ฤกษ์ดี! 'EEC' จับมือ 'ETDA' ยกระดับธุรกรรมดิจิทัล อำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน ดึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ลงทุน EEC เพิ่ม 5,000 รายในปีนี้
เมื่อวันที่ 19 ก.พ.67 ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ EEC กล่าวว่า การร่วมมือกับ ETDA ครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ในระบบ EEC ID ซึ่งเพิ่มเติมจาก EEC VISA 4 ประเภท แบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เป็นประเภท "S" Specialist ผู้บริหาร เป็นประเภท "E" Executive ผู้ชำนาญการ เป็นประเภท "P" Professional และคู่สมรสและผู้ติดตาม เป็นประเภท "O" Other ที่เปิดให้ขอรับสิทธิได้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.67 ที่ผ่านมา โดยให้สิทธิประโยชน์ที่สำคัญๆ เช่น ได้รับ EEC Work permit อัตโนมัติ และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราคงที่ 17%
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดต้นทุน ดึงดูดแรงงาน ผู้ประกอบธุรกิจ นักลงทุนให้เข้ามาติดต่อ ขออนุมัติ อนุญาต และลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC เพิ่มขึ้น โดย ETDA จะเป็นผู้วางมาตรฐานในการกำกับดูแล ช่วยพัฒนาระบบใบอนุญาตแบบดิจิทัล ทั้งในมุมของการกำหนดมาตรฐาน ในการใช้งานเอกสารรับรอง และเอกสารสำแดงที่สำคัญ เพื่อให้สามารถดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมการแลกเปลี่ยนข้อมูล การสนับสนุนด้านบุคลากร การวิจัยและการศึกษา พัฒนาวิธีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสร้างระบบใบอนุญาตแบบดิจิทัล เพื่อช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการประกอบการ ทำให้กระบวนการทำธุรกรรมมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และรองรับการอนุมัติ ออกใบอนุญาต รับจดทะเบียนตามกฎหมายต่างๆ
"ขณะนี้วางงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างเรียบร้อยแล้ว เมื่อระบบได้มาตรฐานจะสามารถใช้งานได้ทันที คาดว่าภายในเดือน ก.ย.67 จะไม่ได้ต้องเสียเวลาทรานส์ฟอร์มกันซ้ำอีก ในเมื่อรู้อยู่ว่าปลายทางจะต้องมีระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตน ทั้งนี้ ตั้งเป้าดึงดูดแรงงาน และนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นหลังระบบนี้ให้งานได้เกิน 5,000 คน" นายก่อกิจ กล่าว
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า EEC เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมที่จะสะท้อนให้เราเห็นระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมของการใช้งานดิจิทัลไอดีทั้งในมุมของคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานและที่ลงทุนในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นโอกาสดีที่ ETDA และพันธมิตรจะร่วมกันต่อยอดการพัฒนาและเสนอมาตรฐาน เพื่อสนับสนุนบริการดิจิทัลไอดีสำหรับคนต่างชาติ รวมถึงมาตรฐานการมอบอำนาจกรณีนิติบุคคลในระยะต่อไป
"ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของ ETDA ที่ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรม อำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคและต้นทุนในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ที่ถือเป็นอีกหนึ่งแลนมาร์กทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย" ดร.ชัยชนะ กล่าว