การใช้งานมือถือช่วงเทศกาลต้องดีกว่าเดิม ‘ทรู’ ผสานพลัง true-dtac นำรถกระจายสัญญาณ COW (Cell on Wheel) กระจายเข้าพื้นที่สำคัญ 5 ส่วนทั่วประเทศไทยตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเบื้องหลังในการประเมินการใช้งานของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ช่วงเทศกาลว่า ในการออกแบบโครงข่ายจะดูถึงการใช้งานในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก
“ตามปกติแล้วเมื่ออยู่ในจุดที่มีการใช้งานมากๆ จะนำคาปาซิตี้ หรือโครงข่ายเข้าไปเสริมเพื่อให้รองรับปริมาณการใช้งานของลูกค้า ให้ได้ประสบการณ์ที่ลื่นไหลมากที่สุด แต่ไม่ใช่จะลื่นเหมือนตอนไม่มีคนใช้งาน เพราะเป็นการแบ่งปันการใช้งานกัน”
True ได้นำ Mobility Data หรือข้อมูลภาพรวมการเคลื่อนที่ของผู้ใช้งานมาวิเคราะห์ พบว่าปีที่ผ่านมาภูมิภาคที่มีการเดินทางไปเยือนสูงสุด คือ ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ เมื่อนำมาใช้วางแผนร่วมจากการจัดกิจกรรมสงกรานต์สำคัญต่างๆ จะช่วยให้รองรับกับการใช้งานอย่างดีที่สุด
โดยเฉพาะใน 5 พื้นที่หลัก ไม่ว่าจะเป็น 1.แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ วัด สถานที่ทำบุญ 2.สถานที่จัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ 3.ศูนย์กลางการเดินทาง (สนามบิน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ) 4.เส้นทางถนนสายหลักเชื่อมต่อภูมิภาค และ 5.จุดพักรถที่สำคัญของคนเดินทาง
เบื้องต้น ทาง True จะมี 4 ขั้นตอนในการเข้าไปเสริมพื้นที่สัญญาณ ประกอบด้วย 1.รถโมบายล์ชุมสายเคลื่อนที่เร็ว (COW หรือ Cell-On-Wheel) ประจำจุดสถานที่สำคัญยอดนิยม และแหล่งท่องเที่ยว 2.เสาสัญญาณเฉพาะจุด (Temporary site) ขยายสู่แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่จัดกิจกรรมหลักของแต่ละจังหวัด
3.พารามิเตอร์สัญญาณ (Event Parameter) จูนอัปค่าสัญญาณรองรับพฤติกรรมการใช้งานช่วงเทศกาลสงกรานต์ และ 4.BNIC ศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ พร้อม AI และหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ (War Room) เพิ่มประสิทธิภาพความเชื่อมั่นเครือข่าย 5G, 4G และอินเทอร์เน็ตบ้าน พร้อมดูแลและบริหารเครือข่ายครอบคลุมทุกบริการ 24 ชั่วโมง
“จากทั้ง 4 ขั้นตอน จะเห็นว่าถ้าตรงพื้นที่ไหนที่การใช้งานไม่ได้หนาแน่นขนาดที่ต้องนำรถโมบายล์ไปวาง ก็สามารถใช้การเพิ่มคาปาซิตี้จากเสาสัญญาณเพิ่มเติมได้ด้วย โดยพื้นที่การให้บริการของ COW แต่ละคันจะครอบคลุมได้สูงสุดถึง 500 เมตร”
ทั้งนี้ จากการรวมเครือข่ายระหว่างทรู และดีแทค ทำให้ปัจจุบัน True มี COW ทั้งหมด 20 คันทั่วประเทศ โดยจะมีทั้งในลักษณะของการติดตั้งบนอุปกรณ์ต่อพ่วงหลังรถกระบะ ไปจนถึงรถโมบายล์ที่ติดตั้งอยู่ในรถ 6 ล้อ หรือ 4 ล้อ พร้อมเคลื่อนที่ได้ทันที โดยต้นทุนของแต่ละคันอยู่ที่เริ่มต้นราว 1 ล้านบาท