xs
xsm
sm
md
lg

"ยิบอินซอย" ขอ 2 ปีส่งลูกเข้า IPO แม่ยังปักหลัก SI-ชูกรีนโตต่ออีก 100 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดวิชัน "ยิบอินซอย" (YIP IN TSOI) ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการวางระบบไอทีไทยวัย 97 ปีพร้อมรบต่อในศตวรรษที่ 2 ยืนยันไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เองแต่จะส่งบริษัทลูกไป IPO ในปี 2569 ย้ำจุดยืนยังเป็น SI หรือผู้ส่งมอบระบบเพราะตลาดไทยยังมีความต้องการ แต่จะเป็น SI รูปแบบใหม่ที่ "ไม่ขายของเป็นชิ้นๆ" ล่าสุดเจียดเงินทุนเกิน 100 ล้านบาทลงทุน 4 สตาร์ทอัปหวังเปิดตลาดพลังงานสะอาด-เกษตรอัจฉริยะ-ไบโอนาโนเทค จากรายได้รวมที่ทะลุ 10,000 ล้านในปี 2566

สำหรับปีนี้ยิบอินซอยวางวิสัยทัศน์ให้บริการส่งมอบโซลูชันทางธุรกิจให้พันธมิตรอย่างยั่งยืน เจาะกลุ่มลูกค้าธุรกิจการเงินและการธนาคาร พลังงาน ค้าปลีก โทรคม และองค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนโดยจะมุ่งทำตลาด 5 กลุ่มโซลูชันและผลิตภัณฑ์คือ คลาวด์และระบบโครงสร้างพื้นฐานไซเบอร์ซิเคียวริตี โซลูชันสำหรับธุรกิจมโซลูชันวิเคราะห์ข้อมูล และบริการด้านการเงินและการธนาคาร ทั้งหมดนี้คาดว่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 70-80% ของรายได้รวม และมีแนวโน้มขยายตัวอีกในอนาคตที่การเกษตรรวมถึงภาคการผลิตจะมีความเกี่ยวข้องกับดิจิทัลมากขึ้น

แนวโน้มหลักที่ยิบอินซอยเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 และอีกหลายปีข้างหน้าจะไม่ใช่เพียงองค์กรที่หาทางอยู่ร่วมกันระหว่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และมนุษย์ โดยพยายามพัฒนาสถาปัตยกรรมไอทีให้สามารถรองรับทุกนวัตกรรมได้ตั้งแต่สุดปลายขอบเครือข่าย (เอจด์) ไปจนถึงระบบคลาวด์ แต่ยังจะมีพัฒนาการก้าวกระโดดด้านคลาวด์ และ AI ซึ่งยิบอินซอยมองว่าจะเป็นเทคโนโลยีแห่งยุค ยังมีเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่นมธุรกิจพลังงานสะอาด และการผลิตรถอีวี และที่สำคัญคือธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี หัวใจของทุกโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่ยิบอินซอยเชื่อว่าจะเป็น Top 3 ของตลาดไทยได้ในปลายปี 67

***โตต่ออีก 100 ปี

มรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย เปิดเผยถึงภาพรวมของบริษัทว่าเกือบ 100 ปีที่กลุ่มธุรกิจของยิบอินซอยเติบโต ปัจจุบันจำนวนบริษัทในเครือมีทั้งสิ้น 9 แห่งพนักงาน 1,900 คน และมีศูนย์บริการกว่า 32 แห่งทั่วประเทศไทยและในเขตประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทวางไดเรกชันที่การเป็นพันธมิตรธุรกิจที่ดีเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตดิจิทัลและการทำงานของผู้คนเบื้องต้นวางเป้าหมายให้ศตวรรษที่ 2 ของบริษัทมุ่งเน้นที่ดิจิทัลเทคโนโลยีซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญของบริษัท

"สำหรับร้อยปีที่ 2 เราจะเน้นที่ดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งเป็นคอร์บิสิเนสที่สำคัญของบริษัท เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเห็นการใช้เทคโนโลยี ทำให้จากนี้เราจะมุ่งเน้นสร้างสังคมที่มีสุขเน้นธุรกิจเรื่องกรีนมากขึ้น เรามีการตั้งบริษัทใหม่ทำธุรกิจสีเขียวทั้งด้านพลังงาน เทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอและนาโน) ซึ่ง 3-4 ปีที่ผ่านมา ยิบอินซอยเลือกลงทุนในสตาร์ทอัปที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ได้ลงทุนในสตาร์ทอัปด้านแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงาน รวมถึงธุรกิจฟลีทซึ่งเป็นบริการจัดส่งโลจิสติกส์แบบกรีนที่มีการเก็บข้อมูลในประเทศไทย เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันบริษัทในศตวรรษที่ 2 ของยิบอินซอย"


มรกตเล่าย้อนถึงศตวรรษแรกของยิบอินซอยว่าเริ่มต้นจากธุรกิจค้าแร่ที่หาดใหญ่ด้วยพื้นที่ 2 คูหา รูปแบบธุรกิจที่เน้นการซื้อแร่แล้วนำไปขายที่ปีนัง มาเลเซีย ได้ขยายไปส่งออกสู่สหรัฐอเมริกา จนมีการขยายกิจการไปทำเหมืองแร่ต่อเนื่องถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงเวลานั้นยิบอินซอยมีการรับตัวผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเป็นผู้บริหาร และร่วมมือกับคู่ค้ามาตลอด และจากที่มีฐานการค้าเข้มแข็งที่ภาคใต้และได้รับการรู้จักมากมาย ยิบอินซอยได้เข้าสู่ธุรกิจการเงินในช่วงนั้นมีการร่วมมือกับธนาคารนครหลวงไทยขยายสาขา มีการนำเข้าเครื่องบวกเลข ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นฐานรากของยิบอินซอยในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา

จนในปัจจุบัน 4 ธุรกิจในกลุ่มยิบอินซอยครอบคลุมถึงด้านไอทีดิจิทัลโซลูชัน เทคโนโลยีขั้นสูง การค้าและการผลิตทรวมถึงธุรกิจประกัน และจะมีธุรกิจด้านกรีนเอเนอร์จีโซลูชันเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ และเทคโนโลยีนาโนชีวภาพต่อไปในอนาคต ผ่าน 4 สตาร์ทอัปที่ยังตั้งไข่

"ธุรกิจคลาวด์และการทำให้ไอทีอินฟราสตรักเจอร์มีความทันสมัย เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงเพราะประเทศไทยเริ่มใช้เทคโนโลยีมานาน ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสในการปรับระบบ เราชำนาญเพราะอยู่ใน 2 โลก เราเป็นผู้นำโลกออนพริม (การใช้ระบบไอทีโดยระบบตั้งอยู่ในสถานที่ของเจ้าของระบบและมีการรักษาระบบด้วยตัวเอง) และเป็นคู่ค้ากับพันธมิตรในโลกเทคโนโลยีทันสมัย อีกส่วนคือธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี ก่อนนี้เป็นไอเท็มย่อยของการลงทุนแต่ตอนนี้เป็นโครงการหลัก ยอมรับว่าเราเป็นผู้เล่นรายใหม่ ตอนนี้กำลังตั้งทีมจริงจัง คาดว่าจะเป็น Top 3 ได้ในปลายปีนี้หรือปีหน้า"

มรกตระบุว่าในหลังบ้านยิบอินซอยยังให้บริการซ่อมเครื่องออนพริม และมุ่งเน้นให้บริการแมนเนจเซอร์วิสโดยเฉพาะเน็ตเวิร์ก ทั้งในระบบสอบของมหาวิทยาลัย ระบบจัดระเบียบข้อมูลในองค์กรเพื่อจัดทำรายงานให้ตรงตามกฎหมายและนโยบายของแบงก์ชาติ รวมถึงยังดำเนินธุรกิจวิทยุสื่อสาร ระบบนำร่องลงสู่สนามบิน ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันในยุคที่การสื่อสารและไอทีรวมเป็นเรื่องเดียวกันในช่วง 10 ปีหลัง

สำหรับช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ยิบอินซอยเลือกลงทุนใน 4 สตาร์ทอัปอนาคตไกลด้วยงบราว 100 ล้านบาท หนึ่งในนั้นคือ อีซีไรซ์ (EasyRice) ซึ่งพัฒนา AI ในการคัดเลือกพันธุ์และคุณภาพข้าว เชื่อว่าจะสามารถดิสรัปเรื่องการเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ข้าว ซึ่งจะทำให้การค้าขายข้าวทำได้ในวงกว้างขึ้นโดยอาจนำเอาไปขยายการรับรองคุณภาพสินค้าเศรษฐกิจอย่างกาแฟและทุเรียนได้ในอนาคต

นอกจากนี้ คือโมรีนา (Morena Solution) บริษัทด้านไบโอ-นาโนเทคโนโลยี ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่นำสารอาหารส่งตรงสู่พืชผลในพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์ด้วยระดับที่พอดีเหมาะสม จุดนี้มรกตอธิบายว่าเป็นเทคโนโลยีที่ไม่อันตรายและปุ๋ยเคมีนั้นเปรียบเหมือนวิตามิน ต่างจากส่วนที่อันตรายคือยาเคมี

"เราเริ่มจริงจังมา 1-2 ปีแล้ว ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัป แต่ยังต้องใช้เวลา ทุกสตาร์ทอัปเก่งส่วนเราใช้ฐานและภูมิคุ้มกันธุรกิจที่ดี การผ่านวิกฤตธุรกิจหลายครั้งทำให้รู้ว่าต้องผ่านไปได้อย่างไร การพูดคุยกับสตาร์ทอัปอาจจะเคลิ้มง่ายแต่เราต้องเลือกที่จะทำงานกับสิ่งที่เรามีความเชี่ยวชาญและเสริมเศรษฐกิจไทย"

อีกสตาร์ทอัปคือ วินโนหนี้ (Winnonie) ซึ่งยิบอินซอยร่วมทุนกับบางจาก เป็นแพลตฟอร์มเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ยังเป็นอุปกรณ์สัญชาติไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ภาวะที่ไม่สามารถบริหารจัดการระบบได้เต็มที่ ทำให้ยิบอินซอยมุ่งมั่นพัฒนารถอีวีแบรนด์ตัวเอง นำไปสู่การลงทุนในสตาร์ทอัปอีกรายคือโซลาริน (Solaryn) ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวต้นแบบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้ในเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้

"ต้นแบบมาแล้วแต่ดีเลย์ เป็นแบรนด์เราเองชื่อ RYN ปีนี้ออกเชิงพาณิชย์แน่นอน แบตเตอรี่ใช้ของไทยเราจับมือกับ ม.ขอนแก่นทำโซเดียมแบตเตอรี่ใช้เกลือแต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องขนาด เลยเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่จีนก่อนในช่วงแรก" มรกตระบุ "ปีนี้ต้องการให้สตาร์ทอัป 4 รายแรกของเราออกผลเชื่อว่าเกิน 80% ต้องรอด แต่ต้องใช้เวลา"

***ลงทุนเชิงกลยุทธ์

ยิบอินซอยเชื่อว่า 4 สตาร์ทอัปนี้จะต่อยอดธุรกิจได้ทั้งหมด โดยอีซีไรซ์เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่จะนำ AI เข้าสู่ระบบประมวลผลภาพ ทำให้ระบบประมวลผลจนรู้ถึงชาติพันธุ์ กลิ่น รส มีการใช้คำว่า "ละมุนลิ้น" โดยระบบสามารถผสมพันธุ์ข้าวโดยไม่ยุ่งกับ DNA แต่ใช้วิธีคำนวณสัดส่วนการผสมข้าวแต่ละชนิดให้ได้กลิ่นรสเฉพาะที่พื้นที่นิยม เชื่อว่าจะเสริมแกร่งในธุรกิจส่งออกข้าว ประหยัดเวลาจากการใช้ "หลงจู๊" ที่ต้องมีประสบการณ์ 10 ปีขึ้นไป แต่สามารถใช้ภาพนับหมื่นภาพถือเป็นการผสมผสานระหว่างคนและเทคโนโลยี ที่นับเป็นยุคที่ 5 ของยุคอุตสาหกรรมซึ่งตอนนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ อีซีไรซ์ยังสามารถนำมาใช้กับภาคการผลิต โดยจะสามารถประมวลผลภาพเพื่อควบคุมคุณภาพการผลิตในโรงงาน และดูลักษณะความร้อนของเครื่อง เบื้องต้นวางแนวทางพัฒนาให้ระบบสามารถวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของวิดีโอ และพัฒนาระบบพยากรณ์ เพื่อให้ผู้ดูแลสามารถทราบแนวโน้มการผลิตล่าช้า หรือสายการผลิตร้อนเกินไป เรียกว่าทุกอย่างสามารถใช้อีซีไรซ์ได้ในธุรกิจการผลิต


ในอีกด้าน สตาร์ทอัปไบโอ-นาโนเทคก็สามารถโยงเข้ากับบริการเฮลท์แคร์ได้ในอนาคต ขณะที่การเข้าไปลงทุนในวินโนหนี้ ด้วยฐานะเป็นพันธมิตร 1 ใน 3 ซึ่งมีบางจากเป็นทุนใหญ่เกินครึ่ง และมีการร่วมทุนต่อมากับ BTS เพื่อให้บริการลาสไมล์ให้ผู้โดยสารเดินทางจากรถไฟไปถึงปลายทางด้วยรถไฟฟ้า บริษัทยังมีวิสัยทัศน์พัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของตัวเองและวางจุดยืนเหมือนเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าตัวหนึ่ง

"ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปมานาน เราจะเคยได้ยินว่าทำไมอเมริกาถึงใช้รถสันดาปเยอะ เพราะเขามีน้ำมัน ถ้าทำให้ใช้น้ำมันลดลงจะทำลายเศรษฐกิจ การยอมรับรถไฟฟ้าของอเมริกาจึงไม่เหมือนจีนที่รับเร็วมาก แต่การรับรู้ที่ผ่านมา รถไฟฟ้ามีคุณภาพไม่ดี เราจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้เวลาพัฒนาส่วนเรื่องขยะแบตเตอรี่ที่เป็นพิษเราได้พัฒนาร่วมกับทม.ขอนแก่นเพื่อพัฒนาโรงซ่อมแบตเตอรี่ ทำให้แบตเตอรี่ที่หมดอายุหรือผ่านการใช้งานแล้วสามารถนำมาใช้ใหม่กับระบบเก็บพลังงานตรงนี้ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมไอออน ซึ่งใช้งานได้ดีแต่อาจยังไม่เหมาะใช้ในรถ โดยในขนาดเท่ากันยังสามารถเก็บพลังไฟได้ครึ่งเดียว"

แม้จะมุ่งที่กรีนอีโคโนมี แต่ยิบอินซอยยังไม่นับให้กรีนเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ปี 67

"สัดส่วนรายได้กรีนปี 67 ยังไม่นับ เรายังต้องใช้เวลาพัฒนาและลงทุนกับสตาร์ทอัปเหล่านี้อีก ตอนนี้รายได้มาแล้วแต่ยังน้อยมาก เราพร้อมให้การสนับสนุนให้สำเร็จให้ได้ ซึ่งบางทีสำเร็จแล้ว การยอมรับจากตลาดก็ยังช้าอยู่ในระหว่างที่ต้องรอเราจะทำงานร่วมกันโดยไม่ได้หวังเป็นคนเดียวที่กินรวบเพราะบางทีสตาร์ทอัปเก่งมากแต่ไม่สามารถเข้าโครงการใหญ่ได้ เราต้องพึ่งพากันเพื่อเข้าไปให้ได้"

***ยังเป็น SI

สุภัค ลายเลิศ กรรมการอำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ยิบอินซอย ยอมรับว่าธุรกิจปี 66-67 ของยิบอินซอยได้รับผลกระทบสูงจากการอนุมัติงบของหน่วยงานไทยที่ล่าช้ามาก แต่ยิบอินซอยวางแผนการเติบโตด้วยการเจาะตลาดที่กว้างขึ้นทุกปี โดยจะเข้าสู่ตลาดที่มีโอกาสมากขึ้นและในอนาคตบริษัทมุ่งนำความชำนาญในระบบไอทีราชการ มาขยายสู่หน่วยงานราชการที่ไม่เคยเข้าถึงมาก่อน

"การแข่งขันปี 67 จะมีสีสัน เราจะสร้างฐานลูกค้าทั้งรัฐวิสาหกิจ ส่วนธนาคารเรามีฐานลูกค้ามากแล้วแต่จะเน้นขยายเซกเตอร์ใหม่ๆ และระบบที่เกี่ยวกับหน่วยงานกำกับดูแลและการเมนเทนคอร์แบงกิ้ง ปีหน้าจะมีการบำรุงรักษาคอร์ต่างๆ" สุภัคกล่าว "ปี 67 เราจะไม่ยอมให้ข้อจำกัดมีผลมากเกินไปแต่จะเน้นตลาดใหม่ เอนจินดันการเติบโตของยิบอินซอยในปีถัดไปก็ยังเป็นไอที สตาร์ทอัปอาจจะไม่ได้สร้างการเติบโตให้เราโดยตรงแต่ที่เราได้คือเทคโนโลยีที่เฉพาะทาง และนำไปปรับเพื่อเจาะตลาดอื่นได้"

หลายปีที่ผ่านมา สุภัคย้ำว่ายิบอินซอยมีสัดส่วนรายได้จากรัฐเกือบ 90% แต่ปัจจุบันลดเหลือ 30% สาเหตุไม่ใช่เพราะการขายที่น้อยลง แต่เป็นเพราะตลาดเอกชนเติบโตเร็วกว่า เบื้องต้น มีการเปิดตลาดในหลายธุรกิจ ซึ่งในช่วง 1-2 ปีนี้จะไม่เติบโตทันที แต่มีการเปิดฐานตลาดไว้ก่อน เบื้องต้นคาดหวังตัวเลขปีแรกในระดับพันล้านบาท

"เราจะยังคงเป็นซิสเต็มส์ อินทิเกรเตอร์ (Systems Integrator) แม้จะมีกระแสแรงว่า SI กำลังหมดไปอาจจะใช่ แต่ผมคิดว่า SI ต้องหาคุณค่าของตัวเอง การไปคลาวด์มากขึ้นทำให้ SI ยังมีที่ยืน รายได้จะย้ายมาทางแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์มากขึ้น เราจะอยู่ได้เมื่อหาพบว่าทำไมต้องจ้างเรา"


ยิบอินซอยยอมรับว่ากฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างในไทยยังเอื้อให้ตลาดต้องมี SI ซึ่งอาจจะมีการปรับให้กฎระเบียบเหมือนต่างประเทศในอนาคต แต่ยังต้องใช้เวลาและในตอนนี้ SI ยังมีที่ยืน ในอีกด้าน สุภัคย้ำว่าธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตีสามารถสร้างยอดขายที่ดีมากให้ยิบอินซอย จึงมีการแยกทีมงานเพื่อให้จัดการได้เร็ว เบื้องต้นยังไม่มีการแยกหรือสปินออฟเป็นบริษัท แต่มีการปรับสายอำนาจให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเรื่องการจ้างบุคลากร

"นโยบายการลงทุนคลาวด์ภาครัฐยังเป็นโอกาสทองของ SI ทุกครั้งที่มีการแตะต้องระบบดั้งเดิม จะเป็นโอกาสของ SI ทุกเจ้า การย้ายระบบไม่ง่ายไม่สามารถย้ายได้ตรงๆ ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะ มีบางระบบที่คนเคยทำไม่อยู่แล้ว ติดตามไม่ได้ แต่เราทำได้ เชื่อว่าปีนี้ตลาดคึกคักแน่นอน ยอดขายอาจจะไม่ออกมาทางฮาร์ดแวร์ตรงๆ แต่อยู่ในรูปบริการแน่นอน"

แม้ว่าอาจจะมีการปรับโครงสร้างยิบอินซอยในอนาคต แต่บริษัทยืนยันว่าจะไม่นำยิบอินซอยเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยจะนำเอาบริษัทลูกเข้า IPO เนื่องจากมีความจำเป็นด้านการยอมรับในสังคม จุดนี้สุภัคระบุว่าการดำเนินการยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น คาดว่าจะบรรลุผลเร็วที่สุดคือปี 2569 ระยะแรกวางแผนเริ่มที่ 1 บริษัท ซึ่งยังต้องเข้าสู่กระบวนการหารือกับบริษัทที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับเหตุผลที่ไม่นำเอาบริษัทแม่เข้าตลาด ทีมผู้บริหารย้ำว่าไม่ใช่เพราะไม่เห็นประโยชน์ของการระดมทุน แต่จากความพยายามนำเข้ากระบวนการพบความยุ่งยากเรื่องการจัดการทรัพย์สินเดิม ซึ่งซับซ้อนมากขึ้นตามขนาดธุรกิจที่ขยายใหญ่มานานปี เบื้องต้นยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อบริษัท แต่บอกใบ้ว่าบริษัทที่เข้าตลาดต้องมี "ความใหม่" พอสมควรรวมถึงมีลูกค้าที่ชัดเจน และต้องมีโอกาสสดใสรออยู่

"เราอยู่มาจะ 100 ปีแล้ว ไม่กลัวเรื่องการเปลี่ยนแปลง อีกหลายสิบปีเราก็ยังทำเทคโนโลยีอยู่ แต่เราต้องปรับตัว ตอนนี้เราใหญ่ แต่เมื่อ 20-30 ปีก่อนเราไม่มีตัวตน ไม่แน่หลายอย่างอาจจะเปลี่ยนคำเรียกไป แต่เนื้อในก็ยังเกี่ยวพันกัน"


กำลังโหลดความคิดเห็น