xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.-สกมช.ใช้ศูนย์ 'USO NET' 2,184 แห่ง ให้ความรู้ภัยไซเบอร์ประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. ผนึก สกมช. เตรียมใช้ศูนย์ 'USO NET' 2,184 แห่ง ให้ความรู้ภัยไซเบอร์ประชาชน คาดมีผู้เข้าร่วมหลักแสนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.67 นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่าง สำนักงาน กสทช. และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ว่า สำนักงาน กสทช. มุ่งมั่นขยายการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ประเทศไทย โดยเน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพการแข่งขันต่ำ มีการพัฒนาคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในปีนี้ กสทช. และ สกมช. ร่วมจัดกิจกรรม "รู้เท่า รู้ทัน รู้ป้องกันภัยไซเบอร์" โดยใช้ศูนย์อินเทอร์เน็ตสาธารณะ หรือศูนย์ USO Net 2,184 แห่งทั่วประเทศ เป็นสถานที่ฝึกอบรมเรื่องการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ โดยคาดว่าจะเสริมสร้างทักษะป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้าใจง่ายให้ประชาชนและเด็กนักเรียน เน้นให้ผู้ใช้งานค้นหาช่องโหว่ตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากที่สุดจำนวน 8 ครั้ง คาดว่าจะสามารถให้ความรู้ประชาชนและเด็กนักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์ได้

"สำนักงาน กสทช.และ สกมช.ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เปราะบาง ประชาชนในพื้นที่ชายขอบและพื้นที่ห่างไกล เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน" นายต่อพงศ์ กล่าว


ด้าน ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันและมีบทบาทสำคัญในการทำงานภาครัฐและเอกชน แต่มีความท้าทายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์และอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น ความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช.กับ สกมช.จึงเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อยกระดับทักษะทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประชาชนคนไทยมีความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ขณะที่ พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า โครงการใหม่นี้ได้นำแพลตฟอร์ม NCSA MOOC มาใช้เพื่อเผยแพร่ความรู้และทักษะด้านไซเบอร์ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง มุ่งหวังให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยข้อมูลในแพลตฟอร์มจะประกอบด้วยวิธีการป้องกันตนเองจากการถูกหลอกลวง และเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ข้อมูล 20 คดีที่ถูกแจ้งร้องเรียนมากที่สุด แบ่งเป็นภัยไซเบอร์เกี่ยวกับระบบที่ทำให้ข้อมูลรั่วไหล และภัยไซเบอร์ระดับบุคคล เช่น การซื้อของแล้วไม่ได้ของ ส่วนตัวชี้วัดผลสำเร็จด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผู้ที่ได้เรียนรู้จากแพลตฟอร์ม เป้าหมายคือส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิตออนไลน์อย่างปลอดภัย คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมและได้รับความรู้มากกว่าหลักแสนคนในทุกภูมิภาคของประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น