xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญาทุจริตฯ ยกฟ้องคดี 'ภูมิศิษฐ์' ร้อง ประธาน กสทช. ผิด 157 ตั้งรักษาการ เลขาฯกสทช. โดยมิชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลอาญาทุจริตฯ ยกฟ้องคดี 'ภูมิศิษฐ์' ร้อง ประธาน กสทช. ผิด 157 ตั้งรักษาการ เลขาฯกสทช. โดยมิชอบ ลุ้นต่อ 4 เม.ย. คดี 'ไตรรัตน์' ฟ้อง 4 กสทช. ฐานรวมหัวหนุน รองเลขาฯกสทช.


เมื่อวันที่ 27 ก.พ.67 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งยกฟ้องในคดี นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เป็นจำเลย ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิศิษฐ์ ยื่นฟ้อง นพ.สรณ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.66 โดยระบุว่า จำเลยมีหน้าที่ในการแต่งตั้งโจทก์ ในฐานะรองเลขาธิการ กสทช. เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ เพื่อให้เป็นไปตามความเห็นชอบจาก กสทช. ในการประชุมครั้งที่ 13/2566

เหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.66 คณะกรรมการ กสทช. โดยเสียงข้างมากมีมติการประชุมดังกล่าว ตามวาระที่ 5.22 รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2565

กรณีการดำเนินการเกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุน จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ สาธารณะ (กองทุน กทปส.)

ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน ในการประชุมครั้งดังกล่าว กสทช. เสียงข้างมากมีมติไม่เห็นชอบให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ซึ่งเป็น รองเลขาธิการ กสทช. สายยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. จนกว่าจะสอบสวนทางวินัยเสร็จสิ้น และมีมติให้เปลี่ยนตัว รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และมีมติเห็นชอบให้โจทก์ ดำรงตำแหน่ง รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการสอบสวนวินัยจะเสร็จสิ้น

ภายหลังจากการพิจารณาวาระดังกล่าว นายสมบัติ ลีลาพตะ ขณะนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้รับแจ้ง และประสานงานจาก สำนักทรัพยากรบุคคล (บ.ย.) และฝ่ายเลขานุการที่ประชุมร่างคำสั่งแต่งตั้งพนักงาน เป็นรักษาการ แทนเลขาธิการ กสทช. กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ตามมติที่ประชุม กสทช. เพื่อเสนอต่อจำเลยในฐานะ ประธาน กสทช. ภายในวันที่ 9 มิ.ย.66

โดยมีสำนักทรัพยากรบุคคล เป็นผู้จัดทำและเสนอบันทึกพร้อมร่างคำสั่งฯ ซึ่งแต่งตั้งโจทก์เป็นรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ซึ่ง นายสมบัติ ได้ลงนามในบันทึกข้อความ เพื่อเสนอร่างคำสั่งแต่งตั้งตามระเบียบและแนวปฏิบัติในการเสนอเรื่อง ต่อจำเลย (ครั้งที่ 1) แต่ปรากฏว่าจำเลย ไม่ได้ลงนามแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการ แทนเลขาธิการ กสทช. แต่อย่างใด

เมื่อช่วงวันที่ 12-18 มิ.ย.66 ช่วงเวลาที่โจทก์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงาน รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ตามคำสั่งสำนักงาน กสทช. ที่ 569/2566 ฉบับลงวันที่ 29 พ.ค.66 โจทก์ ได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติการประชุมครั้งที่ 13/2566 ในวาระที่ 5.22 กล่าวคือ ดำเนินการเกี่ยวกับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย

และโจทก์มีบันทึก ข้อความ (ครั้งที่ 2) เพื่อแจ้งให้แก่สำนักทรัพยากรบุคคล พิจารณาร่างหนังสือแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แต่ปรากฏว่า จำเลยเพิกเฉย มิได้ลงนามแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.66 ได้มีการออกประกาศข่าวประชาสัมพันธ์ของเลขานุการประจำ ของจำเลย พร้อมมีประกาศว่า จำเลยยังไม่มีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนแต่งตั้ง นายไตรรัตน์ จากการเป็น รักษาการ เลขาธิการ กสทช. และจำเลยยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ให้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แทน นายไตรรัตน์ แต่อย่างใด และประกาศว่า นายไตรรัตน์ ยังคงต้องปฏิบัติ หน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และมีอานาจหน้าที่เช่นเดียวกับเลขาธิการ กสทช. ทุกประการ

โจทก์ได้มีบันทึกข้อความถึงจำเลย เพื่อพิจารณาสั่งการตามมติการประชุมดังกล่าว แต่ปรากฏว่าจำเลย ยังคงละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้พิจารณาสั่งการให้เกิดความชัดเจน หรือลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์ เป็นรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ครั้งที่ 13/2566 แต่อย่างใด
 
พฤติการณ์ของจําเลยในฐานะเจ้าพนักงานจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 6 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงาน เฉพาะอย่างแทนในตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. และพนักงานของ กสทช. พ.ศ.2555 กรณีที่โจทก์ได้กระทำการตามหน้าที่ การกระทำของจําเลยเป็นการจงใจกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหายต่อหน้าที่ราชการ

ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำสั่งยกฟ้อง เพราะเห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาพิเศษที่จะทำให้โจทก์หรือบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 และให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายใน 30 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ก.ย.66 นายไตรรัตน์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ น.ส.พิรงรอง รามสูต นายศุภัช ศุภชลาศัย นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. และ นายภูมิศิษฐ์ เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีอาญาข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็น รองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กรและเป็นพนักงานผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ตามระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.

เหตุคดีนี้เกิดจาก เมื่อวันที่ 23 ม.ค.66 บอร์ด กสทช.ได้มีคำสั่ง (ลับ) ที่ 7/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของ สำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาท และอนุกรรมการฯเสียงข้างมากระบุว่า การกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช.

และในวันประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งที่ 13/2566 วันที่ 9 มิ.ย.66 ระเบียบวาระที่ 5.22 : รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะนุกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขัน ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนั้น ที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้ 1.รับทราบรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการของ สำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

2.ที่ประชุมมีการพิจารณาข้อเสนอตามรายงานฯ ข้อ 1 ที่เสนอว่า การดำเนินการของการกระทำของ นายไตรรัตน์ (โจทก์) รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการกสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้องและมติ

ที่ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุน กทปส. ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช. โดยจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ได้ลงมติเสียงข้างมากให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ และลงมติให้มีการเปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. (หมายถึงโจทก์) จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น

จากนั้น มีมติปลดโจทก์ออกจากตำแหน่ง รักษาการเลขาธิการ กสทช. โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ ให้จำเลยที่ 5 โดยเสนอให้ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง นายภูมิศิษฐ์ เป็นรักษาการเลขาธิการ กสทช. แทนโจทก์ ซึ่งจะเห็นได้จากพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนที่ได้ร่วมกันวางแผน และดำเนินการส่อประพฤติไม่ชอบ

ทั้งนี้ โจทก์ระบุว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของ สำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ไม่ใช่คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสืบสวน ในกรณีที่มีการกล่าวหา หรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ามีผู้ใดกระทำผิดวินัย แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยที่ 4 กลับลงมติโดยถือเอารายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มาเป็นรายงานการสืบสวนทางวินัย และนำมาใช้เป็นมูลเหตุในการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยกับโจทก์

การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารบุคคล พ.ศ.2565 ข้อ 57 และข้อ 58 การกระทำของจำเลยทั้งหมด ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. (ตามคำสั่งประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้รับความเสียหาย

ซ้ำยังต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวน ถูกเสนอให้ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ก่อให้เกิดความสับสน ความแตกแยกในหมู่พนักงาน เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง เพราะมีข่าวออกเผยแพร่ทันทีภายหลังการประชุม กสทช. เสร็จสิ้น รวมถึงหมดโอกาสในการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานจากการ

ดังนั้น กระทำของจำเลยทั้งหมด ทำให้โจทก์ได้รับผลกระทบต่อการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย

เป็นการร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีไว้ เพื่อตรวจคำฟ้อง ล่าสุดนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในวันที่ 4 เม.ย.67 ที่จะถึงนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น