นับตั้งแต่ Spotify เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปี 2017 พร้อมกับยุคเริ่มต้นของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงในไทย แข่งขันกับ Joox จนปัจจุบัน Spotify ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการจากเดิมเน้นผู้ใช้งานที่สมัครสมาชิกแบบพรีเมียม สู่การเปิดให้ทุกคนฟังแบบแทรกโฆษณาโดยที่ไม่คิดเงิน
กูสตาฟ แบ็ค กรรมการผู้จัดการ Spotify ภูมิภาคเอเชียใต้ ให้สัมภาษณ์ว่า Spotify นับเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้คนไทย และทั่วโลกได้เข้าถึงดนตรีแบบไร้พรมแดน ด้วยการนำเพลงจากหลายล้านศิลปินมาสู่ผู้ฟังที่มีโอกาสเข้าถึงได้ในระดับพันล้านคนใน 180 ประเทศทั่วโลก
“ปัจจุบัน Spotify มีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 602 ล้านคน และมีสมาชิกที่สมัครใช้งานแบบพรีเมียมถึง 236 ล้านคน ที่ยังมียอดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเพลงในแพลตฟอร์มมากกว่า 100 ล้านเพลง และพอดคาสต์ให้เลือกฟังกว่า 5 ล้านเรื่อง”
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Spotify ได้รับความนิยมต่อเนื่องจากผู้ใช้งานมาจากการคัดเลือกเพลย์ลิสต์ ที่นำแมชชีนเลิร์นนิ่ง มาผสมผสานกับการทำงานของกองบรรณาธิการเพลง ทำให้ผู้ฟังเข้าถึงแนวเพลงในประเภทที่ชื่นชอบได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังมีเพลย์ลิสต์ที่สร้างจาก Editorial หรือแม้แต่ศิลปินต่างๆ ช่วยเปิดโลกแห่งการฟังเพลงให้ทุกคนเข้าถึงได้
ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่ Spotify เปิดให้บริการในไทยปี 2017 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนศิลปินไทยบนแพลตฟอร์มเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า และเปิดทางให้นักร้องที่ไม่มีสังกัดสามารถส่งเพลงขึ้นบนแพลตฟอร์มเพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กัน
โดยปัจจุบันรายได้ของ Spotify มาจาก 2 ส่วนหลักๆ คือค่าบริการจากสมาชิกที่ใช้งาน และโฆษณาบนแพลตฟอร์มที่มีรูปแบบที่หลากหลายให้แบรนด์ หรือเอเยนซีเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาที่แทรกระหว่างเล่นเพลงสำหรับผู้ใช้ทั่วไป จนถึงพื้นที่บนเว็บไซต์ การสร้างเพลย์ลิสต์พิเศษต่างๆ ในขณะที่ศิลปิน และค่ายเพลงจะได้ส่วนแบ่งรายได้จากการใช้งาน
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Spotify ได้รับการตอบรับที่ดีจากศิลปิน คือการสนับสนุนครีเอเตอร์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างการมีเพลย์ลิสต์อย่าง Radar ที่จะคอยแนะนำเพลงใหม่ให้คนฟังเข้าถึงได้ รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนทางสังคมอย่าง EQUAL หรือ GLOW ที่หนุนศิลปินหญิง และศิลปินในหลากหลายเพศสภาพ
ขณะที่ในมุมของผู้ฟัง การเพิ่มฟีเจอร์อย่าง เนื้อเพลง (Lyrics) หรือการแชร์เพลงให้เพื่อนๆ ฟังผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้เข้ามากระตุ้นให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้สำหรับร้องเพลงคาราโอเกะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบด้วย
สำหรับแนวเพลงกลายเป็นว่าเพลงไทยอย่าง T-Pop ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในไทย เบียดแซง K-Pop ขึ้นมา ตามด้วยแนวเพลงอย่างไทยฮิปฮอป และอินดี้ โดย T-Pop ยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลียอีกด้วย
กูสตาฟ ให้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับประเด็นลิขสิทธิ์เพลง หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ศิลปินต่างชาติมีการนำเพลงของศิลปินไทยไปแปลงเป็นภาษาท้องถิ่น และปล่อยให้สตรีมมิ่งบนหลากหลายแพลตฟอร์ม ทำให้เกิดการเรียกร้องจากแฟนเพลงว่า เป็นการเลียนแบบผลงานไปสร้างรายได้ ในจุดนี้ทาง Spotify ย้ำว่าให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์มากเป็นลำดับต้นๆ
โดยในเบื้องต้นระบบจะมีการคัดกรองรายละเอียดของเพลงที่นำขึ้นมาสตรีมบนแพลตฟอร์มอยู่แล้ว และเปิดทางให้ค่ายเพลง หรือศิลปินที่ถือลิขสิทธิ์สามารถร้องเรียนเข้ามาได้ ซึ่งกลายเป็นว่าทาง Spotify มีการจัดการนำเพลงลงอย่างรวดเร็ว หรือในกรณีอื่นอาจจัดไปอยู่ในเรื่องของการ Cover เพลงแทน ทำให้รายได้ของการฟังเพลงยังเข้าไปที่เจ้าของสิทธิเช่นเดิม
สุดท้ายในเรื่องของการให้บริการหนังสือเสียง (Audio Books) ที่ปัจจุบัน Spotify เริ่มทดลองให้บริการแล้วในหลายประเทศ ทางกูสตาฟ ยังไม่สามารถเปิดเผยถึงการขยายมายังตลาดในภูมิภาคได้ เพียงแต่ย้ำว่าการให้บริการทั้งเพลง พอดคาส์ และหนังสือเสียงจะเป็น 3 แกนสำคัญในกลยุทธ์ที่ Spotify มุ่งหน้าไป