xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเส้นทางแชมป์ Thailand Cyber Top Talent 2023 ย้ำความจำเป็น "หนุนคนไทย" เรียนต้านภัยไซเบอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จากซ้าย นรต.สุดฤทธิ์ วงษ์สุวรรณ ชั้นปีที่ 3, นรต.วรรณกร นุ่นประดิษฐ์ ชั้นปีที่ 4 และ นรต.ทัศไนย มานิตย์ ชั้นปีที่ 4  3 สมาชิกทีมแชมป์แฮกเกอร์ไทยระดับอุดมศึกษา  Thailand Cyber Top Talent 2023
“ผมอยากส่งเสริมให้เยาวชน วัยรุ่นไทย รวมถึงบุคคลที่สนใจให้มาเรียนรู้ด้านนี้กันเยอะๆ แล้วก็ช่วยกันพัฒนาระบบ Cyber Security ของไทยให้หนาแน่นมากขึ้น” นี่คือเสียงจาก 3 สมาชิกทีม Rebooster ผู้ชนะการแข่งขันทักษะทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและอาเซียน ในรายการ Thailand Cyber Top Talent 2023 ซึ่งตอกย้ำว่าต้นกล้าบุคลากรไซเบอร์รุ่นใหม่ของไทยในวันนี้ กำลังหวังให้มีการสนับสนุนประชาชนทั่วไปในการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้ไทยสามารถปกป้องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศได้อย่างเต็มที่

ความหวังนี้มีที่มาส่วนหนึ่งจากการที่ทั้ง 3 สมาชิกทีมแชมป์แฮกเกอร์ไทยระดับอุดมศึกษาไม่ได้เรียนโดยตรงเกี่ยวกับด้านคอมพิวเตอร์ ทั้ง นรต.ทัศไนย มานิตย์ ชั้นปีที่ 4 (อายุ 21 ปี) นรต.วรรณกร นุ่นประดิษฐ์ ชั้นปีที่ 4 (อายุ 22 ปี) และ นรต.สุดฤทธิ์ วงษ์สุวรรณ ชั้นปีที่ 3 (อายุ 21 ปี) ล้วนศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งสอนเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วย “พรแสวง” ทำให้สามารถเอาชนะผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 831 ทีม รวมทั้ง 3 ระดับ จำนวน 2,323 คน ในการแข่งขันระดับชาติที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

การแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้มีความสำคัญที่การชิงเงินรางวัลรวมกว่า 521,000 บาทเท่านั้น แต่เป็นความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างหัวเว่ยที่ช่วยกระตุ้นความสนใจด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของคนในชาติ ขณะเดียวกัน ก็ช่วยเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการบ่มเพาะบุคลากรไซเบอร์เจเนอเรชันใหม่ของไทยในอนาคต

***จากจุดเริ่มต้น สู่แชมป์ 2 สมัย

การแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent 2023 นั้นแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และระดับประชาชนทั่วไป ผลการแข่งขันคือทีม Rebooster ตัวแทนจากชมรมของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้คว้ารางวัลชนะเลิศในระดับอุดมศึกษา (Senior) และเป็นการคว้าแชมป์สมัยที่ 2 ติดต่อกัน ทำให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจ การันตีตัวเองว่าเป็นสถาบันในระดับอุดมศึกษาสถาบันแรกของประเทศไทยที่สามารถทำได้ โดยฝ่าฟันมาจากทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 354 ทีมทั่วประเทศ

"ทีมผมเป็นตัวแทนที่มาจากชมรมของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ คือเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยของตำรวจนะครับ พวกเราจัดตั้งชมรมขึ้นมาเพื่อที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ Cyber Security เราพยายามลงแข่งขันในการแข่งขันไซเบอร์ในทุกรายการใกล้ๆ ก่อนจะมารายการนี้ ช่วงปีแรกที่เราเพิ่งเปิดชมรมก็ยังไม่ได้รางวัลมากเท่าไหร่ แต่ว่าหลังๆ พอเราเริ่มสะสมประสบการณ์แล้วก็ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"

บรรยากาศการแข่งขัน  Thailand Cyber Top Talent 2023
ทีม Rebooster เล่าว่าช่วงปีที่ผ่านมา ชมรมสามารถกวาดรางวัลเกี่ยวกับไซเบอร์ซิเคียวริตีจำนวนมาก จนในที่สุดก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในรายการนี้เป็นปีที่ 2 โดยมองว่าการแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent เป็นการให้โอกาสแข่งขันแฮกเว็บไซต์ ผ่านโจทย์ที่ออกแบบให้ฝั่งหนึ่งเป็นคนเจาะระบบ และอีกฝั่งเป็นคนป้องกัน ซึ่งทีม Rebooster ได้ทำทั้ง 2 ฝั่ง และมีการทำ Analysis หรือการวิเคราะห์ที่หลอกล่อฝ่ายตรงข้าม

"ความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันคือชอบมาก เพราะเวลามีการแข่งขันออกมาแต่ละครั้ง ก็เหมือนเป็นการทำให้คนไทยสนใจอยากรู้ว่านี่มันคืออะไร แล้วไปหาความรู้ในด้านนี้มาเยอะขึ้นเรื่อยๆ เป็นการกระตุ้นความอยากรู้ด้าน Cyber Security ของคนไทย ผมรู้สึกดีใจเพราะรู้สึกว่าต่างประเทศเขาไปค่อนข้างไกลแล้วในเรื่องไซเบอร์ ทั้งชาวเวียดนาม ชาวสิงคโปร์ พอคนไทยสนใจเรื่องนี้ก็รู้สึกว่า ดีใจที่มีรายการแบบนี้ขึ้นมา"

***สร้างคอนเน็กชัน และเสน่ห์ของการเป็นไวท์แฮกเกอร์

หลังจากที่ได้เข้าร่วม สมาชิกทีม Rebooster ยอมรับว่าการแข่งขันทำให้ได้เจอเพื่อนพี่น้อง สร้างคอนเน็กชันค่อนข้างที่จะกว้างมากในวงการ Cyber Security ของประเทศไทย ขณะเดียวกัน การแข่งขันทำให้ทีมได้เรียนรู้เทคนิคในการเจาะระบบเพิ่ม และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้าน Cyber Security อย่างที่ไม่ได้รับจากหนังสือเล่มไหน

"ทั้ง 3 คน เราไม่ได้เรียนโดยตรงเกี่ยวกับด้านคอมพิวเตอร์ เพราะว่าโรงเรียนจะสอนเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ แล้วมีเป็นวิชาเลือกเสรีเกี่ยวกับเรื่องไซเบอร์ค่อนข้างน้อย ทีมเราเลยพอได้มารวมตัวช่วยกันหาความรู้ มีอะไรก็แบ่งปันกัน รวมถึงแบ่งปันกับเพื่อนๆ น้องๆ ในชมรม พวกเราจะมีแพลตฟอร์มเอาไว้ฝึก เราจำลองการแข่งขันขึ้นมาเล่นกันภายในโรงเรียนทั้งปี และไปร่วมแข่งขันในรายการที่จัดขึ้นทั่วโลก โดยจะมีเว็บบอร์ดที่เขารวมการแข่งขันทั่วโลกจัดขึ้นทุกอาทิตย์ ทีมผมจะไปร่วมด้วยตลอด ทำให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ ทำให้เวลาเราแข่งในไทยรู้สึกว่าไม่ค่อยยากเท่าไหร่"



ประสบการณ์ที่ดีทำให้ทีม Rebooster อยากให้ในระบบของโรงเรียนมีชมรมที่พี่มาสอนน้อง ทำให้ความรู้ด้านภัยไซเบอร์ถ่ายทอดกันได้ และเกิดการ “แชร์กัน" เวลามีเทคนิคใหม่เกิดก็จะรับรู้ทั่วกัน

เมื่อถามถึงเสน่ห์ของการเป็นไวท์แฮกเกอร์ ตัวแทนทีม Rebooster เชื่อว่าหลายคนที่เข้ามาวงการ ส่วนใหญ่น่าจะอยากเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการแฮก ที่เหมือนในหนัง ละคร ซีรีส์ ที่ดูเท่ ซึ่งเมื่อได้ศึกษาจริงก็จะสนุกเหมือนที่คิดไว้

"พอได้ศึกษาจริงก็จะสนุกประมาณนั้นเลย ในวงการที่ผมแข่งจะเป็นการแก้ไขปัญหา เราจะได้ฝึกการแก้ไขปัญหาที่ใช้ตรรกะทางคณิตศาสตร์ ฝึกการใช้ความจำของเราหลายอย่าง มีคำสั่งและอะไรหลายอย่างให้ใช้"

ทีม Rebooster ไม่ได้เจาะจงว่าใช้เวลาเรียนรู้นานขนาดไหน แต่ยกตัวอย่างว่าในแต่ละรายการแข่งขันด้านไซเบอร์ มักจะมีการอบรมก่อนแข่งเพื่อให้ข้อมูลและสอนเบื้องต้นถึงแนวทางการออกโจทย์และขอบเขตเนื้อหา ซึ่งถึงแม้ว่ารายการจะไม่ได้สอนตั้งแต่เริ่มต้น แต่สามารถไปหาความรู้เองได้จากในอินเทอร์เน็ต ที่มีผู้เขียนบทความไว้ค่อนข้างหลากหลาย และทุกคนสามารถหาความรู้ได้ง่าย

***หัวเว่ยกำลังสำคัญสู่การเรียนรู้ด้านไซเบอร์ของคนไทย

หากมองที่การเรียนรู้ไซเบอร์ซิเคียวริตีของคนไทยในเวลานี้ ทีม Rebooster ยกให้หัวเว่ยเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่เปิดประตูสู่การเรียนรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของนักเรียนไทย โดยมี Huawei Cloud ทำหน้าที่เป็นทรัพยากรสำคัญสำหรับสถาบันการศึกษา ซึ่งช่วยให้นักศึกษาไทยมีส่วนร่วมในการสะสมความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ถือเป็นก้าวที่สอดคล้องกับความสนใจที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนมัธยมปลายในสาขานี้

"ชมรมที่ผมอยู่มีการจัดแข่งขันเหมือนกับ Thailand Cyber Top Talent ด้วย โดยรับเฉพาะตำรวจแต่ละกองบัญชาการมาร่วม การแข่งขันพวกนี้เราจะมีอาจารย์ที่ชมรมสร้างตัวแพลตฟอร์มขึ้นมาให้ แล้วก็ใช้ตัวเครื่องเซิร์ฟเวอร์มาทำ ซึ่งโรงเรียนตำรวจของผมได้ทำ MOU กับหัวเว่ยให้ใช้หัวเว่ย คลาวด์ สำหรับการเรียนรู้ ในการแข่งขันเราจะคัดคนไปแข่งในบางรายการ เพราะเขาจำกัดคน เช่น ทีมละ 2-4 คน พอเรามีคนในโรงเรียนสนใจมากถึง 40 คนเลยต้องแข่งกันว่าใครจะเป็นตัวแทนเพื่อแข่งในรายการนี้"


อย่างไรก็ตาม สมาชิกทีม Rebooster มักต้องให้คำปรึกษากับเพื่อนหลายคนที่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มเรียนรู้จากตรงไหน เนื่องจากความรู้ทางด้านนี้ยังไม่เปิดกว้างในไทย

"อย่างผมเองก็ต้องหาจากเว็บต่างประเทศ บทความในไทยคือแทบไม่มี เป็นพรแสวงของตัวเองล้วนๆ"

ในภาพรวม ทีม Rebooster ยอมรับว่าไทยมีผู้สนใจความรู้ด้านนี้จำนวนมากนับพันคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการผลักดันให้คนไทยไปสอบใบรับรอง (Certificate) เกี่ยวกับไซเบอร์ค่อนข้างมาก เนื่องจากสามารถใช้ในการสมัครงาน ซึ่งปัจจุบัน เด็กมัธยมค่อนข้างให้ความสนใจเกี่ยวกับด้านไซเบอร์อย่างแพร่หลาย เช่น นักเรียน ม.5 ที่คุ้นเคยกับทีม Rebooster ก็ทำเว็บไซต์สอนเรื่องไซเบอร์ให้คนไทยโดยตรง เป็นแพลตฟอร์มให้คนไทยเรียนรู้เกี่ยวกับด้านนี้ ตอบโจทย์ผู้สนใจจำนวนมาก

สำหรับมุมมองต่อระบบ Cyber Security ของหัวเว่ย และผู้พัฒนาเจ้าอื่น ทีม Rebooster มองว่ามีการออกแบบมาป้องกันภัยคุกคามต่างๆ ได้ค่อนข้างดีแล้ว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จะอัปเดตเป็นรายเดือนเพื่อป้องกันช่องโหว่ใหม่

"ส่วนตัวคิดว่าของหัวเว่ยนั้นค่อนข้างดีเยี่ยม เพราะเคยไปดูงานด้วยครั้งหนึ่งตอนอยู่ปีหนึ่ง เขามีระบบการมอนิเตอร์สิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ง่าย"

ในส่วนประเทศไทย ทีม Rebooster เชื่อว่าจะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเริ่มจากการให้ความรู้กับคนไทยก่อน ซึ่งไม่เพียงเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือฟิชชิ่ง แต่ควรทราบว่าการสร้างเว็บนั้นไม่ควรจะมีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาหลายปี มีการตรวจพบช่องโหว่จากทั่วโลกจำนวนมากรวมถึงในไทย ผลจากการที่เจ้าของเว็บไซต์หลงลืมการเข้ารหัสบางจุด ทำให้แฮกเกอร์เจาะระบบได้ง่าย

"อย่าง AI ทั้งหลายก็เป็นเครื่องมือที่พอช่วยได้ แต่ความแม่นยำยังต่ำอยู่ เป็นตัวช่วยในระดับพื้นฐาน แต่ถ้าไประดับแอดวานซ์ก็ยังไม่รอด ต้องถูกพัฒนาต่อไปในอนาคตเรื่อยๆ"

***สิ่งที่ได้เรียนรู้ และก้าวสำคัญสู่อาชีพ

1 ใน 2 สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent 2023 ในสายตาของทีม Rebooster คือความรู้เกี่ยวกับการแฮกโมบายแอปพลิเคชันที่เขียนขึ้นมาด้วยภาษาคัตเตอร์ ซึ่งปกติมักไม่ค่อยได้ศึกษา จึงรู้สึกว่าแปลกใหม่มาก และได้ไปหาความรู้ด้านนี้มาเพื่อที่จะทำการเจาะตัวโปรแกรมนี้ให้ได้

สิ่งที่ 2 คือความรู้ด้านการเจาะไฟร์วอลล์ เนื่องจากการแข่งขันรอบนี้จะมี "ไอพีพิเศษ” ที่ทีมไม่สามารถแฮกได้เลยในขณะแข่ง จนต้องมาดูเฉลยจากกรรมการ จึงได้รู้วิธีการเจาะระบบเข้าไปในตัวไฟร์วอลล์ เพื่อไปยึดเครื่องไฟร์วอลล์และทะลุไปหาเครื่องอื่นที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน


เมื่อถามถึงเส้นทางอาชีพในอนาคต สมาชิกทีม Rebooster บางส่วนสนใจทำงานที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งจะเปิดรับผู้ที่มีความรู้ทักษะเกี่ยวกับด้านไซเบอร์ เป็นทีมเจาะระบบ ขณะที่บางส่วนตั้งใจเป็นตำรวจที่ทำหน้าที่จับผู้ร้ายนักเปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายหลังจบการศึกษา เช่น เว็บพนันออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ต้องตามหาต้นตอให้เจอ

นอกจากนี้ บางคนอาจผันตัวไปทำงานด้านพิสูจน์หลักฐาน โดยเฉพาะพยานหลักฐานที่ถูกทำลาย รวมถึงการกู้ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ที่เสียหาย

"ถ้าถามว่าอยากให้คนไทยหันมาสนใจงานด้าน Cyber Security หรือไม่ ผมอยากส่งเสริมให้เยาวชน วัยรุ่นไทย รวมถึงบุคคลที่สนใจให้มาเรียนรู้ด้านนี้กันเยอะๆ แล้วก็ช่วยกันพัฒนาระบบ Cyber Security ของไทยให้หนาแน่นมากขึ้น"

ทีม Rebooster ยกตัวอย่างโรงพยาบาลในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นกรณีล่าสุดที่ถูกแฮกและมีการโพสต์บอกบนออนไลน์ ทำให้ทีมรู้สึกว่าประเทศไทยมีคนเก่งจริง แต่ว่าเหมือนยังอยู่ในแค่กลุ่มเล็ก ซึ่งหากบุคลากรในไทยมีความรู้ด้านนี้มากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้สามารถป้องกันระบบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้มากขึ้น

"รวมถึงผมอยากให้คนทั่วไปที่สนใจได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยจะได้ไม่โดนหลอกจากพวกคอลเซ็นเตอร์ ส่วนในด้านของตำรวจ ทุกวันนี้ตำรวจได้มีการอบรมให้ตำรวจทั่วประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องไซเบอร์ ก็เป็นความรู้เพื่อไว้สอนประชาชนทั่วไป"

บทสรุปเส้นทางแชมป์ Thailand Cyber Top Talent 2023 ปีนี้จึงครบรสทั้งมุมมองการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การสร้างแรงงานออกสู่ตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีในอนาคต และการช่วยเพิ่มความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ให้บุคคลทั่วไปมากขึ้น ที่สำคัญคือการตอกย้ำถึงความจำเป็นในการสนับสนุนให้คนไทยทุกอาชีพ ได้มีโอกาสเรียนรู้ให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราต่อต้านภัยไซเบอร์อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น