'ดีอี' เป็นประธานคณะทำงาน ASEAN Working Group on Anti - Online Scams พร้อมร่วมลงนาม MOU กับกัมพูชา เร่งแก้ปัญหา call center ในไทยและอาเชียน
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอี ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN Working Group on Anti - Online Scams เพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก๊ง Call center โดยมีการประชุมกันครั้งที่ 1 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก พบว่า การหลอกลวงออนไลน์ในอาเซียนมีหลากหลายช่องทาง เช่น SMS โทรศัพท์ และผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนกฎหมาย กฎระเบียบ แนวทางการจัดการปัญหา การตอบโต้มิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ ของประเทศสมาชิก ที่ประชุมได้ตกลงให้มีการแลกเปลี่ยนและรวบรวมข้อมูลระหว่างกัน เพื่อยกระดับไปสู่มาตรการและนโยบายการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงออนไลน์ในระดับอาเซียน เช่น การปิดกั้นเว็บไซต์ในอาเซียน การกำหนดกลไกประสานงานโดยแต่งตั้งผู้ประสานงานหลักของแต่ละประเทศ และการพิจารณาแผนการทำงานของคณะทำงานต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงดีอีได้หารือทวิภาคีกับหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยเฉพาะแก๊ง Call Center และ Online Scam ซึ่งเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ไทยมีบทบาทสำคัญในการยกระดับความร่วมมือและการดำเนินงานของอาเซียนในการจัดการและรับมือกับปัญหาเหล่านี้ จากการหารือพบว่ากัมพูชามีแนวทางในการปิดกั้น URL ที่เข้าข่ายหลอกลวง และการส่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมและ ISP ดำเนินการปิดกั้นที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยชื่นชมและต้องการให้ความร่วมมือในเรื่องนี้
โดยเฉพาะปัญหาคนไทยข้ามแดนไปทำงานเป็นแก๊ง Call Center และปัญหาบัญชีม้า ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการขยายกรอบความร่วมมือเดิม โดยจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับใหม่ เพื่อขยายขอบเขตของความร่วมมือให้ครอบคลุมมากขึ้น และจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ กัมพูชายินดีร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานีสัญญาณโทรคมนาคมผิดกฎหมายบริเวณชายแดน และในด้าน Cybersecurity กัมพูชาแสดงความยินดีที่ไทยจะให้การสนับสนุน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่าง ThaiCERT และ CambodiaCERT
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าวว่า คนไทยจำนวนมากที่ข้ามไปทำงานในกัมพูชา อาจไม่ใช่เหยื่อ แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน จึงจะประสานงานกับกระทรวง โดยศูนย์ AOC เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคนไทยที่มาทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้เข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมผู้นำเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัลและผู้นำสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมหารือและขับเคลื่อนการดำเนินงานความร่วมมือด้านดิจิทัล ภายใต้แผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ.2025
พร้อมกันนี้ ประเทศไทยได้นำเสนอ 3 โครงการเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในเวทีอาเซียน ได้แก่ โครงการ Enhancing Digital Transformation with AI Skill among ASEAN โครงการ ASEAN Digital Capacity Building for Smart Cities: ASEAN Chief Smart City Officers (ASEAN-CSCO) และโครงการ The Development of Guidelines for Digital Platform Regulation in ASEAN
ที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการประเมินผลแผนแม่บทดิจิทัลอาเซียนปี 2025 (ADM 2025) เพื่อประเมินความสำเร็จของอาเซียนในการปรับเปลี่ยนเป็นประชาคมผู้นำด้านดิจิทัลและขับเคลื่อนบริการ เทคโนโลยี และระบบนิเวศด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยในการวางแนวนโยบายที่เหมาะสมในการพัฒนาด้านดิจิทัลของอาเซียนในระยะถัดไปและสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทดิจิทัลของอาเซียนปี 2030 การเยือนกัมพูชาครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ
โดยไทยได้ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนยกระดับการแก้ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์และส่งต่อแนวปฏิบัติที่ดีของไทยไปสู่กรอบอาเซียน เช่น การจัดตั้งศูนย์ ACO 1441 และการออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งจะช่วยลดอาชญากรรมข้ามชาติและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยและอาเซียนในระยะยาว นอกจากนี้ ไทยยังได้รับความไว้วางใจจากอาเซียนให้เป็นผู้ดำเนินโครงการประเมินผลความสำเร็จของแผนแม่บทดิจิทัลของอาเซียนด้วย