xs
xsm
sm
md
lg

Whoscall เตือนภัย AI ปลอมเสียง หลังหลอกลวงทั่วโลกพุ่ง 10.2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โกโกล็อค (Gogolook) ต้นสังกัดแอปพลิเคชันฮูสคอลล์ (Whoscall) เตือนภัยมิจฉาชีพในประเทศไทยเริ่มใช้วิธีหลอกลวงใหม่ด้วยเทคโนโลยี AI ปลอมเสียง พบการฉ้อโกงทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10.2% เบ็ดเสร็จสูญเสียทางการเงิน 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

น.ส.ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook กล่าวเน้นความสำคัญของการป้องกัน การฉ้อโกงและความมุ่งมั่นในการให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ Whoscall ในประเทศไทย ว่า Gogolook ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก GASA (The Global Anti-Scam Alliance) เพื่อต่อสู้กับภัยการหลอกลวงระหว่างประเทศ เนื่องจากกลโกงใหม่ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี Generative AI ในปัจจุบัน

"เมื่อเทคโนโลยีการฉ้อโกงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทาง Gogolook มุ่งมั่นที่จะสร้างชุมชน ป้องกันการฉ้อโกงและสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการ Whoscall พร้อมกับการร่วมมือกับ GASA เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภูมิภาคและการร่วมมือทางเทคโนโลยี และสร้างสรรค์โซลูชันป้องกันการฉ้อโกงระดับโลก เพื่อปกป้องผู้ใช้จากอันตรายที่กำลังเพิ่มขึ้นจากการหลอกลวงด้วยเทคโนโลยีเสียงหรือการหลอกลวง โดยใช้ Generative AI"

ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง Gogolook หวังว่าความร่วมมือกับ GASA จะช่วยส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการหลอกลวงในระดับภูมิภาคและวงการต่างๆ อีกทั้งยกระดับการป้องกันการฉ้อโกงระดับโลกและเชื่อมเครือข่ายชุมชนการป้องกันการฉ้อโกงในภูมิภาคเอเชียและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน

สำหรับการหลอกลวงทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ รายงานการหลอกลวงทั่วโลกปี 2566 ของ GASA พบว่าการฉ้อโกงทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (2566) เกิดความสูญเสียทางการเงินสูงถึง 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ generative AI (เช่น ChatGPT และ DeepFake เป็นต้น) ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วและถูกนำไปใช้หลอกลวงในหลายพื้นที่ ในอนาคตการหลอกลวงจะพัฒนาต่อไปอย่างรวดเร็ว โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลดลง เมื่อรวมกับการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลบ่อยครั้ง ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องลงทุนและร่วมกันวางกลยุทธ์เพื่อป้องกันภัยจากการฉ้อโกงที่เกิดขึ้น

ปัจจุบัน จำนวนเคสการหลอกลวงโดยใช้ AI ปลอมเสียงกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก เนื่องจากมิจฉาชีพเริ่มใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเลียนแบบเสียงคนคุ้นเคย เพื่อนหรือครอบครัว เพื่อทำให้เหยื่อเชื่อและหลงกลในที่สุด

"มิจฉาชีพใช้เทคโนโลยีโคลนนิ่งเพื่อวิเคราะห์เสียงที่ถูกบันทึกไว้หรือเสียงที่ได้จากออนไลน์เพื่อสร้างเสียงสังเคราะห์ที่ใกล้เคียง กับเสียงบุคคลเป้าหมาย เมื่อทำสำเร็จจะโทร.หาเหยื่อเพื่อปลอมเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ตัว บ่อยครั้งที่ผู้โทร.อ้างว่าอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เกิดอุบัติเหตุ ต้องการให้โอนเงินช่วยเหลือโดยด่วน หรือมีปัญหาทางกฎหมาย เพื่อบีบคั้นและเร่งให้เหยื่อทำบางอย่างโดยไม่ทันตรวจสอบว่าผู้โทร.เข้าเป็นคนที่คิดไว้จริงหรือไม่" ต้นสังกัด Whoscall ระบุ

สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีปลอมเสียงเพื่อหลอกหลวงนั้นเริ่มคืบคลานเข้ามา และหลายฝ่ายเริ่มส่งสัญญาณเตือน เมื่อเร็วๆ นี้ แผนกดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ได้เตือนว่าขณะนี้มิจฉาชีพเริ่มใช้ AI เพื่อปลอมเสียง สร้างแชตปลอม และคลิปปลอม ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวเตือนมิจฉาชีพใช้วิธี “ปลอมเสียง” เป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน ซึ่งเป็นการพัฒนาวิธีการหลอกลวงของคนร้าย

ในภาพรวม Gogolook ได้กระตุ้นให้คนไทยป้องกันตัวเองจากการปลอมเสียงด้วย AI โดยระวังสายโทร.เข้าที่ไม่พึงประสงค์ โดยแม้ว่าจะรู้สึกคุ้นเคยกับเสียงที่โทร.เข้ามาก็ตาม สิ่งสำคัญคืออย่ารีบทำตามสิ่งที่ปลายสายเร่งให้ทำ ควรเช็กตัวตนที่แท้จริงของผู้โทร. ให้แน่ใจก่อนที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวหรือดำเนินการใดๆ

นอกจากนี้ การที่จะช่วยยืนยันตัวตนของผู้โทร.คือ ติดต่อกลับโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่เราเคยบันทึกไว้ โทร.หาคนใกล้ตัวเพื่อตรวจสอบ

Jackie Cheng (ขวา) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธาน Gogolook และ Jorij Abraham (ซ้าย) ผู้จัดการทั่วไป Global Anti-Scam Alliance ถ่ายภาพร่วมกันในโอกาสเข้าร่วมพันธมิตร GASA
ในอีกด้านไม่ควรเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือข้อมูลทางการเงินจนกว่าจะระบุตัวตนของผู้โทร.ที่แท้จริง นอกจากนี้ การดาวน์โหลดแอป Whoscall เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเพื่อช่วยระบุหมายเลขโทร.เข้าได้

ที่สำคัญคือควรระมัดระวังหากมีการขอให้โอนเงินหรือขอความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเฉพาะหากเป็นวิธีชำระเงินที่ผิดปกติ ไม่โอนเงินไปหาบุคคลที่กล่าวถึงโดยตรง หรือผู้โทร.พยายามกดดันให้ดำเนินการทันที

ด้าน GASA (Global Anti-Scam Alliance) ถือเป็นองค์กรต่อต้านการฉ้อโกงระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่มีชื่อเสียงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ก่อตั้ง GASA มีอิทธิพลอย่างมากต่อภาครัฐและเอกชน โดยมีภารกิจในการกระตุ้นให้ทั่วโลกรับรู้เกี่ยวกับการหลอกลวง และส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันการป้องกันการหลอกลวง จัดฝึกอบรมและให้การศึกษาอย่างจริงจัง สมาชิกปัจจุบันประกอบด้วย Trend Micro บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านความปลอดภัยข้อมูล EuroDNS บริษัทจดทะเบียนชื่อโดเมน APWG คณะทำงานต่อต้านภัยฟิชชิ่ง CyberTrace หน่วยงานสืบสวนทางไซเบอร์ และองค์กรอื่นๆ อีกมาก

Jorij Abraham ผู้จัดการทั่วไปของ GASA แสดงความยินดีที่ Gogolook ได้ช่วยส่งเสริมบทบาทของ GASA ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้างความเข้มแข็งการป้องกันการหลอกลวงในระดับภูมิภาค โดยกล่าวว่า Gogolook มีบทบาทสำคัญในการป้องกันการหลอกลวงทั่วเอเชียมาเป็นเวลาหลายปี สั่งสมประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ในการพัฒนาและส่งเสริมโซลูชันป้องกันการหลอกลวง และได้รับความร่วมมือกับรัฐบาลหลายประเทศ นอกจากนี้ บริการต่อต้านการหลอกลวงที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ดึงดูดความสนใจของตลาดยุโรปและอเมริกา จึงเหมาะที่จะเป็นพันธมิตรของ GASA เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือต่อต้านการหลอกลวงในเอเชีย

"เรากำลังเผชิญหน้ากับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ generative AI ขณะที่รูปแบบการหลอกลวงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและมีความรุนแรงมากขึ้น เราหวังว่าความร่วมมือระหว่าง GASA และ Gogolook จะส่งเสริมประสบการณ์ต่อต้านการหลอกลวงของเอเชียไปยังยุโรป และสหรัฐอเมริกาเพื่อพัฒนาแนวคิดของนวัตกรรมที่ทันสมัยต่อไป! เรายินดีเป็นอย่างมากที่เห็นองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับปัญหาการหลอกลวง และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเราเพิ่มขึ้น”

ดังนั้น Gogolook และ GASA จึงร่วมเป็นผู้สนับสนุนการประชุมสุดยอดการป้องกันการหลอกลวงครั้งแรกของเอเชีย จะจัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยการประชุม Global Anti Scam Summit มีกำหนดจัดครั้งแรกในเอเชียที่ไต้หวันช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อเป้าหมายที่จะสร้างระบบป้องกันการฉ้อโกงระดับโลก โดยจะเชิญรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลในเอเชีย หน่วยงานต่อต้านการฉ้อโกงและเทคโนโลยี AI และสมาชิกในวงการรักษาความปลอดภัยข้อมูล เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการหลอกลวงล่าสุด และหารือเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้เทคนิคกลโกงที่เกิดขึ้นใหม่จากการใช้ generative AI การหลอกลวงแบบฟิชชิงข้อความหลอกลวง


กำลังโหลดความคิดเห็น