คนกรุงดี๊ด๊า! ‘BDI’ ผนึก ‘กรุงเทพมหานคร’ ใช้ Health Link เชื่อมข้อมูลสุขภาพกับคลินิกชุมชนอบอุ่น-ร้านยาคุณภาพคาดพ.ค.67 นี้ เปิดนำร่องครอบคลุม 10 เขต ก่อนขยายพื้นที่ให้บริการครบ 7 โซนสุขภาพทั่ว กทม.
‘Health Link’ เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ที่ปลุกปั้นโดยสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อให้แพทย์สามารถเข้าถึงประวัติการรักษาและข้อมูลสุขภาพของคนไข้ได้ ไม่ว่าจะย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลไหน ไม่เพียงช่วยให้การวินิจฉัยและการตัดสินใจรักษาเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ แต่ยังช่วยให้คนไข้มีชีวิตดี๊ดี ไม่ต้องเสียเวลาไปขอข้อมูลจากโรงพยาบาลก็สามารถเข้าถึง และควบคุมการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตัวเองได้ ทั้งยังมั่นใจได้ว่า กรณีฉุกเฉินข้อมูลเหล่านี้จะช่วยรักษาชีวิตได้อีกด้วย
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล หรือ อ.ป๋อม ผู้อํานวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI เล่าว่า ตอนนี้มีโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ เข้าร่วมโครงการแล้วราว 300 แห่ง แต่เนื่องจากปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขตะลุมบอนทำของตัวเองอย่างหนัก เราจึงถอยมาทำในเขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร ดังนั้นโรงพยาบาล 100 แห่ง ที่ไล่ขึ้นมาตอนท้ายจึงเป็นของกรุงเทพมหานครเป็นหลัก และกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ
"หาก Health Link ได้รับการพัฒนาให้เป็นกลไกเชื่อมต่อแบบนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะสามารถทำหน้าที่เป็นฮับกลางเดียวที่ช่วยให้เราสามารถเชื่อมต่อข้อมูลไปยังฮับนั้นได้ทันที ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องไปนั่งค้นข้อมูลรายโรงพยาบาล และถือว่าเป็นแผนการที่ดี เนื่องจากเราไม่ได้เป็นศูนย์กลางการรวมอำนาจ ต่างจากโครงการหมอพร้อม ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำได้เพราะเป็นนิติบุคคลเดียว แต่ Health Link ที่รวมหลายหน่วยงาน อย่างมหาวิทยาลัย และกรุงเทพมหานคร เป็นคนละนิติบุคคล จึงมีความซับซ้อนในการรวมอำนาจ
ดังนั้น จึงมองว่าการทำให้ระบบเชื่อมต่อและมองเห็นกันได้จะเป็นกลไกที่ดีและยั่งยืน อย่างที่กระทรวงกลาโหมทำแม้ไม่มีฮับกลาง แต่เขาปรารถนาที่จะรวมศูนย์กลางโรงพยาบาลกองทัพ ไปยังสำนักปลัดกระทรวง ซึ่งเราสามารถสร้างฮับให้ได้ทันที และไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่คลาวด์เพิ่ม เพราะการขยายตัวไม่รวดเร็วมาก" รศ.ดร.ธีรณี ระบุ
ปรับทัศนคติอุปสรรคสกัดดาวรุ่ง
แม้ซอฟต์แวร์ของโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน ก็ไม่ถือเป็นปัญหาใหญ่ แค่ทำให้เราต้องทำงานซ้ำหลายครั้ง แล้วไหนจะงานประสานกับแต่ละนิติบุคคลที่ต้องใช้พลังงานอย่างมากก็ไม่เป็นอุปสรรค แต่คือส่วนหนึ่งของงานที่เราต้องจัดการให้ได้
"อุปสรรคสำคัญของโครงการ Health Link คือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของแพทย์ เนื่องจากแพทย์คุ้นเคยกับการรักษาแบบเดิมเจอคนไข้รายละ 5 นาที และไม่ต้องเปิดดูข้อมูลการรักษาของโรงพยาบาลอื่น แต่การใช้บัตรประชาชนใบเดียวจะทำให้ประวัติการรักษาไม่ปรากฏบนหน้าจอของแพทย์เพียงคนเดียวอีกต่อไป จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของแพทย์ ซึ่งต้องใช้เวลาและเริ่มต้นจากโรงเรียนแพทย์ เพื่อรอแพทย์รุ่นใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องเปลี่ยนวิธีคิดของประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการพกบัตรประชาชน และการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อให้โครงการ Health Link สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ" รศ.ดร.ธีรณี กล่าว
จับมือ กทม.เชื่อมข้อมูลสุขภาพคนกรุง
ซึ่งล่าสุดจับมือ ‘กรุงเทพมหานคร’ ลงนาม MOU ในโครงการ Health Link เพื่อให้คนกรุงเข้าถึงระบบสาธารณสุขแบบไร้รอยต่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการลดภาระค่าใช้จ่ายของคนไข้ในการตรวจวินิจฉัยซ้ำซ้อนเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องทันท่วงทีที่สำคัญกรุงเทพมหานครยังได้ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมข้อมูลสุขภาพเพื่อวางแผนบริหารจัดการเมืองเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อีกด้วย
"ปัจจุบัน Health Link เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปแล้ว 111 แห่ง เช่น โรงพยาบาลในสังกัดสำนักอนามัย 69 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ 11 แห่ง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนอีก 20 แห่งซึ่งเป็นโรงพยาบาลและคลินิกบางส่วนคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ และมีแผนขยายการเชื่อมโยงไปยังคลินิกชุมชนอบอุ่นและร้านยาคุณภาพที่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรม และขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้แล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ ซึ่งล่าสุดมีคลินิกชุมชนอบอุ่น 50 แห่ง และร้านยาคุณภาพอีก 400 แห่งสมัครร่วมโครงการแล้ว ส่วนคลินิกหรือร้านยาที่สนใจแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ สปสช.ค่อยว่ากันในปีงบประมาณหน้า แต่เชื่อว่าจะทำได้เร็วเพราะซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่มีไม่กี่ยี่ห้อและยี่ห้อที่นิยมมากที่สุดกินส่วนแบ่งทางการตลาดไปแล้วกว่า 60% ของพื้นที่ กทม." รศ.ดร.ธีรณี กล่าว
นำร่อง 10 เขตลองใช้ พ.ค.นี้ก่อนใคร
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช หรือ อ.แก้ว รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จะเริ่มใช้ระบบ Health Link ในพื้นที่นำร่อง Bangkok Health Zoning 3 ได้แก่ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น และร้านยาคุณภาพ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 10 เขต ได้แก่ ปทุมวัน สาทร บางรัก วัฒนา คลองเตย พระโขนง ยานนาวา ทุ่งครุ บางคอแหลม และราษฎร์บูรณะ คาดว่าจะเปิดใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในพื้นที่นำร่องดังกล่าวได้ภายในเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.67 นี้ และขยายผลต่อให้ครบทั้ง 7 โซนสุขภาพของกรุงเทพมหานครต่อไป
"ลำพังปกติการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขยุ่งยากมากพอแล้ว จะดีกว่าไหมถ้าเราจะตัดความวุ่นวายใจให้ประชาชนไม่ต้องกังวลจำได้หรือจำไม่ได้ว่าตัวเองรักษาหรือกินยาอะไรอยู่ให้คุณหมอที่รักษาเราในทุกช่วงชีวิตไม่ว่าจะอยู่ปากซอยบ้าน ขยับไปอีก 2-3 กม. เป็นศูนย์บริการสาธารณสุขจนถึงโรงพยาบาลอีก 10 กม. มีข้อมูลเราในมือตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อส่งทอดต่อกัน ซึ่งนั่นหมายความว่า ในอนาคตหากเราไปอยู่ที่อื่นที่ไกลบ้านจริงๆ ข้อมูลก็จะยังติดตัวตามเราไป
ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกสังกัด ช่วงเปลี่ยนผ่านอาจมีขั้นตอนกระบวนการบางอย่างที่กวนใจอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นการทำงานจะเรียบง่ายและเร็วขึ้น ทำให้การทำงานในภาพรวมไม่เพิ่มขึ้น แต่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นแทน ซึ่งกว่า 1 ปี ที่ร่วมทดลองทดสอบในระบบปิดกับ BDI จนเชื่อมั่น แต่ก็ยังไม่กล้าที่จะเปิดใช้ระบบ Health Link ครบทั้ง 7 โซนสุขภาพพร้อมกัน เพราะเรายึดเรื่องความปลอดภัยและมาตรฐานของข้อมูลเป็นที่ตั้ง จึงจำเป็นต้องจำกัดพื้นที่ เพื่อให้สามารถเห็นหน้างานจริง มีการประมวลผลข้อมูลและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนมั่นใจว่าระบบมีความปลอดภัยสูงสุดจึงจะขยายพื้นที่ในการเปิดให้บริการต่อไป
ดังนั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเวลาที่เราได้ใช้ร่วมกันมานี้แม้จะมีจุดบกพร่องอยู่บ้างก็จริงแต่เราต้องยอมรับและเข้าใจว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เรามีความแข็งแกร่งมากขึ้นทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นในวันข้างหน้า" รศ.ดร.ทวิดา กล่าว