หมอกี้ "อังคนางค์ ชากีร่า บำรุงสรณ์" พาบริษัท รีเจน สมาร์ท ซิตี้ ปักธงโครงการนำร่องเขตพื้นที่ EEC จับมือ NT ปั้นระบบเมืองอัจฉริยะและเทคโนโลยี IOT หวังลดการใช้พลังงานและเพิ่มคุณภาพชีวิตคนระยอง มั่นใจเป็นผู้ให้บริการในพื้นที่ที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทุกรายในตลาด เชื่อสมาร์ทซิตี้สร้างได้ด้วยงบประมาณเริ่มต้น 7 ล้านบาท วางเป้าธุรกิจสมาร์ทซิตี้โกยรายได้หลักร้อยล้านบาท เทียบเท่าธุรกิจสมาร์ทไลท์ติ้ง ซึ่งเป็น 2 ธุรกิจที่จะพาบริษัทแม่ทำรายรับรวมเกิน 500 ล้านบาทในปี 67
นางสาวอังคนางค์ ชากีร่า บำรุงสรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท รีเจน สมาร์ท ซิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงความพร้อมในการขามรับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อนำร่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่จังหวัดระยอง ว่าบริษัทได้ถือสัญญารับงานจากภาครัฐ ร่วมออกแบบและพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะที่สามารถแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขภาพของประชาชน เบื้องต้นมีการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งเสาสมาร์ทโพลและโดรน ห้องควบคุม และแอปพลิเคชันที่สามารถตอบโจทย์ในกรณีเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย ซึ่งรีเจนท์ฯจะเป็นผู้ประสานไปยัง สพอ. เมืองระยอง โดยไม่ทับซ้อนเนื้องานเดิมจนทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ซึ่งนอกจากระยอง บริษัทกำลังมองพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านการต่อยอดโครงการกรุงเทพฯต้องสว่าง
"เราลงทุนเสาสมาร์ทโพลจำนวน 9 เสาในเฟสแรก ทำห้องคอมมานด์ มีการติดกล้องวงจรปิดในตัวเมือง ทั้งหมดนี้เราพัฒนาขึ้นใหม่ มั่นใจว่าอุปกรณ์มีคุณภาพดีและราคาดี โดยเฉพาะราคาการเชื่อมต่อที่ดีมาก เพราะความร่วมมือกับ NT"
รีเจน สมาร์ท ซิตี้ มีดีกรีเป็นผู้ร่วมให้บริการสัญญาณ 5G ของเครือข่ายบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (มหาชน) จำกัด ภายใต้ชื่อเดิมคือ บริษัท รีเจน โซลูชั่น แอนด์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งต่อยอดจากธุรกิจเทคโนโลยีด้านระบบอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทป้องกันการระเบิด (Explosion Proof Device)ในกลุ่มตลาดพลังงานและตลาดอุตสาหกรรม โดย "คุณหมอกี้" หรือ อังคนางค์ ชากีร่า บำรุงสรณ์ เป็นอดีตสัตวแพทย์สู้ชีวิตที่ไม่เพียงผันตัวมานั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทผู้นำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทป้องกันการระเบิดในอุตสาหกรรมพลังงาน แต่ยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท FK International ผู้นำเข้าอุปกรณ์ตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นสำหรับหลุมขุดเจาะน้ำมันด้วย
หลังจากพัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ต่อเนื่องเกินกว่า 3 ปี บริษัทตัดสินใจประกาศความพร้อมธุรกิจบนความมุ่งมั่นสนองยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อตอกย้ำฐานะผู้นำด้านการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะโดยจะเน้นการทำตลาดในส่วนการปกครองในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศ เป้าหมายคือการเห็นอุตสาหกรรมไทยมีความสามารถในการแข่งขัน พร้อมขึ้นเป็นผู้นำอาเซียนในอนาคต
อังคนางค์เชื่อว่าก้าวใหม่ของบริษัทจะขานรับกับรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญและกำหนดนโยบายไว้อย่างมากมายในแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อผลักดันและพัฒนาพื้นที่ในประเทศไทยให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยยกตัวอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีการขับเคลื่อนพร้อมกับผลักดันและมีผลงานออกมามากมายในช่วงหลายปีนี้ และยังมีโครงการต่างๆออกมาจากภาครัฐบาลไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่ออกมาสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องของภาษีเพื่อการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะและดิจิทัล รวมถึงยังมีโครงการต่างๆออกมาอีกหลากหลายโครงการ
“บริษัทฯมีความพร้อมและมีประสบการณ์ ทำให้มีความชำนาญเรื่องเทคโนโลยีมาอย่างยาวนานในตลาดอุตสาหกรรมประเทศไทย ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีใหม่ๆที่อัพเดทอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุผลที่บริษัทฯ หวังอยากจะเห็นภาพรวมอุตสาหกรรมของบ้านเรา มีการเจริญเติบโตและมีความพร้อมในการแข่งขันเทียบเท่ากับนานาชาติรวมถึงสิ่งที่สำคัญสุดคือ อุตสาหกรรมของประเทศไทย มีความสามารถและมีความพร้อมที่จะขึ้นเป็นผู้นำอาเซียนในอนาคตอีกด้วย”
ทั้งนี้ บริษัทฯมีความต้องการที่จะพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมกับให้ความสำคัญเรื่องของความเป็นมิตรต่อโลกอย่าง Sustainable Energy เป็นผู้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) ของเมืองอัจฉริยะแบบยั่งยืน (Sustainable Smart City) ด้วยระบบ AI รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก Data City Platform ที่ได้รับการพัฒนาจาก Application โดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ภาครัฐบาลและเอกชนสามารถบริหารพื้นที่หรือเมืองได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน
สำหรับสัญญาระหว่างรีเจน สมาร์ท ซิตี้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นั้นเกิดขึ้นภายใต้โครงการ “ระยองสมาร์ทซิตี้” ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องของเขตพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตามวิสัยทัศน์และนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขต EEC ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ที่พร้อมรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศไทย
“การดำเนินธุรกิจในปี 2567 บริษัทฯมุ่งหวังในการใช้เทคโนโลยีที่ศึกษาและพัฒนา รวมถึงประสบการณ์ในการทำโครงการนำร่องดังกล่าวนี้ เข้าไปทำตลาดการปกครองในท้องถิ่นต่างๆ ของพื้นที่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยคาดว่าด้วยความพร้อมของบริษัทฯ ณ เวลานี้ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นพร้อมส่งผลให้บริษัทมีการดำเนินธุรกิจที่ดีในปีหน้า ซึ่งบริษัทได้ตั้งเป้าหมายในส่วนของรายได้ไว้ที่ 500 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าเป้าหมายดังกล่าวที่ตั้งไว้จะสามารถทำได้อย่างแน่นอน”.