ยูไอพาธ (UiPath) ประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ปัญญาประดิษฐ์ใหม่รองรับภาษาไทยบนเวทีงานประชุมสุดยอดระบบอัตโนมัติพลัง AI กลางกรุงเทพฯ จัดเต็มโมเดลภาษาขนาดใหญ่ หรือ LLM ชุดล่าสุดที่จะช่วยให้องค์กรไทยใช้ประโยชน์จาก AI และระบบอัตโนมัติเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ ยืนยันพร้อมลงทุนกระตุ้นตลาดไทยที่มีชุมชนนักพัฒนา UiPath เกิน 3,000 คนบนโลกโซเชียล
เจส โอเรียลลี (Jess O'Reilly) รองประธานภาคพื้นเอเชีย กลุ่าวถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า UiPath เล็งเห็นศักยภาพที่สูงมากของประเทศไทย เนื่องจากหลายองค์กรตื่นตัวและมองการปรับใช้เทคโนโลยี AI เป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของธุรกิจโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เบื้องต้น มั่นใจว่า UiPath LLM ชุดใหม่จะช่วยให้องค์กรปลดล็อกและรับประโยชน์สูงสุดของ GenAI ขณะที่เครื่องมือ UiPath OCR ที่รองรับภาษาไทย จะช่วยให้องค์กรของไทยสามารถใช้การประมวลผลเอกสารอัจฉริยะที่แม่นยำมากขึ้น
“นอกจากธนาคาร บริษัทประกันภัย และบริษัทโทรคมนาคม ตลาดไทยที่มีแนวโน้มเติบโตน่าสนใจคือภาคการผลิต อุตสาหกรรม และภาครัฐที่ได้รับเอกสารสู่ระบบในจำนวนมาก” เจสกล่าว “AI ในผลิตภัณฑ์ของ UiPath สามารถออกเอกสารจำนวนมากในเวลารวดเร็ว โดยจะอ่านเอกสารแล้วดำเนินการต่อได้เป็นขั้นตอนที่เหนือกว่าระบบอัตโนมัติ หรือ RPA ทั่วไปอย่างถูกต้องมากขึ้น ผิดพลาดน้อยลง และเร็วกว่าเดิม”
RPA ที่เจสกล่าวถึงคือซอฟต์แวร์โรบอทที่เลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์ โดยที่มนุษย์เป็นผู้ออกแบบกระบวนการและขั้นตอนการตัดสินใจต่างๆ เพื่อให้ระบบทำงานซ้ำวนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบตลอด 24 ชั่วโมง จุดนี้เจสย้ำว่า UiPath ไม่ใช่บริษัท RPA ธรรมดา แต่เป็นแพลตฟอร์มที่มองตัวเองเป็นจุดเชื่อมต่อกับบริษัทเทคโนโลยีหลากหลาย ไม่ใช่คู่แข่ง โดยเป้าหมายการพัฒนาของบริษัทคือการสร้างระบบเปิดที่มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรมากมาย ส่งให้ UiPath เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ AI และระบบอัตโนมัติระดับองค์กร ที่องค์กรระดับโลกหลายแห่งใช้งาน เช่น JP Morgan Chase, Applied Materials และ NASA โดยในประเทศไทย ลูกค้าของ UiPath ได้แก่ อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย และเอไอเอส
ก่อนหน้านี้ UiPath ได้รายงานผลประกอบการว่ามีรายรับรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 405 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสามารถทำกำไรแบบ GAAP ได้ในช่วงไตรมาสแรกด้วยฐานะบริษัทมหาชน สถิติล่าสุดคือองค์กรมากกว่า 1,500 แห่งกำลังใช้งาน UiPath โดยมีการสร้างผลลัพธ์มากกว่า 7,000 รายการต่อสัปดาห์
ล่าสุด UiPath กำลังสร้างแรงผลักดันด้าน AI ในประเทศไทย มีการจัดงานประชุมสุดยอดระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI หรือ AI-Powered Automation Summit ที่กรุงเทพฯ งานดังกล่าวเน้นย้ำและนำเสนอให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนศักยภาพของ AI ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ด้วยการบูรณาการ AI เข้ากับระบบอัตโนมัติเพื่อสามารถดำเนินการปฏิบัติและสร้างแรงกระเพื่อมได้ชัดเจน ผ่านพันธมิตร 5 เจ้าที่เป็นหัวหอกในการทำตลาดไทยของ UiPath ได้แก่ Automat, Fujitsu, G-able, MFEC และ SimplifyNext
1 ใน 2 สิ่งหลักที่ UiPath ประกาศในงาน คือ LM ชุดใหม่ ได้แก่ ด็อคพาธ (DocPATH) และคอมม์พาธ (CommPATH) ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถใช้งาน LLM สำหรับงานเฉพาะด้านในส่วนของการประมวลผลเอกสารและการสื่อสาร โดย DocPATH และ CommPATH จะมีเครื่องมือปรับแต่งโมเดล AI ให้สอดรับกับความต้องการธุรกิจที่แน่ชัดได้ดีกว่าโมเดล GenAI สำหรับการใช้งานทั่วไป อย่างเช่น GPT-4 ซึ่งมีประสิทธิภาพและความแม่นยำน้อยกว่า เบื้องต้น DocPATH และ CommPATH จะเปิดให้ทดลองใช้งานในรูปแบบของ Public Preview ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2024 เพื่อให้โมเดลดังกล่าวเข้าใจเอกสารและข้อความหลากหลายประเภท
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัว UiPath Extended Languages OCR ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเฟรมเวิร์ก UiPath Document Understanding ที่รองรับภาษาไทยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยปัจจุบัน OCR สามารถแปลงเอกสารเป็นรูปแบบดิจิทัลได้มากกว่า 200 ภาษา รวมถึงภาษาไทย เวียดนาม ภาษาหลักทั้งหมดของอินเดีย และภาษาที่ใช้ตัวอักษรซีริลลิกและกรีกซึ่งจะช่วยให้ขั้นตอนการดึงข้อมูลจากเอกสารกลายเป็นเรื่องง่าย ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างเวิร์กโฟลว์ครั้งเดียวเพื่อดึงข้อมูลจากเอกสารหลากหลายประเภท
การเปิดตัว OCR ภาษาไทยนั้นเป็นสิ่งที่นักพัฒนาไทยรอคอย เนื่องจากที่ผ่านมา หลายองค์กรมีการเขียนโค้ดที่ดึงเทคโนโลยีของ UiPath ให้มาช่วยในงานที่ทำซ้ำบ่อยครั้ง ทำให้มีการใช้ AI ช่วยอ่านภาพหรือไฟล์ PDF เพื่อนำมาบันทึกบัญชีหรือดำเนินการในรูปแบบอัตโนมัติอื่นๆ โดย UiPath เรียกเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับอ่านไฟล์รูปภาพ PDF ที่เป็นตัวอักษรภาษาต่างๆ หรือข้อมูลในตารางว่า Optical Character Recognition หรือ OCR ซึ่ง UiPath มี OCR Engine ให้ผู้ใช้เลือกได้ตามคุณภาพของการอ่านที่ต้องการแบบหลายค่ายทั้งที่ฟรี และเสียค่าบริการ จากการสำรวจพบว่า OCR Engine ที่เคยนิยมนำมาอ่านภาษาไทยนั้นมีชื่อว่า Google Cloud Vision ซึ่งนับจากนี้ผู้ใช้ UiPath จะสามารถใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ UiPath Extended Languages OCR ที่สามารถอ่านได้ค่อนข้างถูกต้องทั้งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไทย หากเอกสารมีความคมชัด
โทเมอร์ โฮ (Tomur Ho) ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมประจำภาคพื้นเอเชีย มั่นใจว่า UiPath จะมีบทบาทและแรงกระเพื่อมต่อการผลักดันระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI ทั่วโลก และการเติบโตของแพลตฟอร์มระบบอัตโนมัติทางธุรกิจทำให้ AI ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น สำหรับการรองรับภาษาไทยนั้นยังจำกัดที่ OCR โดย DocPATH และ CommPATH ยังถูกดีไซน์ให้ใช้กับภาษาอังกฤษ
“2 โปรดักต์ใหม่ยังถูกดีไซน์ให้ใช้กับภาษาอังกฤษ การรองรับภาษาไทยอยู่ในฟีเจอร์ OCR ทำให้อ่านรูปภาพที่มีข้อความภาษาไทยได้ เรากำลังอยู่ระหว่างการลงทุนเพื่อขยายความสามารถให้ 2 โปรดักต์เข้าใจภาษาไทยมากขึ้น” Tomur กล่าว “ความถูกต้องของการอ่านภาษาไทยยังบอกเป็นเลขเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่ไม่ว่าโปรแกรมตัวไหนก็ตาม UiPath จะเปิดให้มีมนุษย์อยู่ในวงจรการพัฒนา สามารถแก้ไขได้ และมีบุคลากรตัวแทนทุกอุตสาหกรรม ร่วมพัฒนาเพื่อเพิ่มระดับความถูกต้อง ซึ่งความถูกต้องที่เพิ่มขึ้นนั้นเห็นชัดมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา”
UiPath ยังเน้นจุดเด่นเรื่องการใช้งานข้อมูลอย่างมีจริยธรรม ระบบมี AI trust layer ทำให้แน่ใจว่าการใช้ข้อมูลจะเป็นไปตามข้อกำหนดและถูกกฎหมาย โดยมีฟังก์ชันควบคุมการใช้งานข้อมูลระดับสูง ทำให้ธุรกิจกำหนดได้ว่าต้องการให้ข้อมูลใดถูกมองเห็น ถือเป็นแพลตฟอร์มที่โปร่งใสและเปิดเผย
สำหรับงาน UiPath AI-Powered Automation Summit ในไทยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโรดโชว์ที่จัดขึ้นใน 15 เมืองสำคัญทั่วเอเชีย-แปซิฟิก และญี่ปุ่น ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ตอกย้ำว่า UiPath กำลังเดินหน้าขยายตลาดเอเชียอย่างจริงจังตลอดปี 2024