xs
xsm
sm
md
lg

6 แนวโน้มความมั่นคงไซเบอร์ การ์ทเนอร์ยก Gen AI ห้ามมองข้ามปี 2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การ์ทเนอร์เผย 6 แนวโน้มความมั่นคงไซเบอร์มาแรงปี 2567 ยก Generative AI พฤติกรรมพนักงานที่ไม่ปลอดภัย ความเสี่ยงจากบุคคลที่สาม ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ช่องว่างการสื่อสารในทีมบริหาร และแนวทางการรักษาความปลอดภัยที่ยึดการยืนยันตัวตนเป็นหลัก เป็นปัจจัยเบื้องหลังและคอยขับเคลื่อนแนวโน้มความมั่นคงไซเบอร์ที่สำคัญตลอดปี 

นายริชาร์ด แอดดิสคอตต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า GenAI กำลังสร้างความกังวลใจให้ผู้บริหารด้านความปลอดภัยในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องจัดการ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนี้ได้มอบโอกาสการควบคุมขีดความสามารถเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในระดับปฏิบัติการ ซึ่งแม้ Gen AI จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทว่าผู้บริหารยังต้องต่อสู้กับปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมที่ไม่อาจมองข้ามในอนาคต 

"ปีนี้เราจะเห็นว่าผู้บริหารด้านความปลอดภัยตอบสนองต่อผลกระทบเหล่านี้ โดยนำแนวทางปฏิบัติ ความสามารถเชิงเทคนิค และการปฏิรูปโครงสร้างมาใช้ภายในโปรแกรมความปลอดภัยของตน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงความยืดหยุ่นขององค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพฟังก์ชันความปลอดภัยทางไซเบอร์" 

สำหรับ 6 เทรนด์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เริ่มด้วยเทรนด์ที่ 1 Generative AI เนื่องจากผู้บริหารจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วของ GenAI เนื่องจากแอปพลิเคชันโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) เช่น ChatGPT และ Gemini นั้นยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการดิสรัปเท่านั้น ขณะเดียวกัน ผู้บริหารต่างมีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดช่องว่างด้านทักษะ และมอบประโยชน์ใหม่อื่นๆ สำหรับความมั่นคงทางไซเบอร์ การ์ทเนอร์แนะนำว่าการใช้ GenAI นั้นควรเกิดขึ้นผ่านความร่วมมือเชิงรุกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการใช้ Disruptive Technology นี้อย่างมีจริยธรรมและตั้งอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย 

“สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจว่าตอนนี้วิวัฒนาการ GenAI ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น จากการสาธิตหลากหลายที่เราได้เห็นในด้านการดำเนินการความปลอดภัยและในแอปพลิเคชันความปลอดภัยที่เผยให้เห็นคำมั่นสัญญาที่แท้จริง ทำให้ในระยะยาวยังมีความหวังรออยู่สำหรับเทคโนโลยีนี้ แต่ในเวลานี้มีแนวโน้มที่จะเจอกับความอ่อนเปลี้ยของผลผลิตมากกว่าการเติบโตในระดับเลขสองหลัก หลายสิ่งจะได้รับการปรับปรุงยิ่งขึ้น ดังนั้น ต้องสนับสนุนการทดลองและจัดการความคาดหวัง โดยเฉพาะภายนอกทีมงานด้านความปลอดภัย”

เทรนด์ 2 คือมาตรวัดที่ขับเคลื่อนด้วยผลลัพธ์ความมั่นคงไซเบอร์ โดยเชื่อมช่องว่างการสื่อสารในทีมบริหาร ความถี่และผลกระทบเชิงลบของเหตุความมั่นคงทางไซเบอร์ที่กระทบต่อองค์กรยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของกลยุทธ์ความมั่นคงทางไซเบอร์ของคณะกรรมการและทีมบริหาร โดยมาตรวัดที่ขับเคลื่อนด้วยผลลัพธ์ หรือ Outcome-Driven Metrics (ODMs) ได้ถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถขีดเส้นแบ่งการลงทุนด้านความมั่นคงไซเบอร์และมอบระดับการป้องกันที่ถูกสร้างขึ้น 

"ODMs เป็นศูนย์กลางในการสร้างกลยุทธ์การลงทุนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่สามารถป้องกันได้ สะท้อนถึงระดับการป้องกันที่ผสมผสานคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถสื่อสารในภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ที่ไม่ใช่ฝ่ายไอทีก็สามารถอธิบายได้ สิ่งนี้เป็นการแสดงออกถึงความเสี่ยงที่น่าเชื่อถือและป้องกันได้ ซึ่งสนับสนุนการลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงระดับการป้องกันโดยตรง" การ์ทเนอร์ ระบุ


เทรนด์ที่ 3 โปรแกรมวิเคราะห์พฤติกรรมและวัฒนธรรมความปลอดภัยกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากมนุษย์ เห็นได้จากผู้บริหารด้านความปลอดภัยตระหนักดีว่าการเปลี่ยนโฟกัสจากการเพิ่มความตระหนักรู้ไปสู่การส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ในปี 2570 ครึ่งนึง (50%) ของ CISO ในองค์กรขนาดใหญ่จะนำแนวทางการออกแบบการรักษาความปลอดภัยที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลักมาใช้เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดจากความมั่นคงไซเบอร์ และเพิ่มการควบคุมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยโปรแกรมวิเคราะห์พฤติกรรมและวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย หรือ Security Behavior and Culture Programs (SBCPs) สามารถใช้วิเคราะห์และสรุปแนวทางทั่วทั้งองค์กรเพื่อลดเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมพนักงาน

“องค์กรธุรกิจที่ใช้ SBCPs จะได้รับประสบการณ์การยอมรับการควบคุมความปลอดภัยของพนักงานดีขึ้น ลดพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย เพิ่มความรวดเร็วและความคล่องตัว และนำไปสู่การใช้ทรัพยากรความมั่นคงทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากพนักงานมีความสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับความเสี่ยงทางไซเบอร์อย่างอิสระ” แอดดิสคอตต์ กล่าวเพิ่ม

เทรนด์ที่ 4 คือการจัดการความเสี่ยงของบุคคลที่สามที่ขับเคลื่อนด้วยความยืดหยุ่นและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ผลจากเหตุการณ์ความมั่นคงไซเบอร์จากบุคคลที่สามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และกำลังสร้างแรงกดดันให้ผู้บริหารหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเลิกใช้แนวปฏิบัติสำหรับการตรวจสอบโดยละเอียดในด้านการลงทุน หรือ Front-Loaded Due Diligence การ์ทเนอร์แนะนำให้ผู้บริหารปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงในบริการของบุคคลที่สาม และสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันกับพันธมิตรภายนอก เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของพวกเขาได้รับการปกป้องอย่างต่อเนื่อง

“เริ่มด้วยการเสริมความแข็งแกร่งให้แผนฉุกเฉินสำหรับการมีส่วนร่วมของบุคคลที่สามที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์สูงสุด หรือสร้าง Playbooks สำหรับเหตุการณ์เฉพาะบุคคลที่สามพร้อมดำเนินการฝึกซ้อม และกำหนดกลยุทธ์ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับการเพิกถอนสิทธิในการเข้าถึงและทำลายข้อมูลอย่างทันที” แอดดิสคอตต์ กล่าวเพิ่ม

เทรนด์ที่ 5 คือการใช้โปรแกรมจัดการความเสี่ยงจากภัยคุกคามต่อเนื่อง หรือ Continuous Threat Exposure Management (CTEM) เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างมีระบบที่องค์กรธุรกิจสามารถใช้ประเมินการเข้าถึง เปิดเผย และใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลและสินทรัพย์ทางกายภาพอย่างต่อเนื่อง การจัดขอบเขตการประเมินและการแก้ไขให้สอดคล้องกับภัยคุกคามหรือโครงการทางธุรกิจในแบบเฉพาะ แทนที่จะเป็นองค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเน้นย้ำถึงช่องโหว่และภัยคุกคามที่ไม่สามารถแก้ไขได้

ภายในปี 2569 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความปลอดภัยตามพื้นฐานของโปรแกรม CTEM จะพบการละเมิดลดลงถึงสองในสาม โดยผู้บริหารจะต้องตรวจสอบสภาพแวดล้อมดิจิทัลแบบไฮบริดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถระบุตัวตนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และจัดลำดับความสำคัญของช่องโหว่ได้อย่างเหมาะสมที่สุด ช่วยรักษาพื้นผิวการโจมตีให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

และเทรนด์ที่ 6 คือการขยายบทบาทการจัดการการเข้าถึงและระบุตัวตน (Identity & Access Management หรือ IAM) เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ความมั่นคงทางไซเบอร์

เมื่อองค์กรหันมาใช้แนวทางการรักษาความปลอดภัยที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลระบุตัวตนเป็นหลักมากขึ้น การมุ่งเน้นจะเปลี่ยนจากการรักษาความปลอดภัยเครือข่ายและการควบคุมแบบดั้งเดิมอื่นๆ ไปสู่ Identity & Access Management (IAM) ทำให้มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางไซเบอร์และผลลัพธ์ทางธุรกิจ ขณะที่การ์ทเนอร์เห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นสำหรับ IAM ในโปรแกรมความปลอดภัย แนวทางปฏิบัติจะต้องพัฒนาเพื่อมุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยขั้นพื้นฐานและเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบเพื่อปรับปรุงความยืดหยุ่น

ที่สุดแล้ว การ์ทเนอร์แนะนำให้ผู้บริหารมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างของข้อมูลระบุตัวตน และใช้ประโยชน์ของการตรวจจับภัยคุกคามรวมถึงการตอบสนอง เพื่อให้แน่ใจว่าความสามารถของ IAM อยู่ในจุดที่ดีที่สุด เพื่อรับมือกับขอบเขตการป้องกันของโปรแกรมความปลอดภัยโดยรวม


กำลังโหลดความคิดเห็น