xs
xsm
sm
md
lg

'กสทช.สมภพ' เดินหน้านำคลื่น 3500 MHz ออกประมูล มั่นใจไม่กระทบทีวีดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปีนี้คลอดแน่! แผนจัดสรรคลื่นความถี่ 'กสทช.สมภพ' ยืนยันนำคลื่น 3500 MHz ออกประมูลด้วย มั่นใจไม่กระทบทีวีดิจิทัล หลังผู้ประกอบการหวั่นคลื่นรบกวนจานรับสัญญาณดาวเทียม ทำผู้ชมดูทีวีดิจิทัลไม่ได้

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงกรณี สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เข้าหารือด้วยเรื่อง 1.แนวทางการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล และ 2.โรดแมปทีวีดิจิทัล หลังสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการปี 2572 อีกทั้ง landscape ของ National Television ทีวีแห่งชาติ หลังปี 2572 รวมถึงเงื่อนไข หลักเกณฑ์ในการต่ออายุใบอนุญาต เนื่องจาก กสทช. มีแผนจะนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ออกมาประมูลในกิจการโทรคมนาคม ว่า

การประมูลคลื่นความถี่ไม่ใช่จะเกิดขึ้นวันนี้หรือพรุ่งนี้ จำเป็นต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบ ทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็น และดูความพร้อมของโอเปอเรเตอร์ร่วมด้วย แต่ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการรับชมทีวีดิจิทัลผ่านจานดาวเทียม C-Band (จานดำ) บนคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz เนื่องจากสัญญาณมือถือรบกวนกับจานรับสัญญาณดาวเทียมอย่างผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเป็นกังวลแน่นอน เพราะจะนำไปใช้เฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ นิคมอุตสากรรม ซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้านเรือน ดังนั้น แผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ (โรดแมป) ที่จะออกมาภายในไตรมาส 2/67 จะมีคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ในการประมูลด้วย

"ใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดในปี 2572 ตามกฎหมาย กสทช. กำหนดว่าจะต้องนำคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาจัดประมูลเท่านั้น ผู้ประกอบการจึงขอให้มีการแก้ไขกฎหมาย โดยเปลี่ยนจากการประมูลเป็นระบบให้ใบอนุญาตแทนได้หรือไม่ และให้คงสถานะแบบนี้ไว้อีก 10 ปี หรือสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2582 และขอไม่ให้นำคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ออกประมูล เพราะเกรงว่าผู้ที่รับชมทีวีดิจิทัลผ่านจานดำจะได้รับผลกระทบ ซึ่งเรารับฟัง พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ด้วย ดังนั้น คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ได้ตามคำขอแบบ 100% เพราะโลกมันเปลี่ยน ต้นทุนอุปกรณ์ก็สูงขึ้น

อีกทั้งปัจจุบันทีวีดิจิทัลแต่ละช่องต้องจ่ายค่าช่องสัญญาณ C-Band แพง และกสทช.สนับสนุนค่าคลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) ปีละหลายพันล้านบาท ซึ่งมูลค่าที่มันไม่เป็นไปตามกลไกตลาดนี้น่าจะนำงบประมาณมาทําอย่างอื่น เช่น สนับสนุนให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลพร้อมเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ไม่ดีกว่าหรือ เพราะสุดท้ายหากธุรกิจไปไม่รอด งบประมาณที่ใช้สนับสนุนจะได้ไม่สูญเปล่า" นายสมภพ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น