xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนปี 67 ‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ ดันดิจิทัลเป็นหัวใจการพยากรณ์ ยกระดับความแม่นยำ เหนือคำทำนาย (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ ประกาศยุทธศาสตร์ปี 67 ออกกฎหมายเป็นของตัวเอง ผุดแอปพลิเคชันใหม่ ใช้ AI ช่วยยกระดับการพยากรณ์อากาศให้แม่นยำเกินเหนือคำทำนาย

ร่วม 5 เดือนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอการแต่งตั้งข้าราชการ ให้ ‘น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค’ เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ต่อจากบทบาทก่อนหน้าในฐานะผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดีอี ได้ 1 ปีเศษ

‘กรรวี’ ได้เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์และแผนการทำงานสำหรับปี 2567 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยยกระดับการบริการและการวิจัยอุตุนิยมวิทยาของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ดังนั้น เครื่องมือและระบบการทำงานในปัจจุบันจึงถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล อาศัยเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์ แต่ต้องเข้าใจว่าตามหลักวิทยาศาสตร์ สภาพอากาศหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้ระบบอากาศไม่เสถียรและปรับเปลี่ยนได้เสมอ แตกต่างกับประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีที่มีระบบบรรยากาศที่นิ่งกว่า การเคลื่อนตัวของระบบอากาศในประเทศไทยจึงมีความไม่แน่นอนสูง

ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme Weather Event) เป็นความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้การพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการพยากรณ์อากาศตามฤดูกาล หรือล่วงหน้า 1 ปี แต่พยากรณ์เป็นแนวโน้มภาพกว้างได้ เช่น ฤดูร้อนของไทยปีนี้จะร้อนกว่าค่าเฉลี่ยปกติเมื่อ 30 ปีก่อนหรือมากกว่าปีที่แล้ว โดยบางพื้นที่อาจทำลายสถิติความร้อนของจังหวัดที่เคยบันทึกไว้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำลายสถิติความร้อนของปีที่แล้วได้หรือไม่ และอยู่ที่เท่าไร

ดังนั้น การพยากรณ์อากาศประจำวันจึงทำได้แม่นยำกว่า โดยเฉพาะการพยากรณ์ในระยะสั้นมากไม่เกิน 3 ชั่วโมง เช่น การเจอกลุ่มฝนที่ก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเรดาร์ดาวเทียมเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพยากรณ์อากาศระยะสั้นได้ดีกว่า

‘หากฟังเสียงประชาชนอย่างเดียวทำงานยากอยู่ และกรมอุตุนิยมวิทยาไม่ได้ทำงานตามลำพัง แต่ต้องยึดหลักวิชาการและมาตรฐาน ภายใต้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ด้วย และนอกจากการพยากรณ์อากาศแล้ว ยังมีหน้าที่อื่นๆ เช่น กองอุตุนิยมวิทยาการบิน และกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวอีก แต่ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลที่แม่นยำสำหรับการวางแผน จึงมีการพยากรณ์อากาศหลายรูปแบบ เช่น รายฤดูกาล รายเดือน ราย 3 เดือน รายสัปดาห์ ราย 1-3 วัน และราย 24 ชั่วโมง เพื่อให้ข้อมูลมีความใกล้เคียงความจริงมากที่สุด’

***ของบ 10 ล้านบาทผุดแอปพลิเคชันใหม่

ตามที่กระทรวงดีอี ประกาศ 7 Flagships หลัก ในการดำเนินงานปี 2567 หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะพัฒนารูปแบบการใช้งานสำหรับการพยากรณ์อากาศระยะปัจจุบันอัจฉริยะ ข้อมูลพยากรณ์กลุ่มฝนเชิงพื้นที่ระดับอำเภอล่วงหน้า 3 ชั่วโมง บริเวณ 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศและแผนที่เสี่ยงภัยสภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากโดยการนำ AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยให้การพยากรณ์อากาศล่วงหน้าในระยะสั้นมากไม่เกิน 3 ชั่วโมง แม่นยำมากกว่า 90% และเพื่อต่อยอดการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ และประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด

กรมอุตุนิยมวิทยาจึงอยู่ในขั้นตอนการจัดทำคำของบประมาณปี 68 กว่า 10 ล้านบาท เพื่อจัดทำแอปพลิเคชันรายงานสภาพอากาศของไทยตัวใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และปรับปรุงจากจุดอ่อนของแอปพลิเคชันเดิมให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการให้ข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำสูงซึ่งเมื่อเปิดแอปพลิเคชันจะได้รับข้อมูลทันที เช่น ฝนจะตกในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าหรือไม่ เพื่อช่วยให้ประชาชนเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจหยิบร่มก่อนออกจากบ้าน และยังสามารถแจ้งให้ทราบถึงสภาพอากาศอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นความร้อนหรือแดดจัดตามพื้นที่ต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ คาดว่า ปลายปี 68 จะได้เห็นหน้าตาของแอปพลิเคชันอย่างเป็นรูปธรรมได้

***ทลายข้อจำกัด คลอด กม.ของตัวเอง


นอกจากนี้ กระทรวงดีอีอยู่ในขั้นตอนการยกร่าง พ.ร.บ.อุตุนิยมวิทยา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำการปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสม จากเดิมที่กรมอุตุนิยมวิทยาไม่เคยมีกฎหมายเฉพาะเจาะจงมาก่อน แต่ปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาต้องการสร้างรายได้ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานมีหน้าที่ให้บริการข้อมูลสภาพภูมิอากาศแก่สายการบินทั่วโลก โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่กลับมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงจะช่วยปลดล็อกให้กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถหารายได้จากส่วนนี้ได้

‘เรื่องนี้ ศาสตรจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี พยายามเร่งขับเคลื่อนอยู่ จึงคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อลดการทำงานที่ยุ่งยาก และลดภาระค่าใช้จ่ายที่กรมอุตุนิยมวิทยาต้องแบกรับ ช่วยให้การทำงานในภาพรวมมีความคล่องตัวมากขึ้น’ กรรวี กล่าว

***พยากรณ์แม่นยำ เหนือคำทำนาย

ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องการเพาะปลูกข้าวให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาล เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยจะเริ่มทำการทดลองก่อนในพื้นที่ที่ให้ผลชัดเจน จากนั้นจึงจะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกในระยะยาวโดยใช้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับใช้เทคนิควิธีการเพาะปลูกให้เหมาะสม และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังมีการนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้กับการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นๆ เช่น ผลไม้ และผลผลิตทางการเกษตรอื่นในอนาคต

‘ปัจจุบัน กรมอุตุนิยมวิทยาพึ่งพาเทคโนโลยี 40% และบุคลากร 60% มีความรู้ มีการวิเคราะห์ข้อมูล เพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์สภาพอากาศ อีกทั้งมีกลุ่มงานติดตามสภาพอากาศและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอีก แต่มีข้อจำกัดว่าต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนเผยแพร่ จึงอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการแจ้งเตือน แต่ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงาน เนื่องจากปีที่แล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงจนทำให้เกิดภัยแล้ง มีกลุ่มนักวิชาการที่การทำงานมีความคล่องตัวกว่า ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชนและสื่อมวลชน แล้วก่อให้เกิดความสับสน เข้าใจผิด ทำให้ตื่นตระหนก วิตกกังวลเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น’ กรรวี กล่าวและว่า

‘การพยากรณ์อากาศเป็นการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จากการสังเกตการณ์อากาศปัจจุบันและในอดีต เพื่อคำนวณและสร้างแบบจำลองพยากรณ์อากาศในอนาคตโดยใช้หลักการทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ในขณะที่คำทำนายมักจะหมายถึงการสรุปหรือการคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่ได้อิงอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์หรือข้อมูลที่ชัดเจน กรมอุตุนิยมวิทยาจึงเน้นไปที่การให้บริการข้อมูลพยากรณ์อากาศที่มีพื้นฐานจากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สาธารณชนและหน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลนี้ในการวางแผน และตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูลเชิงลึกและแม่นยำมากขึ้น’


กำลังโหลดความคิดเห็น