ครบ 3 ปีแล้วที่เลอโนโว (Lenovo) ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ขยายตัวจากการเป็นบริษัทที่ทำรายได้ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มาเป็นบริษัทที่ทำรายได้ทะลุ 6-7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี การเติบโตก้าวกระโดดนี้เป็นผลส่วนหนึ่งจากการปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจใหม่เมื่อปี 2021 ทำให้ Lenovo เทโฟกัสไปที่ธุรกิจ Non-PC มากขึ้น ทั้งบริการที่ปรึกษา ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และโซลูชันไอทีที่ทำรายได้ให้ Lenovo ราว 42% ของรายได้รวมในไตรมาสล่าสุด
การปรับพอร์ตธุรกิจ Non-PC ของ Lenovo ยังคงเป็นนโยบายต่อเนื่องในปีนี้ แต่ความสดใหม่จะอยู่ที่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นสื่อกลางในการนำเสนอ ความน่าสนใจคือ Lenovo เลือกชูแนวคิด “ไฮบริดเอไอ” (Hybrid AI) โดยเดินหน้าพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์ AI ที่ทำงานไฮบริดร่วมกับบริบทเดิมที่องค์กรมีได้ง่ายและมีประโยชน์ที่สุดซึ่ง Lenovo เตรียมงบประมาณไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมและโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับ AI ต่อเนื่องในช่วง 3 ปีนับจากนี้
สำหรับประเทศไทย Lenovo วางเรือธงบุกตลาดในปีนี้ที่การอัดฉีดธุรกิจโซลูชันดิจิทัลเวิร์กเพลส (DWS) และโซลูชันตระกูล as a Service ทั้งบริการเช่าอุปกรณ์ และบริการเช่าอินฟราสตรักเจอร์ ซึ่งล่าสุด Lenovo ได้แต่งตั้ง “วรพจน์ ถาวรวรรณ” เป็นผู้จัดการทั่วไปประจำไทยและภูมิภาคอินโดจีน คนใหม่ โดยรับช่วงต่อจาก “ธเนศ อังคศิริสรรพ” ที่ขยับขึ้นไปเป็นหัวหน้าฝ่ายคีย์แอ็กเคานต์ เพื่อดูแลลูกค้ารายหลักทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก
***PC ยังโตแต่ Non-PC โตแรงกว่า
แมตต์ คอดริงตัน (Matt Codrington) รองประธานและผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ Lenovo Greater Asia Pacific (ไม่รวมอินเดียและญี่ปุ่น) ระบุว่าไทยเป็นตลาดสำคัญของ Lenovo ด้วยขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาค และฐานะตลาดดีไวซ์ใหญ่อันดับ 4 ที่มีการเปิดรับการใช้งานเทคโนโลยีใหม่รวดเร็วมาก ซึ่งในไตรมาสที่ผ่านมาแม้บริษัทจะเห็นทิศทางเติบโตที่ชัดเจนในตลาดคอนซูเมอร์ แต่ก็เห็นการเติบโตของกลุ่มคอมเมอร์เชียลด้วย ภาวะนี้ทำให้ธุรกิจบริการและโซลูชันของ Lenovo เติบโตสูง จนทำให้ Lenovo มีรายได้ 42% มาจากกลุ่มสินค้าและบริการที่ไม่ใช่พีซี
“42% นี้มาจากธุรกิจอินฟราสตรักเจอร์ เซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ เน็ตเวิร์ก ในกลุ่ม Infrastructure Solutions Group และโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีก ภาคการผลิต โลจิสติกส์ และการศึกษา รวมถึงบริการแมนเนจเซอร์วิส บริการที่ปรึกษา และซอฟต์แวร์อื่นๆ” แมตต์กล่าว “ทิศทางของเราในตอนนี้คือธุรกิจ Non-PC ที่กำลังเติบโตเร็วมาก”
Infrastructure Solutions Group ที่ผู้บริหาร Lenovo กล่าวถึงนั้นเป็น 1 ใน 3 กลุ่มธุรกิจที่ Lenovo เพิ่งแยกไว้ใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อโฟกัสเรื่องการสร้างความหลากหลาย ให้ธุรกิจครอบคลุมตลาดมากขึ้น โดยแมตต์ย้ำว่า Lenovo ได้เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน ยกระดับตัวเองเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่ตอนนี้มีมากกว่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ทั่วไป
จาก 3 ธุรกิจคือ กลุ่ม Solutions and Services Group (SSG) กลุ่มธุรกิจ Infrastructure Solutions Group (ISG) และกลุ่มธุรกิจ Intelligent Devices Group (IDG) ทั้งหมดมีการเติบโตรวม 3% ในไตรมาสที่ผ่านมา คิดเป็นรายได้รวม 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับไตรมาสถัดไปจากนี้ Lenovo วางแผนอัดฉีดการเติบโตให้ SSG และ ISG ด้วยการตั้ง AI เป็นแนวทางหลักของบริษัท จุดนี้แมตต์อธิบายว่า Lenovo ต้องการช่วยให้ลูกค้าทำ “อินเทลลิเจนซ์ทรานส์ฟอร์เมชัน” (Intelligent Transformation) หรือการปรับองค์กรเพื่อทำงานแบบอัจฉริยะ โดยครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์จิ๋วในกระเป๋าไปจนถึงระบบคลาวด์องค์กร ตามแนวคิด “พ็อกเกตทูคลาวด์” (pocket to cloud) ดังนั้น หากมองที่ AI งานของ Lenovo จึงเป็นการนำเสนอสินค้าเทคโนโลยี AI แบบครบพอร์ตโฟลิโอ และให้ทางเลือกแก่ลูกค้าในการเลือกเครื่องมือดิจิทัล
***Hybrid AI ต้องมา
ธงของ Lenovo ในตลาดคอมเมอร์เชียลนั้นปักไว้รอที่นวัตกรรม Hybrid AI จุดนี้แมตต์ยกตัวอย่างกรณีของโมเดลภาษาขนาดใหญ่หรือ LLM ที่ใช้ข้อมูลจากจุดเก็บจำนวนมาก และต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล Lenovo จึงวางตัวให้ Hybrid AI เป็นตัวช่วยให้องค์กรปลดล็อกการใช้งานข้อมูลที่เกิดขึ้นได้ในทุกที่ ลดความซับซ้อน ผลักดันให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านองค์กรไปใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะได้ง่ายขึ้น ด้วยการขยายความสามารถของ AI ให้ไปไกลกว่าระบบคลาวด์
“เราทำ Hybrid AI เพื่อทำอินฟราสตรักเจอร์ที่เหมาะกับแต่ละธุรกิจ ทำให้ธุรกิจทำ AI โมเดลด้วยความยืดหยุ่น เป็นการนำเสนอข้อได้เปรียบสำหรับลูกค้า โดยเฉพาะบริษัทด้านการแพทย์ สถาบันการเงิน และองค์กรต่างๆ ที่ยังต้องปกป้องข้อมูลบนไพรเวทคลาวด์ ตามกระบวนการกำกับดูแล ซึ่งเป็นข้อจำกัดทำให้ลูกค้าที่สนใจใช้ AI ยังลังเลและรอดูว่าจะสามารถใช้ได้อย่างไร สิ่งที่ Lenovo ช่วยลูกค้าคือการทำให้ลูกค้าเห็นสิ่งที่เป็นไปได้ เราจึงเน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีที่องค์กรมี เพื่อจะได้รู้ว่าสามารถใช้อะไรได้บ้าง รวมถึงพื้นที่นำ AI ไปใช้ และการหาทางนำ AI ไปใช้ตามบริบทของแต่ละองค์กร”
ในส่วน AI PC เจ้าพ่อพีซีโลกยอมรับว่าหวังให้คอมพิวเตอร์ยุคใหม่เข้ามาสู่ตลาดในวันที่การทำงาน AI ใช้เวลาประมวลผลช้ามากบนพีซีรุ่นเก่า โดยผลดีจากการมี “NPU” หน่วยประมวลผลพันธุ์ใหม่ที่จะมารองรับงานของโมเดล AI โดยเฉพาะ คือการทำให้ผู้ใช้พีซีสามารถรับประโยชน์จาก AI และปกป้องข้อมูลของตัวเองได้มากขึ้น ในลักษณะเดียวกับพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากการใช้งานในยุคแรก ทั้งการปรับการใช้งานให้เข้ากับแต่ละบุคคลมากขึ้น และปกป้องข้อมูลผู้ใช้ได้ในยุคหลัง
“AI ควรต้องปลอดภัยสูง ใน AI PC จะมีระบบที่ปรับการใช้ AI สาธารณะให้เข้ากับบุคคลหรือองค์กรอย่างทรงพลังมาก ทั้งยกระดับการใช้อินฟราสตรักเจอร์ที่เป็นสาธารณะอย่าง ChatGPT ซึ่งมีประโยชน์สูงแต่ไม่ได้ปรับให้เข้ากับแต่ละองค์กร และการแชร์ข้อมูลการใช้งานสู่สาธารณะอย่างปลอดภัย” แมตต์กล่าว “AI PC ยังขยายการใช้งานส่วนตัว ทั้งการใช้งานผู้ช่วยเสียง ให้เป็นระบบส่วนบุคคลที่ทรงพลัง ซึ่งนอกจากเข้าใจพฤติกรรมเราแล้ว ยังคาดการณ์คุณสมบัติที่เราอาจจำเป็นต้องใช้ได้ด้วย”
แม้จะเป็นผู้นำด้าน AI แต่ Lenovo มองเห็นความจำเป็นต้องมีพันธมิตร จึงประกาศทุ่มทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อวิจัยพัฒนา AI โดยเฉพาะและกำลังมุ่งมั่นทำงานในกลุ่มพันธมิตรบน AI อีโคซิสเต็มเดียวกันราว 162 เจ้าคาดว่าจะเห็นการพัฒนาที่มากกว่าการใช้งาน นั่นคือการสามารถปรับให้เหมาะกับการใช้งานทุกประดับ
***ตลาดโซลูชันไทยสดใส
วรพจน์ ถาวรวรรณ ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน เลอโนโว แสดงความมั่นใจในพอร์ตโฟลิโอ Lenovo ในการนำ AI มาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอสินค้า เบื้องต้นวางแผนจำหน่ายโซลูชัน Lenovo มากขึ้นในตลาดไทยเนื่องจากไม่เพียงภาพรวมกำลังซื้อในตลาดไทยที่มีศักยภาพใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาค ยังมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เห็นได้จากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มูลค่า 3.48 ล้านล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ทำให้มีความเป็นไปได้ในการจัดซื้อสินค้าไอที
“การซื้อในปีนี้คงหนีไม่พ้นสินค้าเทคโนโลยี” วรพจน์มั่นใจ “ใครที่สงสัยว่าตลาดค้าปลีกรายย่อยจะกลับมาโตได้หรือไม่ ต้องบอกว่านับจากพฤษภาคมปีนี้ จะครบ 3 ปีตามวงจรการซื้อพีซี เชื่อว่าจะมีปัจจัยเร่งการเปลี่ยนรุ่น จากระบบปฏิบัติการและชิปเมื่อ 4 ปีก่อน ปีนี้จะมี windows 11 ที่มาพร้อมฟังก์ชัน Copilot มาเป็นตัวเร่ง และการเปิดตัวชิปใหม่ทั้งฝั่ง Intel และ AMD จะมีการเปิดตัวชิปเจเนอเรชันใหม่ สินค้าเราจะปรับใหม่พร้อมกับไลน์อัปเหล่านี้ ทั้งสินค้ากลุ่มไคลเอนท์ คอมเมอร์เชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือแม้แต่กระทั่งโซลูชัน และซิเคียวริตี พร้อมนำเสนอทั้งกับภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีของ Lenovo”
วรพจน์ย้ำว่า Lenovo เป็นแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวมพีซีเป็นอันดับ 1 ในไทยติดต่อกัน 3 ไตรมาส (คำนวณจากยอดจัดส่งพีซีรวม) ซึ่งนอกจากอุปกรณ์ สิ่งที่ Lenovo ทำได้ดีตั้งแต่ก่อนและหลังโควิด-19 คือธุรกิจดิจิทัลเวิร์กเพลสโซลูชัน โดยธุรกิจ DWS นี้จะต่อยอดจากแนวคิดไฮบริดเวิร์กเพลส เพื่อทำให้เกิดดิจิทัลเวิร์กเพลสสำหรับเป็นเรือธงปีนี้
สำหรับมุมมอง AI PC ในตลาดไทย วรพจน์มองว่าจะเป็นจุดเริ่มของยุคสมัยใหม่ โดย Lenovo จะไม่ใช่เวนเดอร์ที่นำเสนอ AI PC แค่ในมุมพีซี เนื่องจากพีซีถือเป็นจุดเริ่มต้นประสบการณ์ใหม่ผู้บริโภค ในการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจการใช้งานของตัวเองมากกว่าที่ผู้ใช้จะรู้จักตัวเอง โดยพีซียุคหน้าจะรู้ว่า เมื่อใดที่ผู้ใช้ต้องการใช้ CPU หรือ GPU หรืออายุแบตเตอรี่มากกว่ากัน
“ผมเชื่อว่า AI จะมีผลในทุกเซกเมนต์ ทั้งธนาคาร เฮลแคร์ โลจิสติกส์ ทุกอุตสาหกรรมรวมถึงรีเทล จะทำให้เกิดความสามารถในการทำงานมหาศาล บริษัทจะไม่ได้มองสิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ธรรมดา แต่เป็นการลงทุนเพื่อเสริมศักยภาพ”
ในฐานะแม่ทัพคนใหม่ของตลาดไทย วรพจน์วางเป้าหมายให้ Lenovo ยังคงครองตำแหน่งเบอร์ 1 พีซีไทยต่อไป และจะเน้นทำตลาดเอนด์ทูเอนด์ครบทุกไลน์โดยยืนยันว่าความเป็น “โกลบอลคัมพานี” ที่สูงของ Lenovo ทำให้ไม่เห็นความเสี่ยงเรื่องความบาดหมางระหว่างประเทศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดส่งชิปสู่สายการผลิตของ Lenovo โดยไม่ว่าจะมีสถานการณ์ใด Lenovo จะมุ่งให้บริการที่ดีที่สุดเสมอ