xs
xsm
sm
md
lg

ผวาหลอกออนไลน์! ผู้เสียหายเจ็บหนัก สัปดาห์เดียวสูญเงิน 25 ล้านบาท จาก 5 เคสลวงโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ AOC 1441 เตือนภัยมิจฉาชีพไม่หยุด ใช้มุกเก่าหลอกลวงออนไลน์ สัปดาห์เดียว สูญเงิน 25 ล้านบาท จาก 5 เคสลวงโลก

เมื่อวันที่ 27 ก.พ.67 น.ส.วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ระหว่างวันที่ 19-23 ก.พ.67 ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์หลายรูปแบบจำนวน 5 คดี มูลค่าความเสียหาย 24,479,253 บาท ประกอบด้วย

คดีที่ 1 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 2,230,966.69 บาท โดยมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แจ้งผู้เสียหายว่ามีเอกสารสำคัญต้องดำเนินการที่มหาวิทยาลัย หากผู้เสียหายไม่สะดวกมาด้วยตัวเอง สามารถยืนยันข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันที่ส่งลิงก์มาให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงคลิกลิงก์ดังกล่าว และภายหลังพบว่าเงินในบัญชีธนาคารของตนถูกโอนออกไป จึงรู้ตัวว่าถูกหลอก

คดีที่ 2 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้พิเศษผ่านเฟซบุ๊ก มูลค่าความเสียหาย 13,500,043.44 บาท ผู้เสียหายถูกชักชวนจากมิจฉาชีพที่รู้จักผ่านเฟซบุ๊กให้ลงทุนในกิจกรรมที่อ้างว่าจะได้รับเงินปันผล ในช่วงแรกผู้เสียหายได้รับผลตอบแทนที่ดีจึงเพิ่มจำนวนเงินลงทุน แต่ในระยะหลังไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ทำให้รู้ว่าถูกหลอกลวง

คดีที่ 3 หลอกลวงให้กู้เงินซึ่งมีลักษณะของการฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 1,500,000 บาท ผู้เสียหายพบโฆษณากู้เงินออนไลน์บนเฟซบุ๊ก และติดต่อขอกู้เงินโดยการกรอกข้อมูลสำคัญ หลังจากนั้น มิจฉาชีพได้แจ้งว่ามีข้อผิดพลาดในการทำรายการและต้องการเงินโอนเพื่อแก้ไขข้อมูล ผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินไป แต่สุดท้ายไม่สามารถกู้เงินได้ ทำให้รู้ตัวว่าถูกหลอก

คดีที่ 4 หลอกลวงผ่านเฟซบุ๊ก โดยมิจฉาชีพชักชวนผู้เสียหายเข้าร่วมโครงการหารายได้พิเศษที่เกี่ยวข้องกับการแพกสินค้า รีวิวสินค้า และกิจกรรมกดไลก์ กดแชร์ โดยมีการลงทุนเงินก่อน เพื่อสร้างกำไรจากสินค้า ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินไปลงทุน ในตอนแรกได้รับผลตอบแทนที่ดีจึงตัดสินใจเพิ่มเงินลงทุน แต่ภายหลังกลับไม่สามารถถอนเงินที่ลงทุนไปได้ ทำให้ผู้เสียรู้ตัวว่าถูกหลอก มูลค่าความเสียหาย 3,653,172.75 บาท

คดีที่ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 3,595,070.58 บาท โดยมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย และแจ้งว่ามีคนพยายามถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย ต่อมา มีอีกบุคคลหนึ่งอ้างว่าเป็นร้อยเวรจาก สภ.นครราชสีมา แจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน และเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ ต้องโอนเงินทั้งหมดในบัญชีไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และจะคืนเงินให้ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินไป แต่หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อกับบุคคลเหล่านั้นได้อีก

"กระทรวงดีอีขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาผ่านโทรศัพท์ และสื่อสังคมออนไลน์ หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล ควรหลีกเลี่ยงการรับสายหรือตอบกลับบุคคลไม่คุ้นเคยและไม่เชื่อถือคนแปลกหน้าที่พยายามติดต่อผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงที่อาจนำไปสู่การสูญเสียทางการเงิน รวมทั้งช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้วย" น.ส.วงศ์อะเคื้อ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น