เปิดทิศทางตลาดดิจิทัล เงินสะพัดต่อแม้เศรษฐกิจปี 2567 น่าห่วง "บลูบิค กรุ๊ป" (Bluebik Group) หรือ BBIK เผยการลงทุนเทคโนโลยีและบริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ทั่วโลก คาดว่าจะแตะระดับ 2.51 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเวียดนามนำธงโตแรงสุดในอาเซียน 18% แซงหน้าประเทศไทยที่มีแนวโน้มขยายตัว 11-13%
ตัวเลขการเติบโตนี้สะท้อนสัญญาณสดใสในธุรกิจที่ปรึกษาดิจิทัลโดยบริษัทคอนซัลต์อย่างบลูบิคนั้นมั่นใจเต็มที่ว่าปีนี้จะเติบโตเกิน 50% ตามเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์ Synergy หรือการประสานพลังบริษัทหลายแห่งในเครือ คู่ไปกับการบุกหนักตลาดต่างประเทศที่เห็นปัจจัยบวกชัดเจนในตลาดการลงทุนไอที
บลูบิคนั้นเพิ่งจะฉลองขวบปีที่ 10 ของบริษัท ซึ่งแม้ว่าธุรกิจบริการที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันครบวงจรจะทำรายได้เพิ่มนิวไฮต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 แต่หัวเรือใหญ่อย่าง "พชร อารยะการกุล" ยังประเมินให้คะแนนตัวเองที่ 8 เต็ม 10 โดยหักคะแนนที่ตลาดต่างประเทศเพราะเชื่อว่ามีช่องทางปรับให้ดีขึ้นได้อีก ดังนั้นปี 2567 จึงเป็นปีแห่งการเตรียมแก้มือบุกหนักโกอินเตอร์ เพื่อให้บริษัทได้ขึ้นแท่นเป็นบริษัทคอนซัลต์ที่ปรึกษาดิจิทัลชั้นนำระดับโลกสำเร็จในอีก 10 ปีนับจากนี้
***10 ขวบ "บลูบิค" เน้น Synergy
พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK กล่าวระหว่างการประกาศทิศทางธุรกิจปี 2567 ว่าได้วางแผนขยายบริษัทใน 4 ทิศทางตามการแบ่งธุรกิจออกเป็น 4 ส่วน โดยส่วนหลักคือบริการที่ปรึกษาที่เป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของบริษัท ซึ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา บลูบิคสามารถเติบโตเกิน 50% ทุกปี เชื่อว่าปีนี้จะมี 6 ปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตต่อไปอีก
"ปีนี้เรายังหวังว่าจะเติบโตในสถิติใหม่ ตอนนี้เรามีพนักงาน 900 คน คิดว่าจะเพิ่มตลาดใหม่ได้ ถือเป็นปีที่น่าตื่นเต้น เราสร้างการเติบโตได้ และพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถสร้างผลลัพธ์ สร้างอิมแพค และสร้างผลกำไรให้นักลงทุนได้จริงๆ"
4 กลุ่มธุรกิจของบลูบิคประกอบด้วยกลุ่มแรกคือบริการที่ปรึกษา บลูบิคทำทั้งด้านวางกลยุทธ์และประยุกต์ใช้ โดยวางกลยุทธ์ภาพรวมบริษัท และวิเคราะห์หาความได้เปรียบ รวมถึงโร้ดแมปเพื่อการลงทุนเพื่อให้ลูกค้าที่เป็นองค์กรสามารถแข่งขันได้ กลุ่มที่ 2 คือบริการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาปรับใช้ให้องค์กร เช่น องค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการวางกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ และการบริหารจัดการทีมไอที ซึ่งบลูบิคไม่เพียงให้คำปรึกษา แต่ยังช่วยสร้างซอฟต์แวร์ที่มีความซับซ้อนสูงเพื่อให้บริการผู้บริโภคหลายล้านราย โดยปัจจุบันมีให้บริการคนไทยหลายสิบล้านราย
ปี 2567 บลูบิควางแผนโฟกัสที่ซอฟต์แวร์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ด้วยเครื่อง (AI, ML) และเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งหมดนี้จะเสริมความแข็งแกร่งจากเดิมที่บลูบิคเด่นเรื่องแพลตฟอร์มบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HR) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้หลักแสนราย
สำหรับกลุ่มที่ 3 คือการร่วมมือกับพันธิตรเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ โดยที่ผ่านมา บลูบิคได้ลงทุนร่วมกับโออาร์ (OR) เพื่อสร้างธุรกิจที่ทำรายได้จากข้อมูล และยังลงทุนกับเดอะสแตนดาร์ดเพื่อให้บริการด้านการศึกษา ขณะที่ธุรกิจกลุ่มที่ 4 คือธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งบลูบิคให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพื่อขยายฐานสู่ตลาดโลก
"ปี 2567 เราตั้งใจเติบโตระดับที่สูงมาก ด้วยส่วนประกอบที่มี บริษัทต่างๆที่ควบรวมมา ปีนี้จะเป็นปีที่ต้องทำงานร่วมกันใช้นวัตกรรมในการเปิดตลาดใหม่ เพื่อสร้างการเติบโต การรวม Synergy เหล่านี้จะทำให้เราเติบโต 50%"
บลูบิคไม่เปิดเผยมูลค่างบลงทุนที่เตรียมไว้สำหรับปี 2567 แต่ยกตัวอย่างว่าหนึ่งในนั้นคือการซื้อหุ้นบริษัทอินโนวิซเพิ่มขึ้น จากเดิมที่บลูบิคถือ 55% จะเพิ่มเป็น 85% ดีลนี้จะเกิดขึ้นภายในครึ่งแรกปี 2567 บนงบประมาณราว 200-300 ล้านบาท สำหรับดีลในพื้นที่อื่นบริษัทยังคงค้นหาดีลที่เหมาะสม คู่กับการลงทุนแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น
บทสรุป 6 ปัจจัยบวกที่พชรเชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของบลูบิค ประกอบด้วย 1. แผนบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทย่อยในเครือ เพื่อขยายการให้บริการพร้อมผลิตภัณฑ์ผ่านฐานลูกค้าของแต่ละบริษัท 2. แผนการเพิ่มรายได้ รวมถึงการมองหาดีลควบรวมกิจการใหม่เพื่อเสริมแกร่งและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของบริษัทย่อย 3. แผนขยายตลาดต่างประเทศ มุ่งเน้นเจาะตลาดที่มีศักยภาพสูง เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเติบโตต่อเนื่อง 4. แผนต่อยอดการเติบโตของบริการหลักจากเทรนด์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ทั้งเทรนด์การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบยืดหยุ่นสูง เทรนด์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้าน Generative AI และเทรนด์การโจมตีทางด้านไซเบอร์ที่รุนแรงขึ้นจนสร้างความเสียหายให้ธุรกิจ เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 70% ทั่วโลก ระหว่างปี 2566-2571
5. ปัจจัยบวกจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มปีเพิ่มเติม จากบริษัท วัลแคน ดิจิทัล เดลิเวอรี่ จำกัด (BBVC) และบริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ (Innoviz) ที่คาดว่าจะได้รับอนุมัติในครึ่งปีหลังของปีนี้ และ 6. ส่วนแบ่งกำไรปี 2567 ที่จะเพิ่มขึ้นจากการถือครองหุ้นเพิ่มใน Innoviz จากเดิม 55% (ณ สิ้นปี 2566) เป็น 85% โดยกระบวนการซื้อขายหุ้นเพิ่มคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
***โกอินเตอร์ ชูเมืองไทย
หากลงลึกเรื่องแผนขยายตลาดปี 2567 พชรระบุว่าปีนี้บลูบิคจะให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศ โดยมุ่งนำองค์ความรู้มาสังเคราะห์เพื่อนำมาใช้กับหลายประเทศอย่างเหมาะสม จุดนี้มีการยกตัวอย่างว่าเวียดนาม เป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูงและยังไปได้ดี เนื่องจากบริษัทเทคที่เข้ามาทำตลาดเวียดนามมักเป็นบริษัทเอาท์ซอร์สขนาดใหญ่ระดับโลก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของบลูบิคที่สามารถทำราคาที่ดีกว่า บนชื่อเสียงของประเทศไทยที่มีความล้ำหน้าเรื่องการใช้เทคโนโลยีในหลายอุตสาหกรรม
"อีกประเทศคืออินโดนีเซีย ประเทศนี้เป็นเกาะ ต้องการใช้ยูสเคสที่หลากหลายจำนวนมาก จุดเด่นของเราคือมียูสเคสจากไทยที่สามารถแข่งขันในเอเชียได้ โดยเฉพาะด้านราคา เพราะทุนที่ต่ำกว่าทำให้เรามีโอกาสตีตลาดได้"
สำหรับประเทศไทย บลูบิคมีแผนเจาะตลาดเอกชนเป็นหลัก โดยรายได้ปัจจุบันกว่า 90% มาจากเอกชน ซึ่งแม้ตลาดนี้จะยังเป็นฐานที่สำคัญ แต่บลูบิคก็มุ่งให้น้ำหนักกับลูกค้าภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยยังอยู่ระหว่างการพูดคุย คาดว่าจะมีการช่วยรัฐบาลมากขึ้นในปีนี้
เฉพาะปี 2566 บลูบิคมีกำไรสุทธิ 303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และรายได้อยู่ที่ 1,313 ล้านบาท โตขึ้น 133% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยหากเจาะเฉพาะผลประกอบการไตรมาส 4 ประจำปี 2566 บลูบิคมีกำไรสุทธิ 86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ และมีรายได้ 372 ล้านบาท เติบโตขึ้น 11%
สำหรับ Backlog ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 มีมูลค่าราว 863 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มาจากบลูบิค 709 ล้านบาท และบริษัทร่วมทุนอีก 154 ล้านบาท เบื้องต้นบลูบิคเตรียมรับรู้รายได้ในปีนี้ 579 ล้านบาท และที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้หลังจากปี 2567 ในขณะที่บริษัทร่วมทุนจะรับรู้รายได้ทั้งหมดในปี 67
พชรยืนยันว่าแม้ปี 2567 จะมีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ แต่ความต้องการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันยังเติบโต เพราะการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องทำอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ที่มาแรงคู่กับเทคโนโลยีไซเบอร์ซีเคียวริตี้ คาดว่าปีนี้จะเห็นการลงทุนด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น สวนทางการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องแกนธุรกิจดั้งเดิมที่จะมีการชะลอการลงทุน เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ใช้เงินเยอะ แต่ไม่เพิ่มรายได้ เบื้องต้นเชื่อว่า 20-30% ขององค์กรใหญ่ต้องลงทุนส่วนนี้
"ปีนี้เรื่องที่น่าจะมาแรงที่สุดคือ AI เพราะเริ่มเสถียรและมียูสเคส มีการออกโปรดักต์ AI ใหม่ทุกสัปดาห์ เชื่อว่าขีดความสามารถจะไม่หยุดเท่านี้ และเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนใหญ่ที่สุด ที่ตามมาคือไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพราะการใช้ดิจิทัลมาก ความเสี่ยงก็มากขึ้นด้วย และ AI ก็แฮกได้ มีคนพยายามนำเอาข้อมูลอ่อนไหวออกมา บริษัทจึงต้องลงทุนตามไปด้วย" พชรกล่าว
ในส่วนตลาดนอกประเทศไทย พชรยอมรับว่ารายได้จากธุรกิจต่างประเทศของบลูบิคยังต่ำกว่า 5% จากที่มองไว้ 10-15% อย่างไรก็ตาม ทิศทางความต้องการและลักษณะของบริการดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมั่นใจมากขึ้นในการหาจุดยืนเพื่อแข่งขันกับบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก โดยไม่เพียงเน้นที่ AI มากขึ้น แต่บริษัทยังเริ่มจับตาเทคโนโลยีเสมือนจริงอย่าง VR และ AR บนความเชื่อว่าหากฮาร์ดแวร์พัฒนาจริงจัง ย่อมจะมีการใช้งานมากขึ้นอีกในช่วง 2-3 ปีจากนี้
"ผมให้คะแนน 10 ปีที่ผ่านมาของบลูบิคที่ 8 คะแนน แม้จะถือว่าทำได้ดีแต่ยังมีหลายจุดที่สามารถปรับให้ดีกว่านี้ได้ ที่ผ่านมาบริษัทเห็นโอกาสหลายครั้ง อย่างตลาดต่างประเทศ เชื่อว่ายังมีโอกาสทำได้มากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามที่คาดหวัง" พชรทิ้งท้าย "10 ปีจากนี้ เราอยากเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมาเราแข่งขันมาตลอด และอยากแข่งในตลาดโลกให้ได้ คาดว่า 10 ปีนับจากนี้จะเป็นไปได้".