'BDI' ของบกองทุนดีอี-วช. กว่า 100 ล้านบาท ปั้น 'Thai LLM' เอไอพูดภาษาไทย นำร่อง 3 เรื่อง การแพทย์ ท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม คาดใน 2 ปีใช้งานได้ เชื่อดึงคนไทยสนใจเอไอมากขึ้น
กระแสตอบรับอย่างล้นหลามของ ChatGPT และ Google Bard ทำให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) หยิบยกการพัฒนา Thai Large Language Model (Thai LLM) เป็น "โครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทย" โดย สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI เป็นเจ้าภาพ มาอยู่ใน 7 Flagships หลักของการดำเนินงานปี 2567
ด้าน รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการ BDI กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนให้เสนอ เรื่องการพัฒนา Thai LLM ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี และ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หลังได้หารือร่วมกัน และเห็นด้วย จึงจะมีการขอรับการจัดสรรงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) และกองทุนวิจัยและนวัตกรรม ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำหรับจัดทำโมเดลพื้นฐานกลางภาษาไทย และเริ่มทดสอบใช้งานใน 3 เรื่อง ได้แก่ การแพทย์ การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม ในเนื้อหาที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่เป็นองค์กรสามารถใช้งานได้
โดยด้านการแพทย์ ทีมนักวิจัยจะมาจาก ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ขณะที่การท่องเที่ยว มาจาก BDI สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) และบริษัทสตาร์ทอัป ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมมาจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งร่วมกับสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาล ทดสอบความแม่นยำ ถูกต้อง หรือใกล้เคียงกี่เปอร์เซ็นต์ และปรับปรุงรูปแบบต่อเนื่อง
"หากได้รับการจัดสรรงบประมาณเริ่มทําได้ทันที คาดว่าภายใน 2 ปี สามารถใช้งานได้ แบ่งเป็นครึ่งปีแรกมีโมเดลพื้นฐานกลางให้ลองใช้งาน พอครบ 1 ปี เริ่มทดลองการใช้งานใน 3 เรื่องได้ จากนั้นเก็บข้อมูลการทดลองสักระยะ และใน 2 ไตรมาสสุดท้าย มีแอปพลิเคชันมาครอบส่วนนี้ไว้อีกชั้น เกิดเป็นเอไอที่พูดภาษาไทยได้ และอาจผลักดันในเกิดรูปแบบธุรกิจในอนาคต แต่คงไม่ถึงขั้นทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางเอไอแห่งอาเซียนได้ เพราะเรื่องเอไอหากไม่นำภาษามาผูก ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องแข่งขันกัน
ซึ่งล่าสุด ประเทศสิงคโปร์ก็ประกาศทำ LLM ภาษาอาเซียน ด้วยงบประมาณ 56 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1,000 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่จะมีผู้ให้บริการหลายราย หรือมีปลามากกว่าคนตก อย่างของไทยเริ่มมีผู้ให้บริการเอกชน รวมถึงกลุ่มนักพัฒนาหลัก พัฒนาโมเดลออกมาแล้ว แต่ข้อมูลนั้นกระจัดกระจาย ดังนั้น ในอนาคตจะสร้างความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทำให้โมเดลนั้นๆ ฉลาดขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้งานในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากทั้งเอสเอ็มอี โรงงาน หรือภาคการเกษตร ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยทำให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องเอไอมากขึ้น จากสถิติการค้นหาคำว่า Generative AI ของคนไทยที่ผ่านมา ต่ำกว่าชาติอื่นในภูมิภาค" รศ.ดร.ธีรณี กล่าว