AIS ผลักดันหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” สู่บุคลากร พม. และประชาชนคนทุกช่วงวัย เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) สร้างภูมิคุ้มกัน สามารถใช้งานสื่อออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ รับมือกับความเสียหายจากภัยไซเบอร์ที่กว่า 5 หมื่นล้านบาท
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ความร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้เป็นการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้บุคลากรของเรากว่า 11,000 คน ได้เรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนการขยายผลองค์ความรู้ไปยังประชาชนคนทุกช่วงวัย
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรี และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ที่ได้เริ่มนำร่อง เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในโลกออนไลน์ ที่สร้างมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมากกว่า 50,000 ล้านบาท
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ที่ผ่านมา AIS ได้พัฒนาการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัลอย่างหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่มีเนื้อหาแกนหลักสำคัญที่ถูกแบ่งออกเป็น 4P 4ป ประกอบไปด้วย Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
ส่งผลให้ปัจจุบัน หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ถูกขยายผลไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่วันนี้ได้เรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นี้แล้วกว่า 320,000 คน
“ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญกับหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ที่มุ่งเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ที่ครอบคลุมทุกทักษะในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง เข้าไปให้บุคลากรของกระทรวงได้ศึกษาเรียนรู้ และส่งต่อไปยังประชาชนคนไทยทุกช่วงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง”
สำหรับการทำงานร่วมกันครั้งนี้ได้ปรับเนื้อหาของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้สอดคล้องกับทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเป็นพลเมืองดิจิทัลสำหรับผู้เรียนแต่ละกลุ่มให้มีความเหมาะสม เช่น การเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในหลักสูตรสำหรับผู้ปฏิบัติงานในองค์กร เป็นต้น
การทำให้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แบบเร่งรัด จะช่วยลดระยะเวลาในการเรียนรู้ลงจากเดิมที่ใช้เวลากว่า 6-7 ชั่วโมง ลงมาเหลือราว 1 ชั่วโมง แต่ยังครอบคลุมเนื้อหาแกนหลัก 4P 4ป เช่นเดิม โดยความร่วมมือกับ พม. ในครั้งนี้จะเริ่มจากกลุ่มผู้สูงอายุที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 13 ล้านคนในไทย ซึ่งคาดว่าในช่วงแรกหลังจากเริ่มอบรมกลุ่มพนักงานที่จะไปช่วยสื่อสารราว 11,500 คน ที่จะส่งต่อเนื้อหาไปยังกลุ่มเปราะบาง