xs
xsm
sm
md
lg

NT วิ่งสู้ฟัด สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



NT ปี 66 ขาดทุนเหลือ 77.6 ล้านบาท โชว์แผนธุรกิจปี 67 หันพึ่งรายได้กลุ่มดิจิทัล หั่นเงินลงทุน ลดกำลังคน สู้กลับคาดการณ์ขาดทุนซ้ำ 2,945 ล้านบาทจากงบเออร์รี่ รีไทร์ หวังปี 70 ทำกำไรพันล้าน บุคลากรเหลือ 7,000 คน

เอาใจช่วยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่สถานการณ์ไม่สู้ดีนัก หลัง พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ NT เปิดตัวเลขผลประกอบการปี 2566 ที่ประสบกับการขาดทุน 77.6 ล้านบาท แม้รายได้รวมอยู่ที่ 82,034 ล้านบาท แต่ลดลงราว 10% จากปีก่อนหน้า ส่วนค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่น้อยอยู่ที่ 80,906 ล้านบาท และเมื่อหักงบประมาณสำหรับโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์รี่ รีไทร์) ออกไป จะขาดทุนสูงถึง 2,200 ล้านบาท แต่ยังดีที่ต่ำกว่าเป้าขาดทุนที่ตั้งไว้ที่ 4,200 ล้านบาท

ซึ่งนั่นอาจจะเป็นแค่เผาหลอก เพราะปี 2567 นี้ NT คาดว่าจะเจอกับผลขาดทุนซ้ำอีกถึง 2,945 ล้านบาท หลังคำนวณจากรายจ่ายอื้อซ่าที่ 89,882 ล้านบาท แต่มีรายได้เข้ามาเพียง 87,983 ล้านบาท จากธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 8,965 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ 2,190 ล้านบาท กลุ่มโมบายล์ 47,889 ล้านบาท กลุ่มโทรศัพท์พื้นฐานและบรอดแบนด์ 18,673 ล้านบาท กลุ่มดิจิทัล 4,303 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 3,256 ล้านบาท แม้ 2 เดือนแรกของปีมีรายได้เข้ามาแล้ว 2,970 ล้านบาท แบ่งเป็นเดือน ม.ค. 1,200 ล้านบาท และเดือน ก.พ.1,770 ล้านบาท จากพันธมิตรถึง 47% แต่ทุกๆ ครั้งเมื่อวนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีรายได้จะต่ำลง

***งัดแผนลดคน-เพิ่มรายได้ ฟันกำไรพันล้าน


NT วางแผนเพิ่มรายได้จากกลุ่มดิจิทัล ลดเงินลงทุนเหลือ 5,000 ล้านบาท จากที่เคยเป็น 9,000 ล้านบาท และลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะด้านบุคลากรที่คิดเป็น 35% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในจำนวนบุคลากรปัจจุบัน 12,600 คน อายุเฉลี่ยที่ 51 ปี ให้เหลือ 7,000 คน หรือ 25% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปี 2570 เพื่อให้โครงสร้างค่าใช้จ่ายสอดคล้องกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันที่แบกค่าใช้จ่ายส่วนนี้แค่เลขหลักเดียว โดยปีนี้ตั้งเป้าลดบุคลากรลง 1,200 คน จากการเกษียณอายุราชการตามปกติ และเออร์รี่ รีไทร์ ด้วยมาตรการจูงใจ แต่ประเมินคร่าวๆ น่าจะเหลือบุคลากร 11,000 คน ในปลายปีนี้ หรือลดลงแค่ 1,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในทุกปี ที่ลดลงราว 600 คน

‘ท่ามกลางความหวังว่า ปี 2566 จะเห็นผลกำไรเป็นบวกตามแผนที่วางไว้ เรากลับเจอผลขาดทุนที่ไม่คาดคิด แต่อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ดูเหมือนสถานการณ์จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเราทำรายได้เกินกว่าเป้าที่จะมีกำไรเดือนละ 500 ล้านบาท แต่ถึงกระนั้น ค่าใช้จ่ายก็ยังไม่เข้าเป้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรระยะยาวในตลาดที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่ไม่ได้เป็นใจ ทำให้รายได้ลดลงต่อเนื่องเฉลี่ย 8-10% ทุกปี แต่เชื่อว่าธุรกิจจะยังคงดำรงอยู่และเติบโตอย่างมั่นคงได้ จนมีกำไรระดับ 1,000 ล้านบาท ในปี 2570’ พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าว

***เปย์จัดหนัก ปรับเงินเดือนขึ้น เสริมกำลังใจ


ทั้งที่แผนงานดูจะไปได้สวยแต่ไม่วายเจอดรามา เมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ไม่พอใจกับการปรับขึ้นเงินเดือนเพียง 5% ต่ำกว่าที่รับปากไว้ที่ 6.5% ตามคำมั่นของ ‘ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์’ ประธานบอร์ด NT ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ที่จะแบ่งการปรับขึ้นเป็น 2 ช่วง คือ 5% ในช่วงแรก และ 1.5% ในช่วงต่อมา โดยต้องขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แต่การดำเนินการจริงปรับเพียง 5% โดยหัก 0.2% เพื่อผู้บริหารระดับสูงสุดของสายงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่พนักงาน นำไปสู่การเรียกร้องผ่านกิจกรรมไฮปาร์กเพื่อความเป็นธรรมและโปร่งใสในการจัดสรรเงินเดือน โดยมีการยื่นหนังสือถึงบอร์ด NT

‘สหภาพแรงงานมองว่า เขาควรได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน เพราะบริษัทมีผลกำไร แม้จะมีการจัดสรรงบประมาณไว้สำหรับโครงการเออร์รี่ รีไทร์ และทำให้บริษัทมีผลขาดทุนก็ตาม ดังนั้น ที่ประชุมบอร์ด NT จึงตัดสินใจปรับขึ้นเงินเดือนที่อัตรา 5.5% สูงกว่าเกณฑ์ทั่วไปของตลาดที่ปรับขึ้นแค่ 4% เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงาน ทำให้บริษัทต้องแบกต้นทุนเพิ่มอีก 60 ล้านบาท’ พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าว

***ดิ้นสู้เอาตัวรอด หลังส่งคืน 3 คลื่นหมดอายุ

นอกจากนี้ ยังมีงานใหม่งอกเพิ่มขึ้น เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ในกิจการโทรคมนาคม ขอให้ NT ทำแผนการโอนย้ายลูกค้า My จำนวน 1.7 ล้านรายอย่างรอบคอบ เพื่อส่งคืนคลื่นความถี่ที่ใช้อยู่คือ 850 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งจะสิ้นสุดใบอนุญาตในเดือน ก.ย.2568 เสนอต่อ กสทช. ล่วงหน้า 1 ปี หรือภายในเดือน ส.ค.2567 เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการ

‘แต่การโอนย้ายลูกค้านั้นจะคิดแค่ลูกค้า My ไม่ได้ เพราะใน 3 ย่านความถี่นั้นมีลูกค้าของ AIS, True และ Dtac รวมอยู่ด้วย และหลังส่งคืนคลื่นจะทำให้ NT ต้องพึ่งพาคลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 5 MHz ที่ได้จากการประมูลเท่านั้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ NT จึงต้องเน้นพัฒนาบริการให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี IoT มากยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับบริการในยุคใหม่ที่เน้นการเชื่อมต่ออุปกรณ์ทุกประเภทให้สามารถสื่อสารกันได้ผ่านเครือข่าย โดยขณะนี้ได้ขยายโครงข่ายในย่าน 700 MHz ไปแล้วกว่า 50% และตั้งเป้าหมายว่าจะมีโครงข่ายที่ครอบคลุม 9,800 สถานีฐานในสิ้นปีนี้ ด้วยความหวังที่จะสามารถรองรับลูกค้าได้ถึง 6 ล้านราย’ พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าว

***ค้นฟ้าคว้าพันธมิตร ชุบชีวิตเน็ตบ้าน

ทั้งนี้ หากพูดถึง ‘ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์’ NT ถือเป็นผู้ให้บริการแถวหน้า แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ธุรกิจนี้กลับไม่สามารถทำกำไรได้เลย โดยมีขาดทุนสะสมรวมกันอยู่ที่ประมาณ 2,500 ล้านบาท ทั้งที่ใน กทม.และปริมณฑล มีสายไฟเบอร์ออปติกปูพรมไปทั่วเกือบ 2,400 กิโลเมตร และด้วยพนักงานที่พร้อมให้บริการกว่า 2,000-3,000 คน ทว่า ความพยายามนั้นดูจะไม่เพียงพอที่จะแข่งขันกับเอกชนที่มีกลยุทธ์ราคาและโปรโมชันที่ดึงดูดใจลูกค้าได้มากกว่า

ดังนั้น จึงเกิดความคิดที่จะหาพันธมิตรเพื่อร่วมมือกันปรับปรุง และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน หวังว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม จะช่วยให้เพิ่มสัดส่วนของลูกค้าและรายได้ให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันต้องยอมรับว่า การแข่งขันที่รุนแรงเรื่องราคาจากฝั่งเอกชนนั้นเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถมองข้ามได้

นอกจากนี้ ‘บริการรัฐบาลดิจิทัล’ ที่ NT ได้รับหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สำหรับหน่วยงานภาครัฐ เช่น หน่วยงานฉุกเฉินทางการแพทย์ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 16 แห่งทั่วประเทศ โดยจะทดลองให้บริการฟรีก่อน และหวังว่าหน่วยงานเหล่านี้จะเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าถาวร ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น และไม่หยุดอยู่แค่นั้น ยังวางแผนที่จะสร้างบริษัทย่อยร่วมกับพันธมิตร 2-3 รายในปีนี้ โดยแนวคิดหลักคือการเปลี่ยนจากการจ้างบริษัทภายนอกมาดูแลงานต่างๆ ไปสู่การตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความสนใจร่วมกัน การตั้งบริษัทร่วมทุนนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ NT สามารถรับมือกับงานภายในได้ดีขึ้น แต่ยังเปิดโอกาสให้บริษัทร่วมทุนใหม่สามารถเข้าถึงลูกค้ารายอื่นๆ นอกเหนือจาก NT มีได้อีกด้วย

NT ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT หากนับอายุรวมกันก็ราวๆ 112 ปี จึงหวังใจว่าอายุพรรษาที่คร่ำหวอดในวงการโทรคมนาคมมานานนม จะช่วยให้ NT พลิกฟื้นธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน ทำกำไรอีกหนบนเส้นทางธุรกิจที่ซับซ้อนได้สำเร็จในอนาคตที่กำลังรออยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น