xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าทางตัน "โพสต์หลอกลวง" ระบาดโซเชียล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อิง ศิริกุลบดี (ซ้าย) ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta กับเฮเซเลีย มาร์กาเรต้า (ขวา) ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจ จาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
Meta (เมต้า) ต้นสังกัดเฟซบุ๊ก กระทรวงดีอี ตำรวจไซเบอร์ จับเข่าเปิดใจทำไม "โฆษณาสินค้าปลอม-โพสต์หลอกลวง" ยังเกลื่อนสื่อโซเชียล? ฝั่ง Meta ไม่ยอมรับแนวทางป้องกันที่ทำอยู่มีช่องโหว่แต่พร้อมร่วมมือทุกฝ่ายช่วยปกป้องคนไทยจากโจรออนไลน์ ด้านดีอีมั่นใจการปิดกั้นเว็บเพจผิดกฎหมาย รวมถึงนานานวัตกรรมจากภาครัฐทั้งกฎหมายและศูนย์ร้องทุกข์อายัดครบวงจร 1441 จะช่วยตัดตอนและหยุดพิษได้ชั่วคราว ขณะที่ตำรวจไซเบอร์เผยต้นเหตุความล่าช้าการสอบสวนคดีหลอกลวงออนไลน์ เพราะต้องใช้เวลารับข้อมูลจากหน่วยงาน โบ้ยกระบวนการที่ติดขัดทำให้เพิ่งได้ฤกษ์บูรณาการข้อมูลร่วมกัน

ความล่าช้าในการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนถือเป็นหนึ่งในทางตันของปัญหา "โพสต์หลอกลวง" ที่ระบาดหนักบนโซเชียลมีเดียช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน คนไทยตกเป็นเหยื่อคดีกลโกงออนไลน์กว่า 700 คดีต่อวัน โดยสถิติการแจ้งความออนไลน์เมื่อมีนาคมปี 2565 พบว่าในจำนวนการแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ที่สูงถึง 3.6 แสนคดี ราว 1.3 แสนคดีมีความเกี่ยวข้องกับภัยกลโกงออนไลน์

ถามว่าทำไมจำนวนคดีความภัยออนไลน์ในประเทศไทยจึงสูงเช่นนี้ คำตอบคือส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยมีการใช้งานสื่อโซเชียลและนิยมซื้อสินค้าออนไลน์สูงมากติดอันดับโลก คนไทยส่วนใหญ่เลือกชำระเงินด้วยการสแกนจ่าย หรือ QR payment ขณะที่อินเทอร์เน็ตในประเทศได้ชื่อว่ามีคุณภาพดีและคุ้มค่าที่สุดในโลก โดยไทยเป็นท็อป 5 ประเทศที่ค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตไม่สูง ทั้งยังมีโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำของตัวเอง ทำให้คนไทยมีความคุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ตสูงมากไม่แพ้ประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี

***ภัยไทยใกล้เคียงต่างชาติ

พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการ กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สถิติการแจ้งความเรื่องกลโกงออนไลน์กว่า 2 แสนคดีต่อปีถือเป็นที่มาซึ่งสะท้อนความจริงในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากอาจยังมีผู้เสียหายที่ไม่ได้เปิดเผยตัว เบื้องต้นเชื่อว่าการเปิดให้แจ้งความออนไลน์ และการออกกฎหมายเพิ่มเติมมีส่วนทำให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องและได้รับเงินคืนเร็วขึ้น ทำให้จำนวนคดีมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยแม้ว่าจำนวน 2 แสนคดีของไทยจะไม่ได้สูงกว่าประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์หรือเกาหลีใต้ แต่การมีเหยื่อไม่ต่ำกว่า 600 คนต่อปีทำให้ภาครัฐไม่นิ่งนอนใจ และมีการจับมือเป็นพันธมิตร เพื่อขอแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับปราบปรามร่วมกัน

"มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เรามีระบบแจ้งความออนไลน์ เอาข้อมูลมาสร้างพันธมิตรในการดำเนินการ ตั้งแต่ภาคธนาคารและภาคการศึกษา" พ.ต.อ.เจษฎา ระบุ "ฝั่งมิจฉาชีพมีพัฒนาการจากเงินที่ได้ไปอย่างทุจริต มีทั้งเทคโนโลยี บุคลากร สามารถขยายผลในเรื่องที่เราไม่รู้ มีวิธีการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีวิธีที่ซับซ้อนมากขึ้น มักจะมีภัยจากประเทศอื่นก่อน แล้วค่อยเข้ามาเกิดเหตุในไทย"

บนเวทีบรรยาย รู้เท่าทันภัยลวงออนไลน์
วันนี้ คนไทยตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงออนไลน์กว่า 14 ประเภท โดยคดีที่เป็น 5 อันดับสูงสุดคือกลโกงซื้อของออนไลน์ คิดเป็น 40% ของคดี ทั้งกรณีที่สั่งซื้อของแต่ไม่ได้ของ หรือได้รับแต่ "ไม่ตรงปก" อันดับที่ 2 และ 3 คือคดีหลอกลวงให้ทำภารกิจ และการหลอกกู้เงิน ทั้งการหลอกให้โอนเงินเพื่อรับตำแหน่งงาน รวมถึงหลอกลวงให้จ่ายเงินเป็น "ค่าอัปเกรดคุณวุฒิ"

อันดับ 4 คือภัยคอลเซ็นเตอร์ และอันดับ 5 คือภัยหลอกให้ลงทุน เช่น การเข้าไปลงทุนเงินคริปโตฯ ผ่านแอปพลิเคชันปลอม โดยหากรวมยอดผู้เสียหายจาก 5 อันดับภัยออนไลน์เหล่านี้จะคิดเป็นสัดส่วน 80% ของผู้ที่เป็นเหยื่อในประเทศไทย

เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ ด้านนโยบายเศรษฐกิจ จาก Meta กล่าวว่า แม้วงการมิจฉาชีพจะขยายไปหลายแพลตฟอร์ม ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงในพื้นที่ที่ตรวจจับไม่ได้ แต่ทีม Meta จะมุ่งทำงานร่วมกับตำรวจสากลและพันธมิตรทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษเรื่องการให้ความรู้ผู้ใช้ เพื่อให้สามารถขยายผลได้มากกว่าการลบคอนเทนต์ แต่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้

"เราทำงานกับหน่วยงานรัฐในหลายปีที่ผ่านมา และจะทำต่อไป จะมีการใช้เพจของ Meta มีการประชาสัมพันธ์ มีระบบยืนยันตัวตนหรือเครื่องหมายถูกสีฟ้า (บลูติ๊ก) เราจะทำงานร่วมมือใกล้ชิดยิ่งขึ้น" เฮเซเลียกล่าว "เรามีระบบและมีแนวทางประเมินความเสี่ยงที่ชัดเจน เพื่อดูว่าผู้ลงโฆษณามีความเสี่ยงไม่ปลอดภัยอย่างไร ตรงนี้ยังมีพื้นที่สำหรับพัฒนาเสมอ เป็นเหตุผลที่ทำให้เรามาพูดคุยและหาทางร่วมกัน และต้องทำงานร่วมกันหลายแพลตฟอร์ม"

***เฟซบุ๊กลงมือแล้ว ผู้ใช้ต้องร่วมมือด้วย

ในฐานะแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลที่มีผู้ใช้ 3.88 พันล้านคนต่อเดือน เฟซบุ๊กไม่เพียงวางแนวทางประเมินความเสี่ยงผู้ลงโฆษณาไว้เท่านั้น แต่มีมาตรการป้องกันโพสต์หลอกลวงและโฆษณาขายสินค้าปลอมหลายด้าน โดยทุกด้านมุ่งดูแลการค้าขายบนแพลตฟอร์มให้เป็นไปอย่างสุจริต


ด้านแรกคือ Meta ต้นสังกัดเฟซบุ๊กนั้นวางนโยบายป้องกันโพสต์หลอกลวงด้วยกติกา "อะไรขายได้-อะไรขายไม่ได้" ดังนั้นทุกสินค้าในแพลตฟอร์มจึงอยู่ใต้กติกานี้ และผู้ค้าทุกคนต้องทำตาม โดยจะมีการแบ่งกติกาออกเป็นหลายระดับให้เหมาะสมกับกลุ่มการค้า ทั้งการขายทั่วไปหรือการขายโดยองค์กรในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการซื้อขายที่สบายใจ จุดนี้เองที่มีนโยบายป้องกันการหลอกลวง หรือการค้าขายที่เป็นผลเสียต่อผู้บริโภค

อีกด้านคือการตรวจสอบว่าผู้ลงโฆษณารายใดมีความเสี่ยง โดยมีเทคโนโลยี AI เป็นตัวตรวจจับมิจฉาชีพ และป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพสร้างผลกระทบด้านลบ ซึ่งหากหลุดรอดไปจาก AI จะมีทีมงานคนเข้าร่วมพิจารณาต่อไป

"AI จะเป็นแหใหญ่ ทำให้การตรวจสอบทำได้มากกว่าการใช้ทีมงานคน เมื่อ AI พบจะดึงลง แต่ถ้าไม่แน่ใจจะดำเนินการส่งให้ทีมงานคนพิจารณา โดยตลอดปี 2023 กว่า 90% ของบัญชีมิจฉาชีพที่เราดึงลงนั้นทำได้ด้วย AI"

แม้ AI จะเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่เฮเซเลียยอมรับว่า AI ยังพิจารณาได้ไม่ครอบคลุม และต้องมีทีมงานตรวจดูเพิ่มตลอดเวลา และการปิดกั้นบัญชีที่มีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงเป็นมิจฉาชีพนั้นจะมุ่งป้องกันไม่ให้มีบัญชีร้ายรายใหม่เพิ่มขึ้น ด้วยการตรวจหาสัญญาณร้ายเพื่อตัดไฟแต่ต้นล้ม

เฮเซเลียเชื่อว่าปัญหาโพสต์หลอกลวงที่ยังลอยนวลท่ามกลางมาตรการเข้มข้นเช่นนี้ มีสาเหตุมาจากความยากในการปราบปราม เนื่องจากแฮกเกอร์มีพัฒนาการและสรรหาวิธีใหม่อยู่เสมอ วิธีการสารพัดในการเข้าถึงเหยื่อทำให้มีพัฒนาการต่อเนื่อง และไม่แค่ออนไลน์ แต่ยังมีโลกออฟไลน์ที่ทุกฝ่ายต้องตามให้ทัน

"เราทำฝั่งเดียวไม่ได้ อยากให้พันธมิตรช่วย อาจจะไม่ใช่แค่การเห็นโพสต์บนเฟซบุ๊กแต่มีการย้ายไปหลอกลวงต่อในโลกออฟไลน์ ความยากคือภัยหลอกลวงนี้ไม่จำกัดสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เราจึงต้องทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและพันธมิตร โดยเฉพาะผู้ใช้ที่ควรต้องแจ้งเมื่อพบเห็น รวมถึงการร่วมมือช่วยยืนยันว่าบัญชีใดไม่หลอกลวง ร่วมทำรีวิว ให้เรตติ้ง หรือแจ้งเตือนกับเฟซบุ๊กได้"

อย่างไรก็ตาม การกดรายงานโฆษณาหลอกลวง 1 ครั้งไม่ได้แปลว่าโฆษณานั้นจะถูกปิดกั้นทันที เนื่องจาก Meta อาจต้องรอหลายสัญญาณผิดปกติมาประกอบกัน นอกจากนี้ ผู้ลงโฆษณากับเฟซบุ๊กยังมีครื่องมือที่สามารถปิดกั้น "รีวิวเตือน" หรือข้อความแง่ลบ ซึ่งเฮเซเลียให้เหตุผลว่าเป็นเพราะ Meta ออกแบบระบบเพื่อให้ผู้คนหลายพันล้านคนสามารถใช้แพลตฟอร์ม Meta ได้ จึงทำฟีเจอร์ให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งานในวงกว้าง โดยที่พยายามสร้างการปกป้องคู่ไปด้วย

ตัวอย่างโพสต์หลอกลวงบน Facebook
ขณะนี้เฟซบุ๊กได้สร้าง 3 เครื่องมือเตือนผู้ใช้ว่าการสนทนาที่กำลังเกิดขึ้นนั้นปลอดภัยหรือไม่ เช่น ข้อความแสดงรายละเอียดบัญชีที่จะโชว์ทันทีเมื่อเริ่มสนทนาครั้งแรก รวมถึงการแสดงข้อความเตือนหากพบว่าผู้ใช้กำลังสนทนากับบัญชีที่มีแนวโน้มเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ โดยหากเกิดเหตุในแพลตฟอร์มใด Meta จะส่งต่อข้อมูลให้เจ้าหน้าที่แบบข้ามประเทศ นำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดี

"เมื่อพบสัญญาณผิดปกติ เราจะดำเนินการทันที แต่ละกรณีใช้ระยะเวลาเร็วหรือช้าหลากหลายมาก บางกรณีอาจใช้เวลาวันเดียว แต่บางกรณีก็นาน ต่างกันตามความซับซ้อน เราทำงานทั่วโลกและตลอดเวลา บริษัทแน่ใจว่าทีมที่ดูแลนั้นมีความเข้าใจเรื่องภาษาอย่างดี"

ในอีกด้าน Meta ย้ำว่าบริษัทมุ่งให้ความรู้ผู้ใช้ ทั้งฝั่งผู้บังคับใช้กฎหมาย และสังคมที่ต้องช่วยกันบอกต่อ ซึ่งนอกจากแคมเปญเตือนภัย บริษัทยังมุ่งให้ความรู้ผู้ขายเพื่อให้ทราบว่าพฤติกรรมใดไม่ควรทำ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ โดยที่มีศูนย์ช่วยเหลือซึ่งเข้าถึงผู้ใช้กว่า 5 แสนคนแล้ว

***ทำงานไปไกลกว่าแพลตฟอร์ม

อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทย ย้ำว่าประเทศไทยเป็นส่วนสำคัญของโครงการที่ Meta ทำในระดับโลก นั่นคือ แคมเปญ #StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital Thailand ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้แก่ชาวไทย เกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมของผู้ประสงค์ร้าย และป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากกลโกงอีคอมเมิร์ซและภัยบนโลกออนไลน์อื่นๆ โดยได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โคแฟค ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"แคมเปญนี้เข้าถึงชาวไทยเป็นจำนวนกว่า 30 ล้านคนแล้วในปัจจุบัน ตั้งแต่มีการเปิดตัวในปี พ.ศ.2564 นอกจากนี้ แคมเปญ #StayingSafeOnline ยังกำลังจะเปิดตัวการดำเนินงานเฟสใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยจะให้ความสำคัญกับเคล็ดลับในการระมัดระวังและรู้เท่าทันสแกมเมอร์ที่มีอยู่หลากหลายประเภท"

อิงย้ำว่า Meta กำลังจะเปิดตัวซีรีส์วิดีโอเพื่อให้ความรู้ที่มีชื่อว่า "ถอดรหัสสแกม" (Decode Scam) ผ่านเพจ Meta ประเทศไทย บนเฟซบุ๊ก เพื่อสอนให้คนไทยรู้จักกับภัยลวงบนโลกออนไลน์ที่มีหลากหลายประเภท พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และมีแผนที่จะเปิดตัวเฟสต่อไปของแคมเปญ #StayingSafeOnline ซึ่งจะยังคงร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศและร่วมสร้างสรรค์ชุดเนื้อหาเอ็ดดูเทนเมนต์เพื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ ร่วมกับครีเอเตอร์ชาวไทย

   เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
นอกจากแคมเปญใหม่ อิงยอมรับว่า Meta กำลังศึกษา พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ฝ2565 หรือกฎหมาย Digital Platform ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมองว่าบริษัทยังมีเวลาศึกษาถึงเดือน พ.ย.66 เพื่อประเมินว่าการดำเนินการนี้จะช่วยลดปัญหาได้อย่างไรบ้าง

เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึง พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์ม ว่ามีวัตถุประสงค์ให้แพลตฟอร์มเข้ามาจดแจ้งให้ข้อมูลกับภาครัฐ โดยย้ำว่าเป็นการให้ข้อมูลพื้นฐาน ไม่ใช่การขึ้นทะเบียน และต้องการให้แพลตฟอร์มสามารถดูแลตัวเองเพื่อดูแลลูกค้าได้ดีโดยไม่มีการเอาเปรียบผู้ใช้งาน โดยอาจจะมีการรายงาน ลงโทษ หรือตักเตือนด้วยเจตนาเพื่อให้เกิดบริการที่ดี เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นบนเทคโนโลยีทีดี

"พ.ร.ฎ.จะทำให้ทุกส่วนทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่อะลุ่มอะล่วย แต่ทำให้ดีขึ้น จะทำให้เห็นข้อมูลบางอย่างได้เร็วขึ้น อาจจะมีการบอกให้แก้อัลกอริธึมจะได้ทันภัยใหม่" เนื้อหาของ พ.ร.ฎ.นี้จะกำหนดให้แพลตฟอร์มต้องรายงานความเสี่ยงทุกปี โดยต้องรายงานว่าได้ดำเนินมาตรการใดแล้วบ้าง เพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น หรือมีคุณสมบัติใหม่ที่อำนวยความสะดวกมากขึ้น 

เบื้องต้น รองปลัดกระทรวงดีอี ยกตัวอย่างเพจที่ปลอมเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีการนำเอาภาพเตือนภัยออนไลน์มาลง แต่เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่าเป็นโฆษณาที่ไม่ได้มาจากหน่วยงานนั้นจริง ปัญหานี้จะเบาบางลงได้หากแพลตฟอร์มเข้ามาจดแจ้งตามที่ พ.ร.ฎ.กำหนด ว่าจะแก้ไขอย่างไร อาจมีการปรับอัลกอริธึม หรือดำเนินการด้านอื่น เช่น บลูติ๊กเพื่อให้รู้ว่าเป็นโฆษณาปลอม เพื่อไม่ให้เกิดการหลอกให้เชื่อด้วยการส่งข้อความโดยตรงหรือไดเร็กแมสเสจ และดึงเหยื่อออกไปนอกห้องสนทนาบนแพลตฟอร์ม

***ดีอีพอใจปิดโพสต์ปลอมได้เร็วขึ้น

เวทางค์ ให้ข้อมูลว่ากระทรวงสามารถปิดกั้นเว็บเพจที่เห็นชัดว่าเป็นกลโกงได้มากขึ้น จากเดิมที่ปิดกั้นได้ราว 50 รายการต่อวัน คิดเป็นราว 1,500 โพสต์ต่อเดือน แต่ปัจจุบันสามารถปิดกั้นได้นับหมื่นโพสต์ต่อเดือน ทั้งหมดเป็นผลจากการใช้อัลกอริธึม ทำให้ปิดกั้นได้เร็วขึ้น รวมถึงการประสานข้อมูลต้นตอของผู้ซื้อโฆษณาที่ได้รับการตอบสนองที่ดีเรื่องข้อมูลจาก Meta

"นอกจากการปิดเว็บ ตอนนี้เรามีกฎหมายตัดตอน จัดการซิมม้า บัญชีม้า เมื่อได้รับเบาะแสหรือเห็นสิ่งที่ต้องสงสัย ก็สามารถระงับชั่วคราวได้ เป็นการป้องกัน ตัดตอนและหยุดภัยได้เป็นการชั่วคราว" เวทางค์กล่าว "และที่เป็นหัวใจ เป็นการบูรณาการจริงๆ ทั้งข้อมูลและการดำเนินการ คือ 1441 เป็นศูนย์ให้ประชาชนมีบริการครบวงจร แจ้งเรื่องและอายัดธนาคารได้โดยมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องอยู่ในที่เดียวกัน"

พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการ กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ที่สุดแล้ว เวทางค์กล่าวตรงกับ พ.ต.อ.เจษฎา ว่าความท้าทายเรื่องภัยออนไลน์ในวันนี้ คือการที่คนมีความรู้ไม่กี่คนสามารถใช้ช่องโหว่สร้างความเสียหายให้คนจำนวนมากได้ ดังนั้นจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการเลียนแบบ 

"อาชญากรที่ได้กำไรจากการทำงานแบบนี้ มักจะทิ้งร่องรอยไว้ สุดท้ายก็โดนจับ อาจรวยเร็ว แต่ต้องรับผลที่ตามมา" พ.ต.อ.เจษฎา กล่าว "การสอบสวนที่ช้า หลักๆ คือเพราะรับข้อมูลจากหน่วยงานหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง วันนี้กระบวนการที่ทำกันมาเดิมๆ ไม่สามารถรอได้อีกแล้ว ต้องร่วมมือมากขึ้น จริงๆ ไม่ต้องรอให้เกิดคดี แต่ถ้าเกิดแล้ว ก็ควรจะทำให้รวมข้อมูลได้เร็วขึ้น ถือเป็นอีกความท้าทายนั่นคือการที่เกิดคดีขึ้นแล้วประชาชนรู้สึกไม่ได้รับการคุ้มครอง" 

พ.ต.อ.เจษฎา กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้จะมีนวัตกรรมจากภาครัฐเพิ่มเติม และมีกลไกช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว แต่ประชาชนต้องช่วยกัน 

"ต้องมีสติ อย่าโลภ อย่ากลัว พยายามอย่าซื้อของที่จ่ายเงินปลายทาง และหาแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ ที่สามารถคืนสินค้าได้ เพราะการโอนเงินเข้าบัญชีม้า จะไม่ได้รับความคุ้มครอง อันนี้ตำรวจพูดมากไม่ได้ จะเหมือนเราไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ควรทำ แต่เราอยากให้คดีมันน้อย และทุกคนต้องช่วยกัน" 

เมื่อทุกคนช่วยกัน ก็จะผ่าทางตัน "โพสต์หลอกลวง" ที่ระบาดบนโซเชียลได้แน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น