xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผน ‘Pro Inside’ เจาะตลาดไอทีภาครัฐ เร่งศึกษาซูเปอร์แอป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังการแยกโครงสร้างในการทำธุรกิจของ สกาย กรุ๊ป (SKY Group) ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยที่ SKY ICT จะเน้นทำตลาดเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินเป็นหลัก พร้อมกับแยกบริษัทย่อยออกมาเป็นโปร อินไซด์ (Pro Inside) ดูแลธุรกิจไอทีภาครัฐ และเมทเธียร์ (Metthier) ดูแลในฝั่งของการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอาคารสถานที่ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

ความคืบหน้าล่าสุดของโปร อินไซด์ คือการเข้ายื่นไฟลิ่งขาย IPO 140 ล้านหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) ที่คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3 เพื่อระดมทุนมาใช้เป็นหลักค้ำประกันกับสถานบันการเงินในการขอออกหนังสือค้ำประกันโครงการ และเงินทุนหมุนเวียนโครงการของลูกค้าภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ทำให้ปัจจุบัน นอกจาก ‘สกาย ไอซีที’ ที่ดูแลหลักๆ ในเรื่องของอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยว ที่ตั้งเป้าว่าในอนาคตรายได้จากธุรกิจในไทยจะมีสัดส่วนราว 30% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 70% จะมาจากการบุกตลาดในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาตลาด และมั่นใจว่าจะเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีไทยที่เจาะตลาดต่างประเทศในภาคการบิน และการท่องเที่ยวได้

เมื่อ ‘สกาย ไอซีที’ มีแผนการทำธุรกิจที่ชัดเจน การแยกบริษัทอย่าง ‘โปร อินไซด์’ ออกมาเพื่อดูแลธุรกิจไอทีที่เกี่ยวเนื่องกับภาครัฐ และเอกชนในประเทศไทย ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในยุคของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ด้วยการนำความเชี่ยวชาญในเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และสมาร์ท โซลูชัน โดยเฉพาะ AI และหุ่นยนต์

ขณะเดียวกัน SKY Group ยังเข้าไปถือหุ้นในพันธมิตรทางธุรกิจที่ดูแลไอทีโซลูชันรายใหญ่ในไทยอีก 2 ราย อย่างเทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส (TKC) และแอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (AIT) ที่จะช่วยเสริมให้การทำธุรกิจไอทีมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

เบญญาภา เฉลิมวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปร อินไซด์ จำกัด กล่าวว่า ความเชี่ยวชาญของโปร อินไซด์ จะเป็นการให้บริการเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับแพลตฟอร์ม อย่างการทำระบบบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้บริการแก่ประชาชน โดยเฉพาะการนำ AI มาใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์

ในขณะที่ TKC และ AIT จะมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างออกไป อย่าง TKC จะเน้นให้บริการไอทีและโซลูชันที่เกี่ยวเนื่องกับโทรคมนาคมเป็นหลัก ขณะที่ AIT จะดูแลไอทีที่เกี่ยวกับเครือข่ายแบ็กโบนเป็นหลัก จึงกลายเป็นว่าไม่ได้มีส่วนที่ทับซ้อนกัน


สำหรับแผนในปีนี้ของโปร อินไซด์ กำลังอยู่ในช่วงศึกษาแผนงบประมาณปี 2567 ของภาครัฐอยู่ ที่จะเข้าไปร่วมประมูลโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับไอทีโซลูชัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้อมูล จนถึงการให้บริการในเรื่องของคอลเซ็นเตอร์ ที่กำลังพัฒนานำ AI มาช่วยเพื่อให้บริการ

“ปัญหาหลักของบริการเกี่ยวกับคอลเซ็นเตอร์ในเวลานี้ โดยเฉพาะในกลุ่มของบริการภาครัฐคือขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากต้องรองรับอารมณ์ของผู้บริโภค ในขณะที่มูลค่าตลาดใหญ่ถึง 4,000 ล้านบาท จึงเป็นธุรกิจที่คิดว่าจะนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยได้”

นอกจากนี้ การนำ AI มาใช้ยังสามารถพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมในแง่ของการให้บริการภาษาอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทย และช่วยรองรับกับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงการเข้าไปติดตั้งระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) หรือ Health Link ของ สปสช. ที่ขยายโครงการ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ให้ครอบคลุมเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยตามแผนคือทำให้สามารถใช้งานทั้ง 13 เขตสุขภาพของไทย หรือเรียกว่าเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลทั่วประเทศ

***เร่งศึกษา ‘ซูเปอร์แอป’


อีกหนึ่งไอทีโซลูชันที่โปร อินไซด์ สนใจ และคิดว่าจะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศคือการดำเนินการเรื่องซูเปอร์แอปที่จะนำเข้ามาให้บริการประชาชน และเพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้ให้ระบบการทำงานของภาครัฐ เพียงแต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีแนวทางในการให้บริการที่ชัดเจน

“ในความคิดเห็นของการทำซูเปอร์แอป โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล แต่ละกระทรวงควรที่จะมีซูเปอร์แอปแยก เพื่อรองรับการบริการในด้านต่างๆ ไม่ควรนำมารวมศูนย์ไว้ในที่เดียว เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านภัยไซเบอร์ได้”


เนื่องจากถ้ามีการเชื่อมโยงข้อมูล จะทำให้ ‘ซูเปอร์แอป’ กลายเป็นเป้าหมายในการโจมตี เพราะมิจฉาชีพรู้แล้วว่าข้อมูลคนไทยทั้งประเทศอยู่ในแอปนี้ ถ้าเจาะได้ หรือมีช่องโหว่ให้เข้าไปดักข้อมูลระหว่างการเชื่อมต่อไปยังกระทรวง หรือระหว่างคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) จะทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลได้

ดังนั้น เชื่อว่าแต่ละกระทรวงควรที่จะมีแนวทางในการให้บริการซูเปอร์แอปเฉพาะในขอบเขตที่เกี่ยวข้อง จะทำให้สามารถให้บริการประชาชนได้ตรงจุด และขณะเดียวกันก็ช่วยให้ความมั่นใจประชาชนในแง่การป้องกันข้อมูลรั่วไหลด้วย

*** ‘เมทเธียร์’ หันเจาะโรงพยาบาล


อีกหนึ่งบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจภายใต้ SKY Group หนีไม่พ้น ‘เมทเธียร์’ ซึ่งในปีที่ผ่านมา เข้าซื้อกิจการของ รักข์สยาม (SAMCO) มา ทำให้มีบุคลากรมาช่วยดูแลการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะแบบครบวงจรได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

จุดเด่นของเมทเธียร์ คือการนำเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด และเซ็นเซอร์ตรวจจับต่างๆ มาผสานกับ AI เพื่อทำให้การดูแลรักษาความปลอดภัยและการทำความสะอาดมีความอัจฉริยะมากยิ่งขึ้น เสริมจากการทำ Smart Building ของแพลตฟอร์มที่ SKY ICT พัฒนาขึ้นมา

ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมทเธียร์ จำกัด ให้เหตุผลถึงการปรับเป้าหมายรายได้ในปีนี้ที่เดิมตั้งไว้ราว 1,500 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 1,800 ล้านบาทว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาคธุรกิจให้ความสนใจในธุรกิจหุ่นยนต์ทำความสะอาดอัจฉริยะ ที่ปัจจุบันเริ่มนำไปให้บริการแล้วในศูนย์ราชการ และกำลังขยายไปยังกลุ่มโรงพยาบาล

“ตอนนี้โรงพยาบาลรามคำแหงกำลังเริ่มนำหุ่นยนต์ทำความสะอาดไปใช้งานแล้ว และมีแผนที่จะขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือ ซึ่งจุดที่ทำให้บริการของเมทเธียร์ แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น คือมีการนำแพลตฟอร์มเข้าไปติดตามการทำงาน ทั้งบุคลากร และหุ่นยนต์ ทำให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนจะมีความคุ้มค่า และช่วยรักษาความสะอาดได้”

จากการเข้าไปทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ทำให้ เมทเธียร์ ยกระดับบริการหุ่นยนต์ทำความสะอาดเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากด้วยมาตรฐานสาธารณสุขในโรงพยาบาล นับเป็นหนึ่งในความท้าทายของธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว ทั้งนี้ การที่เมทเธียร์ เริ่มมีลูกค้าให้ความสนใจกับการนำหุ่นยนต์ทำความสะอาดไปใช้งานทำให้ต้องมีการลงทุนหุ่นยนต์เพิ่มเติมอีก 50 ตัว พร้อมกับปรับเปลี่ยนรูปแบบสัญญาเป็นอย่างต่ำ 2 ปี เพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุน

ปัจจุบัน เมทเธียร์ได้ขยายฐานลูกค้าจากที่เน้นรัฐบาล และ 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม ที่เน้นเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย ต่อเนื่องด้วยโครงการมิกซ์ยูส โรงพยาบาล สถาบันทางการเงิน และสถานศึกษา เพิ่มเป็น 7 กลุ่ม จากห้างสรรพสินค้าที่นำเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดมาช่วยในการคัดกรองบุคคลต้องสงสัย รวมถึงการนับจำนวนลูกค้า และกลุ่มอาคารสำนักงาน ในเรื่องของการบริหารจัดการการเข้าออกอาคาร อย่างการจัดการป้ายทะเบียนรถ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น