xs
xsm
sm
md
lg

ฟูจิตสึ-เฮกซากอนเขย่าวงการดิจิทัลทวิน จัดการภัยบนถนน-คาดการณ์ภัยพิบัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เฮกซากอน (Hexagon) ผนึกฟูจิตสึ ลิมิเต็ด (Fujitsu) ประกาศความร่วมมือพัฒนาแอปพลิเคชันดิจิทัลทวิน (digital twin) จำลองวัตถุเสมือนจากวัตถุจริงเพื่อใช้คาดการณ์และบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติและอุบัติเหตุบนท้องถนน ยืนยันโซลูชันสะท้อนถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของ 2 บริษัทในการหาแนวทางปกป้องและฟื้นฟูเมืองจากภัยพิบัติ ผ่านความร่วมมือทางธุรกิจตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2565

นายมลาเดน สโตจิก ประธานดูแลภาครัฐ การคมนาคมขนส่ง การป้องกันประเทศ และการรักษาความปลอดภัย ของฝ่ายความปลอดภัย โครงสร้างระบบ และพิกัดตำแหน่งภูมิศาสตร์ของเฮกซากอน กล่าวว่า ความร่วมมือกับฟูจิตสึให้ประโยชน์แก่เมืองต่างๆ ตลอดมา โดยเฮกซากอนภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับฟูจิตสึในการมอบเครื่องมือที่ใช้กำหนดทิศทางในอนาคตให้แก่เมืองต่างๆ

"การติดตามและบรรเทาปัจจัยที่สร้างปัญหาต่อสังคมภายใต้ความร่วมมือของเรา ทั้งเรื่องมลพิษ การจราจรที่คับคั่ง ไปจนถึงปัญหาอุทกภัย จะช่วยให้ชุมชนเมืองมีความยั่งยืนและน่าอยู่ยิ่งขึ้น"

เฮกซากอนนั้นมีดีกรีเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันระบบดิจิทัลเสมือนจริง ที่ผสานเทคโนโลยีด้านเซ็นเซอร์ ซอฟต์แวร์ และระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน ขณะที่ฟูจิตสึเป็นบริษัทไอทีที่มีเป้าหมายเป็นพาร์ตเนอร์ด้านการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน โดยทั้ง 2 บริษัทได้ร่วมกันพัฒนาโมเดลการคาดการณ์เพื่อบรรเทาภัยพิบัติโดยอาศัยการคำนวณขอบเขตและผลกระทบจากอุทกภัยโดยใช้ข้อมูลหยาดน้ำฟ้า สร้างภาพขอบเขตปัญหาอุทกภัย และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคาดการณ์ความเสียหาย เพื่อให้เมืองต่างๆ สามารถจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆ

กรณีการใช้งานที่ 1: การปกป้องเมืองและภูมิภาคจากภัยธรรมชาติ ในภาพคือตัวอย่างภาพจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติโดยการพยากรณ์อุทกภัยล่วงหน้า
สำหรับความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้ง 2 บริษัทได้มุ่งเป้าไปที่แอปพลิเคชันที่ใช้วิเคราะห์จุดเสี่ยงจากการจราจรที่คับคั่งและปัญหาการออกแบบถนนซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไข แอปพลิเคชันดังกล่าวจะช่วยให้หน่วยงานผังเมืองและฝ่ายดูแลท้องถนนสามารถพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

"ฟูจิตสึและเฮกซากอนจะเดินหน้าทดสอบในพื้นที่จริงกับลูกค้าฝ่ายบริหาร เทศบาล และภาคคมนาคมขนส่ง เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจด้านการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมือง ภายใต้เป้าหมายในการจัดทำโซลูชันให้ครอบคลุมทั่วโลกภายในปีงบการเงิน 2566 ซึ่งสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2567"

ทั้งนี้ 2 ยูสเคส หรือกรณีการใช้งานนั้นประกอบด้วยการปกป้องเมืองและภูมิภาคจากภัยธรรมชาติ โดยข้อมูลพิกัดตำแหน่งและภาพบนพื้นที่ต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ การคมนาคมขนส่ง พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ล้วนมีความสำคัญต่อการปกป้องผู้คนและโครงสร้างทางสังคมจากภัยคุกคาม ทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติและอันตรายในด้านอื่นๆ

(ตัวอย่าง) การรายงานจำนวนอาคารสถานที่และผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และการเสนอมาตรการรับมือ
ในโลกยุคที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ทุกเวลา การใช้แพลตฟอร์มระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบบริการ (Computing as a Service - CaaS) ที่มอบบริการที่ใช้งานง่ายและทรงพลังภายใต้ระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีซอฟต์แวร์สุดล้ำของฟูจิตสึ ควบคู่กับ M.App Enterprise จากเฮกซากอน ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ให้พิกัดตำแหน่งภูมิศาสตร์แบบเรียลไทม์ ทำให้ทั้ง 2 บริษัทสามารถนำเสนอเทคโนโลยี 'การเตรียมความพร้อมทางดิจิทัล' เพื่อวิเคราะห์และตรวจสอบภัยพิบัติ โดยสามารถยกระดับการรับมือภัยต่างๆ ล่วงหน้าได้บนแบบจำลองวัตถุเสมือนจากวัตถุจริงหรือดิจิทัลทวิน ซึ่งจำลองสภาพแวดล้อมของโลกจริงได้อย่างละเอียดสมจริง

"โซลูชันที่ทำงานผสานกันดังกล่าวใช้โมเดลการพยากรณ์อุทกภัยและข้อมูลหยาดน้ำฟ้าเพื่อใช้ในการคำนวณและสร้างภาพอุทกภัยที่ซับซ้อน ตลอดจนจัดการกับปัญหาความท้าทายและกรณีการใช้งานในด้านอื่นๆ ทั้งด้านการแพทย์ การเงิน ภาคสาธารณะ และอุตสาหกรรมการกระจายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างแผนรับมือภัยพิบัติ และการประเมินมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยจัดการเรื่องเส้นทางอพยพที่ปลอดภัยและช่วยปกป้องโครงสร้างพื้นฐานในกรณีที่เกิดสภาพอากาศผิดปกติและภัยธรรมชาติ โดยอาศัยเซ็นเซอร์ IoT ที่ติดตามสภาพอากาศและบริการพยากรณ์อากาศในการตรวจสอบอุณหภูมิและปริมาณฝน"

สำหรับอีกยูสเคสคือการบรรเทาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยจากรายงานการศึกษาเมื่อปี 2565 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนทำให้ประชากรกว่า 50 ล้านคนได้รับบาดเจ็บรุนแรง และอีก 1.35 ล้านคนถึงขั้นเสียชีวิต อุบัติเหตุจำนวนมากเกิดขึ้นเพราะการใช้ความเร็วเกินกำหนด ป้ายสัญญาณจราจรที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากสภาพถนน ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีการสร้างภาพจำลองการเกิดอุบัติเหตุที่พบบ่อย วิเคราะห์ต้นตอปัญหา และนำเสนอแนวทางแก้ไข

(ตัวอย่าง) ภาพจำลองและการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนน
ทั้งคู่ได้นำ M.App Enterprise ที่เป็นเครื่องมือสร้างภาพจำลองตามพิกัดตำแหน่งภูมิศาสตร์จากเฮกซากอนมาทำงานร่วมกับบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานของฟูจิตสึ จนกลายเป็นแอปพลิเคชันที่ให้ภาพจำลองพื้นที่ซึ่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สามารถวิเคราะห์ความคับคั่งของการจราจร การออกแบบถนน ป้ายจราจร ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ และยังสามารถให้คำแนะนำในการลดอุบัติเหตุโดยอ้างอิงตามชุดเครื่องมือความปลอดภัยบนท้องถนนของ International Road Assessment Program (iRAP) ได้ด้วย

ฟูจิตสึและเฮกซากอนยกตัวอย่างในจุดที่การจราจรไม่หนาแน่นแต่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ว่าจะสามารถตรวจวัดปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง ทั้งการควบคุมความเร็วในการขับขี่ การติดตั้งป้ายสัญญาณจราจร และการแยกช่องทางการสัญจรระหว่างคนเดินเท้าและรถยนต์โดยใช้ราวกั้น จากนั้นจึงนำเสนอเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่คุ้มค่า ข้อเสนอเหล่านี้เหมาะสำหรับนักผังเมือง ฝ่ายดูแลท้องถนน หน่วยงานรัฐในพื้นที่ และบริษัทที่ปรึกษา เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและสร้างชุมชนที่มั่นคงปลอดภัยได้ในที่สุด

โยชินามิ ทาคาฮาชิ รองประธานบริหารอาวุโส หัวหน้าฝ่ายโซลูชันธุรกิจระดับโลกของฟูจิตสึ ลิมิเต็ด กล่าวทิ้งท้ายถึงความยินดีที่ได้แถลงความคืบหน้าในการร่วมมือกับเฮกซากอน ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญสู่สังคมที่วางใจได้ตามหลักการของ Fujitsu Uvance ของฟูจิตสึ

"บริการนี้มุ่งส่งเสริม "การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน" ในระดับโลก โดยผสานจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัทเพื่อจัดการกับปัญหาสังคมที่ซับซ้อนและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการที่มีอยู่เดิม"


กำลังโหลดความคิดเห็น