xs
xsm
sm
md
lg

เดิมพัน ‘True’ ปี 2024 ต้องทำกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังผ่านพ้นช่วงเวลาควบรวมกิจการ 1 ปี ระหว่างกลุ่มทรู และดีแทค สิ่งที่เป็นจุดมุ่งหมายหลักของการดำเนินธุรกิจในไทยที่เห็นได้ชัดเจน คือการกลับมามุ่งเป้าหมายในการทำกำไรของ ทรู คอร์ปอเรชั่น หลังจากประกาศผลประกอบการในปีที่ผ่านมา และเห็นแนวโน้มการสร้างรายได้ที่ดีขึ้นในทุกภาคส่วน และมีโอกาสที่จะทำกำไรในปีนี้

จุดเปลี่ยนหลักสำคัญที่ทั้งกลุ่มซีพี และเทเลนอร์ มองร่วมกันคือการบริหารจัดการทรัพยากร และต้นทุนในการดำเนินกิจการ เพื่อให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมมูลค่าแสนล้านบาทนี้ได้ บนพื้นฐานของการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่กลายเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนหลังการควบรวมกิจการคือ การทำงานที่มีความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปดูแลในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ภายในองค์กร เพราะด้วยนโยบายของเทเลนอร์ที่มีความเข้มงวดในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การดำเนินการใดๆ ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมได้ถูกนำขึ้นมาแก้ไขเป็นส่วนใหญ่แล้ว

การดำเนินงานที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดคือการรวมเสาโทรคมนาคม ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในส่วนของผู้บริโภคทั้งส่วนของทรู และดีแทค ได้ประสบการณ์เข้าถึงดิจิทัลที่รวดเร็ว และมีความเสถียรในการใช้งานมากขึ้น จากคลื่นความถี่ที่ถือครองในขณะที่องค์กรที่สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในพื้นที่ที่มีความทับซ้อน

ส่งผ่านมาถึงกลยุทธ์หลักของทรูที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งมุ่งมั่นไปใน 3 แกนหลักประกอบไปด้วย1.การยกระดับประสบการณ์ลูกค้า 2.การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเติมเต็มการใช้ชีวิต และ 3.พลิกธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน จากการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ และ AI เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ


มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการดำเนินงานในช่วงปีที่ผ่านมาว่า อยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้าง เพื่อให้สามารถทำธุรกิจบนความปลอดภัยและปรับทิศทางให้เป็นไปตามที่วางไว้
ก่อนที่ในปีนี้จะเริ่มทรานฟอร์ม และสร้างผลกำไรที่ดีขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ ไตรมาส และหลังจากปี 2025 เป็นต้นไปกลุ่มทรูจะสามารถสร้างผลกำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ร่วมกับสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ดิจิทัลอีโคซิสเตมส์เพื่อเสริมการเติบโตต่อไปในอนาคต

เหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มทรู มั่นใจคือยังเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของการเป็นผู้ให้บริการ Telco-Tech เพราะสัดส่วนผู้ใช้งาน 5G ในไทย ยังมีโอกาสเติบโตอีกจำนวนมาก จากที่ปัจจุบันกลุ่มทรูมีลูกค้าที่ใช้งานบนเครือข่าย 5G ราว 10.5 ล้านราย และมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ และขยับเป็น 25 ล้านรายในปี 2026

***โจทย์ใหญ่คือพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย

แม้ว่าปัจจุบันการให้บริการ 5G ของทรู จะครอบคลุมพื้นที่ 90% ของประเทศ และในบางพื้นที่อย่างกรุงเทพฯ ปริมณฑล และอีอีซีให้บริการแล้วครอบคลุม 99% แต่การพัฒนาเครือข่ายให้รองรับกับการใช้งานของลูกค้าทุกคน ยังคงเป็นความท้าทายหลักที่เกิดขึ้นจากการรวมเครือข่าย และอุปกรณ์ที่แตกต่างกันมาให้บริการแก่ลูกค้า

โดยในปีที่ผ่านมากลุ่มทรู ได้เริ่มพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย (Network Modernization) ไปมากกว่า 2,400 เสาทั่วประเทศ และตามแผนคือจะเพิ่มเป็น 10,000 เสา ภายในสิ้นปี 2024 และขยับเป็น 20,000 เสาในปี 2025 ที่จะทำให้การผสานโครงข่ายเป็นเครือข่ายเดียว (One Integrated Network) เสร็จสมบูรณ์


ประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี ยอมรับว่า ในการรวมเสาเข้าด้วยกันจะทำให้ประสบการณ์ใช้งานในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการไม่ดีเหมือนที่เคย แต่มั่นใจว่าหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการผู้ใช้งานทั้งทรู และดีแทค ทั่วประเทศจะได้ประสบการณ์ใช้งานเครือข่ายที่ครอบคลุมและเร็วยิ่งขึ้น

“ด้วยงบประมาณในการลงทุนขยายโครงข่ายในปีนี้ที่วางไว้ราว 12,000 ล้านบาท ทำให้การดำเนินงานส่วนใหญ่ จะเป็นการรื้อเสาที่ทับซ้อน ซึ่งส่งผลให้คลื่นความถี่เกิดการรบกวนกัน จนทำให้ผู้ใช้ไม่ได้ประสบการณ์ที่ดีที่สุด และที่สำคัญคืออุปกรณ์ใหม่ที่ติดตั้งจะรองรับการทำงานบนคลื่นความถี่ที่หลากหลายมากขึ้น”

การรวมเสานับเป็นหนึ่งในจุดประสงค์หลักของการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้น เพราะทั้งทรู และดีแทค มีสถานีฐานที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศหลายหมื่นเสา ประกอบกับการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย AI อัจฉริยะ BNIC (Business Network Intelligence Center) ทำให้สามารถดูพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมากำหนดแผนเร่งด่วนในการรวมเสาให้เกิดประสิทธภาพมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารที่ดูแลด้านเทคโนโลยี ยังมองว่าการนำ 5G ที่เป็นคลื่น mmWave หรือ 26 GHz มาให้บริการในไทยนั้น ยังเร็วเกินไป และจะไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เพราะคลื่นความถี่ย่านกลางที่มีให้บริการในปัจจุบัน โดยเฉพาะ 2600 MHz นั้นเพียงพอกับการใช้งานของผู้บริโภคทั่วไปอยู่แล้ว ไม่นับกับการที่กสทช. มีโอกาสจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะทยอยหมดอายุทั้งคลื่น 2300 MHz 2100 MHz รวมถึงคลื่น 3500 MHz ที่ยังไม่ถูกจัดสรรออกมาให้บริการ

***บุกตลาดเมืองรอง

สำหรับรูปแบบการทำตลาดที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงข่ายให้ทันสมัย ก็คือการมุ่งโฟกัสในกลุ่มเมืองรองที่มีการเข้าถึงดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น นำร่องในภาคอีสาน อย่างเมืองนครพนมที่มีจุดเชื่อมทั้งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ดี และแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้


มนัสส์ กล่าวเสริมว่า การมีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลที่ครอบคลุม โดยเฉพาะโครงข่ายใยแก้วที่เดินสายไปทั่วประเทศที่ในไทยอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกส่วนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และช่วยเสริมศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้


ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากข้อมูลของ BNIC พบว่า อัตราการเติบโตของการใช้งานดาต้าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 15.59% เมื่อเจาะลงไปเฉพาะในภาคอีสานจะเฉลี่ยอยู่ที่13.14%ในขณะที่นครพนมค่าเฉลี่ยเติบโตอยู่ที่14.34%แสดงให้เห็นว่ามีอัตราการใช้งานที่มากกว่ารับกับกระแสท่องเที่ยวเมืองรองที่เติบโตขึ้น

โดยหลังจากนี้ ทางทรู ก็จะนำข้อมูลจาก BNIC มาใช้เพื่อเข้าไปกระตุ้นตลาดในภูมิภาคต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวทั้งในแง่ของการหนุนการท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่น ที่จะเกิดการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากการที่มีสัญญาณทั่วไทยให้ใช้งาน

*** ‘เน็ตบ้าน’ กังวลคู่แข่งทุ่มราคา ไม่สะท้อนต้นทุน

กลับมาในอีกธุรกิจที่แต่เดิมทรูถือเป็นผู้นำตลาด แต่หลังจากเกิดการควบรวมระหว่าง AIS และ 3BB ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดย True Online ที่มีลูกค้าปัจจุบันอยู่ 3.8 ล้านราย และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 4 ล้านรายในสิ้นปีนี้ ต้องมุ่งมั่นในการแข่งขันในแง่ของคุณภาพที่เพิ่มสูงขึ้น


ฐานพล มานะวุฒิเวช (ซ้าย) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 2-3 ปี ทรู ออนไลน์ ไม่ได้เน้นเรื่องการแข่งขันในแง่ของความเร็ว แต่เป็นการเข้าไปเติมเต็มไลฟ์สไตล์ลูกค้าที่ต้องมีความสมาร์ทด้วยไม่ใช่แค่สินค้าทั่วไปอย่างเทคโนโลยี FTTR ทำเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการความเร็วในทุกที่ ทุกๆ ห้องให้มีความเร็วที่ 1 Gbps

“การใช้งานของผู้บริโภคเริ่มเกิดความเคยชินกับความเร็วอินเทอร์เน็ตที่แรงขึ้น และใช้งานต่อเนื่องโดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มของโมบาย แต่รวมถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ใช้งานภายในบ้านด้วย”

ดังนั้น เพื่อตอกย้ำกับการเป็นผู้นำเทคโนโลยีเน็ตบ้าน ทำให้ในปีนี้ทรู ออนไลน์ จะมีการแข่งขันในเชิงรุกมากขึ้น อย่างการนำเราเตอร์ที่รองรับอินเทอร์เน็ตความเร็ว 2 Gbps เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานในอนาคตได้ทันที พร้อมกับการนำ Smart AI เข้าไปช่วยจัดลำดับความสำคัญในการใช้งานแบนด์วิดท์ของลูกค้า

ขณะเดียวกัน ในแง่ของการดูแลลูกค้า และบริการหลังการขายจะยังยึดมั่นการให้บริการที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงการอำนวยความสะดวกลูกค้าเพิ่มเติมอย่างการให้โมบายอินเทอร์เน็ต 10 GB แก่ลูกค้าที่สมัครใช้งาน ซึ่งคำนวณจากปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยใน 1 วันว่าเพียงพอกับการใช้งานในกรณีฉุกเฉิน

ส่วนในแง่ของการแข่งขันสิ่งที่ผู้บริหารทรู กังวลมากที่สุดคือเรื่องของการทุ่มราคาในการทำตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของระยะสัญญาในการใช้งานกรณีที่ต้องการติดตั้งฟรี อายุสัญญาจะเริ่มขยับขึ้นไปอยู่ที่การใช้งานต่อเนื่อง 24 เดือน

สำหรับปัจจัยที่อาจทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาในพื้นที่ต่างจังหวัด ข้อมูลจากแหล่งข่าว ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมา ผู้ให้บริการบางรายมีการนำเข้าอุปกรณ์เข้ามาเกินความจำเป็นทำให้ต้องหาทางระบายออก จึงกลายเป็นว่าในบางพื้นที่มีการทำโปรโมชันลดราคาจนทำให้กระทบกับตลาด

ในอนาคตถ้าผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไป ตลาดเน็ตบ้านจะเข้าสู่ช่วงของการแข่งขันทางด้านคุณภาพ และบริการเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากเทรนด์ของตลาดที่เพิ่มขึ้นทั้งลูกค้าที่ใช้งาน และค่าบริการเฉลี่ย (ARPU) ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และจะกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยช่วยให้กลุ่มทรูกลับมาทำกำไรได้

***ทรูเชื่อมเทคโนโลยีสู่เกษตรอัจฉริยะ


‘โครงการฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่อัจฉริยะเพื่ออาหารกลางวันนักเรียน’ นับเป็นโครงการนำร่องเพื่อให้โรงเรียนในแต่ละพื้นที่ สามารถทำ ‘การเกษตรแม่นยำ’ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฟาร์ม ประหยัดเวลา ลดต้นทุน และเพิ่มผลิตผล

เช่นในโรงเรียนบ้านนาคำ ที่มีครูและนักเรียนประมาณ 116 คน มีโรงเรือนเลี้ยงไก่ 150 ตร.ม. เลี้ยงไก่ 150 ตัว ได้ผลผลิตวันละประมาณ 130 ฟอง ทำให้สามารถนำผลผลิตไปใช้ประกอบอาหาร และจำหน่ายในชุมชนได้

ด้วยการนำอุปกรณ์ และโซลูชัน True Farm Chicken ไปใช้ทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ต 5G, 4G กล้อง CCTV อุปกรณ์เซ็นเซอร์ และ IoT ในการวัดอุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มแสง และอุณหภูมิน้ำ เพื่อควบคุมระบบเปิด-ปิด น้ำ และพัดลม เชื่อมเข้ากับระบบแจ้งเตือน และดูข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

สิ่งที่เกิดขึ้นคือตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาภาคการเกษตรไทย พร้อมกับขยายความรู้ และทักษะดิจิทัลสู่ชุมชน ให้มีแหล่งอาหารที่มันคง มีอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น