xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุตุฯ เล็งของบปี 68 กว่า 10 ล้านบาท ทำแอปพลิเคชันเช็กสภาพอากาศตัวใหม่ ถูกต้อง-แม่นเป๊ะเกิน 90%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โละทิ้ง! 'กรมอุตุนิยมวิทยา' เล็งของบปี 68 กว่า 10 ล้านบาท ทำแอปพลิเคชันเช็กสภาพอากาศตัวใหม่ แทนที่ของเดิมที่ไม่ทันสมัย ปิดจุดด้อย เพิ่มความถูกต้อง แม่นเป๊ะ เกิน 90%

ตามที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประกาศ 7 Flagships หลักในการดำเนินงานปี 67 ของกระทรวงดีอี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในส่วนของกรมอุตุนิยมวิทยาจะมีการพัฒนารูปแบบการใช้งาน (Use case) สำหรับการพยากรณ์อากาศระยะปัจจุบันอัจฉริยะ ข้อมูลพยากรณ์กลุ่มฝนเชิงพื้นที่ระดับอำเภอ ล่วงหน้า 3 ชั่วโมง บริเวณ 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ และแผนที่เสี่ยงภัยสภาวะฝนตกหนักถึงหนักมาก

น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า การที่ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้ระบบอากาศในบ้านเรามีความไม่แน่นอน เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง แตกต่างจากประเทศที่อยู่ไกลจากเส้นศูนย์สูตร เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่ระบบบรรยากาศมีความคงที่ การเคลื่อนไหวของระบบอากาศจึงเป็นไปตามแบบแผนที่กำหนดไว้ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme Weather Event) เป็นความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลใหัการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเป็นเวลานาน เช่น ในระยะ 1-3 เดือนตามฤดูกาล หรือล่วงหน้า 1 ปี กลายเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนถึงปัจจัยที่แน่นอนได้ ดังนั้น การนำ AI มาประยุกต์ใช้จะช่วยให้การพยากรณ์อากาศล่วงหน้าในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 3 ชั่วโมง เช่น การตรวจจับการก่อตัวของกลุ่มฝน ทิศทางการเคลื่อนที่ มีความแม่นยำมากกว่า 90% ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่ดีมาก แม้จะมีความคลาดเคลื่อนบ้าง แต่มีความแม่นยำสูง

ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ และประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด กรมอุตุนิยมวิทยาจึงอยู่ในขั้นตอนการจัดทำคำของบประมาณปี 68 กว่า 10 ล้านบาท เพื่อจัดทำแอปพลิเคชันรายงานสภาพอากาศของไทยตัวใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัย ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และปรับปรุงจากจุดอ่อนของแอปพลิเคชันเดิมให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการให้ข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำสูง เมื่อเปิดแอปพลิเคชันจะได้รับข้อมูลทันที เช่น ฝนจะตกในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าหรือไม่ เพื่อช่วยให้ประชาชนเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจหยิบร่มก่อนออกจากบ้าน และยังสามารถแจ้งให้ทราบถึงสภาพอากาศอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นความร้อนหรือแดดจัดตามพื้นที่ต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ คาดว่าปลายปี 68 จะได้เห็นหน้าตาของแอปพลิเคชันอย่างเป็นรูปธรรมได้

นอกจากนี้ กระทรวงดีอีอยู่ในขั้นตอนการยกร่าง พ.ร.บ.อุตุนิยมวิทยา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อทำการปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสม จากเดิมที่กรมอุตุนิยมวิทยาไม่เคยมีกฎหมายเฉพาะเจาะจงมาก่อน แต่ปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาต้องการสร้างรายได้ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานมีหน้าที่ให้บริการข้อมูลสภาพภูมิอากาศแก่สายการบินทั่วโลกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่มีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงจะช่วยปลดล็อกให้กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถหารายได้จากส่วนนี้ได้

"เรื่องนี้ศาสตรจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี พยายามเร่งขับเคลื่อนอยู่ จึงคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อลดการทำงานที่ยุ่งยาก และลดภาระค่าใช้จ่ายที่กรมอุตุนิยมวิทยาต้องแบกรับ ช่วยให้การทำงานในภาพรวมมีความคล่องตัวมากขึ้น" น.ส.กรรวี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น