยะต่อไป ได้แก่ 1.การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ 2.การป้องกันการเปิดบัญชีม้า ซิมม้า และกวาดล้างจับกุมผู้เกี่ยวข้อง 3.การแก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ โดยเฉพาะกรณี COD 4.การเร่งรัดคืนเงินและเยียวยาให้ผู้เสียหาย 5.การเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ให้ทางการเงินต่อปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 6.การรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างภูมคุ้มกันอาชญากรรมออนไลน์ แบบเจาะจงเรื่องการหลอกลงทุน การหลอกหารายได้ และหลอกแก๊งคอลเซนเตอร์ และ 7.การเร่งรัดการแก้กฎหมาย
"ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา โดยผลงานที่ได้จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในครั้งต่อไป แม้ตัวเลขความเสียหายจะลดลงแต่จำนวนผู้เสียหายยังคงมีอยู่ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามแผนและมาตรการที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนและแก้ไขปัญหานี้ให้ถึงที่สุด" นายประเสริฐ กล่าว