xs
xsm
sm
md
lg

โซนี่ ดีไวซ์ฯ เปิดอาคารแห่งใหม่ในไทย ผลิต Image Sensors-MicroOLED

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Sony Device Technology (SDT) เปิดอาคารผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในไทย โดยจะเริ่มผลิตเลเซอร์เมซิคอนดักเตอร์ก่อนในปีนี้ ก่อนทยอยประกอบเซ็นเซอร์ภาพในยานยนต์ และอุปกรณ์แสดงผล VR เพิ่มเติมในช่วงต้นปีหน้า คาดจ้างงานเพิ่ม 2,000 ตำแหน่งใน 3 ปี

เทรูชิ ชิมิสึ ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ โซนี่ เซมิคอนดัคเตอร์ โซลูชั่นส์ กล่าวว่า การเปิดอาคาร 4 ในครั้งนี้ทางโซนี่มีแผนที่จะใช้ประกอบเซ็นเซอร์ภาพสำหรับยานยนต์ ชิ้นส่วนจอแสดงผล VR/AR รวมถึงการผลิตเลเซอร์เซมิคอนดักเตอร์เพื่อตอบสนองการแข่งขันในตลาดโลก และการเติบโตในอนาคต

“ประเทศไทยนับเป็นฐานการผลิตสำคัญของผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ และชิ้นส่วนของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลในดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเลเซอร์เซมิคอนดักเตอร์ เป็นส่วนสำคัญที่สามารถต่อยอดไปยังเทคโนโลยีอื่นได้”

เทรูชิ ชิมิสึ
ปัจจุบัน โซนี่นับเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์เกี่ยวกับเทคโนโลยีแสดงผลเป็นอันดับ 1 ในตลาดโลก ซึ่งจะมุ่งเน้นในการพัฒนานวัตกรรมผ่านทักษะขั้นสูงที่โซนี่มี เพื่อสร้างความประทับใจด้วยพลังแห่งเทคโนโลยี ส่งมอบความมั่งคั่งและสิ่งดีๆ สู่สังคม

“โรงงานแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งจากการลงทุนของโซนี่ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศทั้งไทย-ญี่ปุ่นให้เติบโตไปในอนาคตพร้อมกัน จากปัจจัยความต้องการเทคโนโลยีที่เพิ่มสูงขึ้น”


ความสำคัญของอาคารแห่งใหม่นี้คือเข้ามาเสริมความสามารถในการประกอบเซ็นเซอร์ภาพเพิ่มเติมจากอาคาร 1 และอาคาร 2 ซึ่งประเทศไทยเป็นโรงงานแห่งเดียวนอกประเทศญี่ปุ่นที่เป็นโรงงานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นเซ็นเซอร์ภาพ ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องนับจากการเข้ามาของสมาร์ทโฟนในช่วงมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ในอีกมุมหนึ่งเซ็นเซอร์ภาพยังสามารถพัฒนาออกมาเป็นเซ็นเซอร์ในการตรวจจับภาพมิติ ร่วมกับเซ็นเซอร์วัดระยะ LiDAR มาช่วยใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ สอดคล้องกับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทำให้โรงงานสามารถส่งต่อชิ้นส่วนไปยังแบรนด์ผู้ผลิตได้ทันที

อาคารในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมบางกะดี
ทั้งนี้ อาคารผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับบริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นอาคาร 4 ชั้น มีพื้นที่ 66,370 ตารางเมตร เป็นพื้นที่คลีนรูมชั้นละ 8,800 ตารางเมตร รวม 26,400 ตารางเมตร สำหรับใช้ประกอบเซ็นเซอร์ภาพ (Image Sensors) สำหรับการใช้งานในยานยนต์ และอุปกรณ์แสดงผลต่างๆ (Micro OLED) รวมถึงอุปกรณ์เลเซอร์ (Laser Diodes) ที่นำไปใช้งานกับอุปกรณ์ในศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์


อาคารแห่งใหม่นี้ก่อสร้างขึ้นด้วยเงินลงทุน 2,380 ล้านบาท (ประมาณ 63.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนสนับสนุนชุมชนในการเพิ่มอัตราการจ้างงานในท้องถิ่นเพิ่มอีก 2,000 ตำแหน่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากที่ปัจจุบันในพื้นที่ของบางกะดี มีพนักงานอยู่ราว 1,600 คน และเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยอีกด้วย

พร้อมกันนี้ โซนี่คาดว่าจะสามารถติดตั้งแผงโซลาร์บนอาคาร 4 เพื่อให้ดำเนินธุรกิจโดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในสิ้นปีนี้ ร่วมกับการติดตั้งระบบปรับอากาศที่สามารถควบคุมความสะอาด อุณหภูมิ และความชื้น ได้แบบเฉพาะเจาะจงแยกพื้นที่รวมไปถึงการนำความร้อน และน้ำร้อนที่ถูกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่

วิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ปัจจุบัน กลุ่มโซนี่มี 17 โครงการที่เข้าร่วมการส่งเสริมการลงทุน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 22,000 ล้านบาท และสร้างงานกว่า 8,000 ตำแหน่ง ก่อนขยายเพิ่มอีก 6 โครงการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในการตั้งโรงงานผลิต IC มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท

“โซนี่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่เข้ามาเสริมให้ห่วงโซ่อุปทานในไทยมีความแข็งแกร่ง และคาดว่าโซนี่จะเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนต่อไป ทางบีโอไอพร้อมให้การสนับสนุนแก่การลงทุนให้ทางกลุ่มโซนี่ต่อไป”

สำหรับการขอการสนับสนุนจากทางบีไอโอ เปิดโอกาสให้ทางโซนี่กรุ๊ปได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการเข้ามาลงทุน ทั้งยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น รวมถึงยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี โดยไม่กำหนดวงเงิน

เซ็นเซอร์ภาพ

Micro OLED


กำลังโหลดความคิดเห็น